วันที่ 8 สิงหาคม 2564 ศักดิ์ดา แสนมี่ เลขาธิการสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยประจำปี 2564 ในวันที่ 9 สิงหาคม ว่าเป้าหมายที่สำคัญคือต้องการตกอย้ำเจตนารมณ์ให้มีกฎหมายรองรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด จึงต้องจัดกิจกรรมออนไลน์ โดยจัดกิจกรรมกระจายไปทั้ง 4 ภาค เพื่อเอื้อการมีส่วนร่วม และจะถ่ายทอดสดผ่านทางเพจเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งนำเสนอประเด็นต่างๆ ร่วมกัน รวมถึงการส่งสารและกำลังใจให้พี่น้องชาวบ้านบางกลอยด้วยเพราะเป็นกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนชัดเจนและการไม่ยอมรับความมีตัวตนของชาวบ้าน
ศักดิ์ดากล่าวว่า ปีนี้ประเด็นที่อยากให้เห็นภาพคือความสำคัญที่ต้องมีกฎหมายปกป้องคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งขณะนี้พยายามเสนอกันอย่างน้อย 5 ฉบับ ทั้งของสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่ง สาระสำคัญคือให้รัฐยอมรับการมีตัวตนและส่งเสริมสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนงานของเราเอง ไม่ได้ยึดโยงหน่วยงานรัฐ คล้ายองค์กรวิชาชีพ ทำหน้าที่คู่ขนานกับกลไกของรัฐ โดยเสนอในนามภาคประชาชน ซึ่งมีการสนับสนุนลงชื่อกว่า 1 หมื่นชื่อ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ร่างที่ยื่นให้ประธานรัฐสภาคือของพรรคก้าวไกล และคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนฯ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้คำว่าชนเผ่าพื้นเมืองจะมีปัญหาหรือไม่ เพราะแม้แต่รัฐมนตรีบางรายก็ยังไม่ยอมรับคำนี้เลย
ศักดิ์ดากล่าวว่า ในร่างกฎหมายของแต่ละฉบับใช้คำแตกต่างกันไป โดยมีเฉพาะของเราที่ใช้คำว่าร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง แต่ฉบับอื่นอาจใช้คำว่า ร่างคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมือง บางร่างก็ใช้คำว่ากลุ่มชาติพันธุ์
“รัฐไทยเคยปฏิเสธการมีชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีโลก เขาบอกว่ามีแต่ผู้อพยพ กลายเป็นกำแพงหรือมายาคติ นำไปสู่การไม่ยอมรับอย่างเป็นทางการ ดังนั้นเราจึงพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ในมุมของเราชนเผ่าพื้นเมืองเป็นคำที่เราเรียกตัวเอง ชนเผ่ากับชนพื้นเมือง ชนเผ่านั้นเรียกในเวลาหนึ่ง แต่ชนพื้นเมือง มักจะพูดในลักษณะอยู่ก่อนเป็นประเทศไทย แต่จริงๆ เรามีลักษณะเป็นคนพื้นถิ่นเหมือนกัน ก่อนเป็นรัฐชาติ เรานิยามตัวเองถึงการมีประวัติศาสตร์และไม่ได้เป็นกลุ่มถูกครอบงำทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ กลุ่มที่มีความพยายามอนุรักษ์วิถีของตัวเองจนชั่วลูกชั่วหลาน มีกระบวนการสืบทอด และสุดท้ายต้องเป็นกลุ่มที่อยู่ร่วมกัน รักสันติ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการจัดการตัวเองแบบแบ่งแยกตัวเอง” ศักดิ์ดา กล่าว
ศักดิ์ดากล่าวว่า เราเป็นตัวกำหนดตัวเอง ไม่ใช่ให้รัฐมาชี้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขตามหลักการทางสากล ปัจจุบันมี 43 กลุ่มในประเทศไทยที่ยอมรับกันว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง โดยมีเวทีปรึกษากันมาตลอด แม้บางกลุ่มจะเข้ามาภายหลัง แต่เขาก็เป็นกลุ่มมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีวัฒนธรรมและอยู่สืบต่อไปชั่วลูกหลาน รวมถึงได้รับการยอมรับจากกลุ่มอื่นด้วย
ด้าน ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ หรือ “ชิ สุวิชาน” นักวิชาการและศิลปินปกาเกอะญอ กล่าวว่าช่วงหนึ่งของกิจกรรมจัดงานวันชนเผ่าพื้นเมืองในปีนี้ จะมีรายการให้กำลังใจพี่น้องบางกลอยจากชนเผ่าพื้นเมืองทั่วโลก ทั้งจากชนเผ่าในประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา อินเดียแดง (อเมริกา) และฮาวาย รวมถึงชาวเพชรบุรี ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้อัดคลิปและนำมาถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์
ผศ.ดร.สุวิชาน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้ออกแถลงการณ์ย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยมีชนเผ่าพื้นเมือง โดยในส่วนของชาวกะเหรี่ยงนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานโดยกำเนิดบนผืนดินของบรรพบุรุษ ร่วมกับการสร้างรัฐสยามและชาติไทย ที่ผ่านมาพวกเราใช้ชีวิตอยู่ในผืนดินของเรา ทำมาหากินโดยคำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีระบบการเกษตรธรรมชาติแบบไร่หมุนเวียนของพวกเราคือเส้นเลือดใหญ่แห่งวิถีชีวิต ช่วยผลิตความมั่นคงทางอาหาร และเราได้พิสูจน์ตัวเองให้ประจักษ์แก่สังคมมาอย่างยาวนานว่า พวกเราเป็นชนเผ่าหนึ่งที่มีวิถีอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน การทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมเป็นสิทธิทางวัฒนธรรมของพวกเราชนเผ่าพื้นเมืองชาวกะเหรี่ยง
ผศ.ดร.สุวิชานกล่าวว่า เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบครบรอบ 11 ปี มติ คณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 โดยเรียกร้องให้มีการส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองและสร้างความสันติสุขที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นแก่เผาพันธุ์และวิถีวัฒนธรรมของเราต่อผู้ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
1. ขอให้พี่น้องชาวกะเหรี่ยงในประเทศไทยได้รวมพลังกันยืนหยัดในสิทธิอันชอบธรรมที่ได้ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลและหลักสิทธิมนุษยชนที่ระบุตามรัฐธรรมนูญไทย ในการสืบทอด ต่อยอดคุณค่าวิถีวัฒนธรรมของบรรพชนให้ดำรงอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนขบวนชนเผ่ากะเหรี่ยงที่เป็นเอกภาพผ่านการสมัครเป็นสมาชิกเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับบุคคลและองค์กรเครือข่าย
2. ขอให้รัฐบาลไทยมีกลไกที่เป็นรูปธรรมและทำหน้าที่ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็น "เขตคุ้มครองวัฒนธรรมพิเศษ" รวมทั้งการศึกษาและทำความเข้าใจร่วมกันว่าการทำไร่หมุนเวียนตามวิถีดั้งเดิมเป็นสิทธิทางวัฒนธรรมของพวกเราชาวกะเหรี่ยงที่ต้องได้รับการเคารพ ปกป้องและฟื้นฟู ตามเจตนารมณ์ของ มติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 อย่างจริงจัง
3. ขอให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะกรรมการมรดกโลกในการคุ้มครองสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองกะเหรี่ยงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างเคร่งครัดและรับรองว่าชุมชนพื้นเมืองในเขตผืนป่าแก่งกระจานจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจตามหลักการสากลว่าด้วยการยินยอม (FPIC- Free, Prior and Informed Consent) ในทุกขั้นตอน 4. ขอสนับสนุน การผลักดัน พรบ. ส่งเสริมคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาไทย
-