ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้กรณีครูทำร้ายร่างกายนักเรียนถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน นักเรียนสามารถฟ้องร้องเอาความได้ และย้ำคนทุกคนไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายใครทั้งนั้น

มนทนา ดวงประภา เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวอาจารย์ในบางโรงเรียนทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนในโรงเรียนของตนไม่ว่าจะเป็นการกระชากป้ายผ้ารณรงค์ของนักเรียน หรือแม้แต่ทำร้ายร่างกายนักเรียนด้วยการตบหัวเด็กนั้น เข้าข่ายความผิดการทำร้ายร่างกายที่ไม่ถึงขั้นอันตราย ในมาตรา 391 ในประมวลกฎหมายอาญา โดยลักษณะของกฎหมายอาญาคือเป็นอาญาแผ่นดิน คือไม่สามารถเลิกหรือจบความกันไปแค่เพียงการขอโทษเท่านั้น แต่จะจบก็ต่อเมื่อครูไปชำระค่าปรับกับเจ้าพนักงานสอบสวน 

โดย "มาตรา 391 ของประมวลกฎหมายอาญา ระบุไว้ว่า ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิด 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

อีกทั้งยังมีลักษณะของครูอีกเช่น การใช้วิธีตัดคะแนนรายวิชาเรียนกับเด็กนักเรียน หรือข่มขู่ในลักษณะอื่นๆ ในระหว่างที่เด็กนักเรียนกำลังทำกิจกรรมอยู่ มีความผิดมาตรา 392 เป็นความผิดว่าบุคคลหนึ่งไปขู่ให้อีกคนหนึ่งเกิดความกลัวหรือความตกใจ ซึ่งถือเป็นประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน จะเลิกแล้วต่อกันได้ก็ต้องชำระค่าปรับให้เรียบร้อย

ทั้งนี้ "มาตรา 392 ระบุไว้ว่า ผู้ใดทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัว หรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

ซึ่งถ้าเด็กนักเรียนต้องการเอาผิดครูสามารถทำได้ ด้วยการไปฟ้องร้องดำเนินคดีที่สถานีตำรวจ ที่สำคัญคือไม่สามารถยอมความได้ เนื่องจากเป็นอาญาแผ่นดิน

มนทนา กล่าวย้ำด้วยว่า บุคคลทุกคนไม่มีสิทธิที่จะมาทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ไม่ว่าบุคคลคนนั้นจะเป็นครูก็ตาม ยิ่งถ้าเป็นครูยิ่งไม่มีสิทธิไปทำร้ายร่างกายนักเรียน เพราะว่าการลงโทษเด็กไม่ได้บอกให้ทำร้ายร่างกายกันได้ โดยระดับการลงโทษของนักเรียนมี 4 ระดับ คือ การว่ากล่าวตักเตือน การทำทัณฑ์บน การตัดคะแนนความประพฤติ และการทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 

ทั้งนี้ ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2543 ได้ปรับปรุงระเบียบการลงโทษใหม่ให้เหมาะสม โดยข้อ 4 ของระเบียบนี้ระบุว่า โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 5 สถาน คือ การว่ากล่าวตักเตือน, การให้ทำกิจกรรม, การทำทัณฑ์บน, การให้พักการเรียน, ให้ออกจากการเรียน แต่ไม่มีข้อไหนระบุว่า ให้อาจารย์ผู้สอนลงโทษทางร่างกายกับเด็กนักเรียนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง