เรียกว่านับถอยหลังแล้ว ถอยหลังอีก จน ณ ตอนนี้ 'รถไฟชานเมืองสายสีแดง' ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ดูท่าทีแล้วว่าคงจะยังไม่ได้เปิดใช้ในเร็วๆนี้ เหตุปัญหาการก่อสร้างล่าช้า รวมถึงข้อสรุปใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเดินรถ
นี่เป็นหนึ่งรถไฟฟ้าที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลตั้งตารออย่างมาก เนื่องจากเป็นขนส่งสาธารณะที่เชื่อมการเดินทางจากชานเมือง โดยเฉพาะโซนรังสิต ปทุมธานี ที่มีปัญหาจราจรติดขัด นอกจากนี้ยังมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าอีกหลายสาย ขณะที่สถานีกลางบางซื่อจะเชื่อมต่อทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ในอนาคต
ทั้งนี้ปัญหาที่ดูเหมือนจะติดขัดมากที่สุดตอนนี้ คือ การบริหารจัดการเดินรถ ที่แต่เดิมมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ให้บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เป็นผู้เดินรถ แต่นโยบายของ 'ศักดิ์สยาม ชิดชอบ' รมว.คมนาคม จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ซึ่งรวมส่วนต่อขยายอีก 3 ช่วง ซึ่งนั่นหมายความว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างนั้นอีก 2 ปี เพื่อดำเนินการตามแนวคิดนี้
ประชาชนเสียงแตก รัฐ-เอกชน ได้หมด แต่บริการต้องดีขึ้น
หลายคน บอกว่า ยังคงรอใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ในเชิงที่ว่า “รอได้ก็รอ รอไม่ได้ก็ต้องรอ” แต่ความเห็นส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เพราะมีทั้งเห็นด้วยและไม่ให้เห็นฝ่ายใดต้องเดินรถ
โดย 'จอน พรหมคำ' ระบุว่า ส่วนตัวอยากให้เอกชนมาดำเนินการน่าจะดีที่สุด เพราะเห็นว่าเกิดความสะดวก เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส และเอ็มอาร์ที มีความสะดวกมากกว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ แต่อยากจะให้ควบคุมราคาให้ถูกลงมากกว่านี้
ขณะที่ 'ชวัลลักษณ์ พิมแพง' มองว่า การรถไฟฯ น่าจะเป็นผู้บริหารการเดินรถมากกว่า เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์ทำงานระบบรางมาอยู่แล้วโดยตรง ซึ่งจะทำให้การเปิดบริการไม่ล่าช้าออกไปด้วย
ด้าน 'วัณวลา ชาริดา' ระบุว่า การบริหารจัดการเดินรถมี 2 ประเด็น คือ เอกชนจัดการได้ดีกว่า แต่คุมราคาไม่ได้ แต่หากรัฐเข้ามาบริหารจัดการ ยังไม่เชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีเท่ากับเอกชน อย่างไรก็ตามส่วนตัวจะอยากให้เป็นของรัฐมากกว่าเพราะจะสามารถคุมเรื่องราคาได้ดีกว่า ซึ่งการบริการสามารถปรับภายหลังได้
สหภาพฯรถไฟ ขอโอกาสเดินรถก่อน 5 ปี ไม่เห็นด้วยเอกชนบริหาร หวั่นผูกขาด
'สาวิทย์ แก้วหวาน' ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ย้ำจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการรถชานเมืองสายสีแดง และเรียกร้องให้รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม ทบทวนแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าในแง่ของการให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ จะเกิดปัญหากับประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิ จากปัญหาค่าโดยสารแพง
ซึ่งการนำเอกชนเข้ามาบริหารการเดินรถเสมือนเปิดให้เอกชนกินรวม ชุบมือเปิด ทั้งที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเตรียมเปิดให้บริการแล้ว รวมทั้งที่ผ่านมามีผลศึกษาชัดเจนว่า ค่าบริการรถไฟฟ้าของไทย ที่มีเอกชนบริหารการเดินรถ เป็นค่ารถไฟฟ้าที่สูงที่สุดในโลก และมีตัวอย่างให้เห็นว่า ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเจรจาขอให้ผู้ประกอบการ ลดค่าโดยสารเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชน ก็ทำได้ยากมาก
ทั้งนี้ ยืนยันว่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) มีบุคลากรที่มีความพร้อม ไม่มีเหตุผลที่จะเลื่อนการเปิดบริการออกไปในปี 2566 ดังนั้นเพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการฝึกอบรมและสามารถเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้า รัฐควรให้เพิ่มพันธกิจให้ รฟฟท. เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุง ตามมติ คนร. ซึ่งมั่นใจจะเปิดเดินรถได้ช่วงปลาย 2564 โดยขอโอกาสก่อน 5 ปี หากทำได้ไม่ดีก็ยินดีถอยให้กับเอกชนเข้ามาดำเนินการ
PPP ใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน
อย่างไรก็ตามการเปิด PPP ให้เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม มีหลายหน่วยงานวางไทม์ไลน์คร่าวๆ เช่น กรมการขนส่งทางราง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน ขณะที่การถไฟฯ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการ 43 เดือน
แม้ว่าขณะนี้จะสามารถรับมอบรถไฟฟ้ามาแล้ว 13 ขบวน จาก 25 ขบวน แต่โครงการนี้ดูแล้วโอกาสที่จะได้ใช้บริการในเร็วๆนี้ก็คงยังเป็นไปได้ยาก เพราะยังมีประเด็นอื่นๆที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจจะกระทบการเปิดให้บริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การขอขยายเวลาออกไปอีก 512 วัน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 6 มิ.ย. 2563 เป็นเดือน ต.ค. 2564 โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ซึ่งท้ายที่สุดโครงการนี้จะเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2564 ตามที่การรถไฟฯ คาดหวัง หรือไม่ ก็ยังยากที่จะตอบได้