นางสาวศิริภา อินทวิเชียร อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยถึงการเดินทางไปร่วมสังเกตการณ์การเลือกครั้งสำคัญของประเทศอินโดนีเซียที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 เมษายน 2562 ตามคำเชิญของสภาเสรีภาพและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (Council of Asian Liberals and Democrats) พร้อมตัวแทนพรรคการเมืองหลายพรรคการเมืองในเอเชีย และได้เข้าเยี่ยมพรรคการเมืองที่ยึดมั่นบนหลักเสรีประชาธิปไตยอย่างพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (PDIP) พรรคพรรคพีเคบี (the National Awakening Party (PKB)) เป็นต้น เพื่อพูดคุยถึงการเลือกตั้ง และความท้าทายที่แต่ละพรรคการเมืองต้องเผชิญในการเลือกตั้งครั้งนี้ รวมไปถึงพบปะกับองค์การนอกภาครัฐที่ส่งเสริมประชาธิปไตยถึงแนวทางการปฏิบัติงานของ และกลุ่มต่อต้าน Fake News
นางสาวศิริภา ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีทั่วๆ ไปของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา, ประธานาธิบดี และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ภายในวันเดียวกัน โดยประชาชนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมากกว่า 193 ล้านคนจะต้องลงคะแนนเลือกตั้งบนบัตรลงคะแนนถึง 5 ใบในคราวเดียวกัน โดยมีผู้ลงสมัครแข่งขันรับเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆมากถึง 245,000 คน เพื่อชิงเก้าอี้ ประธานาธิบดี สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 136 ที่นั่ง สมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 575 ที่นั่ง สมาชิกสภาจังหวัด 2,207 ที่นั่งใน 34 จังหวัด และสมาชิกรัฐบาลท้องถิ่นอีกกว่า 27,610 ที่นั่ง
สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ผู้ชนะการเลือกตั้งจะต้องได้รับคะแนนเกินกว่าครึ่ง และชนะอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละจังหวัด (ครึ่งหนึ่งของจังหวัดทั้งหมดที่มี) หากมีคะแนนไม่ถึงครึ่งจะต้องทำการเลือกในรอบที่สอง โดยการแข่งขันรอบที่สองจะเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 อันดับแรกทีได้รับคะแนนสูงสุดเท่านั้น การเสนอชื่อผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จะต้องได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ สามารถร่วมกับพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งในการเสนอชื่อ หรือเป็นพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ส.ส. อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์
เหตุผลที่มีกติกาแบบนี้ เพราะ รัฐสภาของอินโดนีเซียไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ พรรคที่ใหญ่ที่สุดมีที่นั่งต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ผู้สมัครส่วนใหญ่รวมทีมกันเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนในการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบ โดยประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะได้รับเลือกคู่กัน และมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปี
การแข่งขันประธานาธิบดีในครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างประธานาธิบดีโจโก วิโดโด และนายปราโบโว ซูเบียนโต อดีตนายพลของกองทัพ ซึ่งทั้งคู่เคยแข่งขันกันในการเลือกตั้งปี 2557 มาแล้ว โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ลงสมัครในนามตัวแทนผู้สมัครของพรรคประชาธิปไตยอินโดนีเซีย-การต่อสู้ (พีดีไอ-พี) คู่กับนายมารุฟ อามิน ผู้ชิงในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ประธานคนปัจจุบันของสภาอูลามาอ์ (เอ็มยูไอ) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญทางศาสนา���ิสลาม และ นายปราโบโว ซูเบียนโต จากพรรคขบวนการอินโดนีเซียยิ่งใหญ่ (เกอรินทรา) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้าน ลงสมัครชิงตำแหน่งคู่กับนายซันเดียกา ยูโน อดีตรองผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ที่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ที่มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 5 ปีเช่นกันนั้น ใช้ระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อแบบเปิด (Open List Proportional) ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนให้กับพรรคและลงคะแนนให้กับตัวบุคคล แต่บุคคลและพรรคจะต้องมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน โดยในแต่ละเขตจะมีจำนวนที่นั่งมากกว่าหนึ่งที่นั่ง และแต่ละพรรคการเมืองจะส่งรายชื่อผู้สมัครในแต่ละเขต โดยคำนวนสัดส่วนจำนวนที่นั่งที่แต่ละพรรคจะมีในเขตแต่ละเขต และผู้สมัครคนไหนของพรรคจะได้ที่นั่งต้องขึ้นอยู่กับว่าใครได้คะแนนสูงสุดโดยเรียงตามอันดับ
ยกตัวอย่างเช่น ในเขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวนที่นั่ง 6 ที่นั่ง มีผู้สมัคร 9 พรรคการเมือง แต่ละพรรคจะส่งรายชื่อ 6 รายชื่อ ผลการเลือกตั้งออกมาว่าพรรค ก มีจำนวนที่นั่งที่พึงมี 3 ที่นั่ง โดยผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 คนจาก 6 คนจะได้รับที่นั่งไป นับว่าเป็นระบบที่ความซับซ้อนอยู่มากพอสมควร