ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เยาวชนกลุ่ม 24 มิถุนายนประชาธิปไตย จัดกิจกรรม "ล้างจาน :ล้างอยุติธรรม" พร้อมยื่นหนังสือให้รัฐบาลรื้อคดี "บอส อย่วิทยา" ขึ้นมาใหม่ และเอาผิดอัยการ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ใช้จานเป็นตัวแทนความอัปรีย์จัญไร โดยมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาร่วมสังเกตการณ์และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย มาร่วมยื่นหนังสือถึงรัฐบาลด้วย
ตัวแทนเยาวชนซึ่งใช้นามปากกา "นรินทร์" ระบุว่า มาแสดงให้เห็นว่าเยาวชนสามารถทำสองอย่างทั้ง ล้างจานและแสดงออกทางการเมืองได้ โดยใช้จาน 4 ใบแทนสัญลักษณ์ ที่ต้องชำระล้างออกไปจากสังคมไทยโดยเขียนข้อความระบุประกอบด้วย
- จานใบแรก แทนสัญลักษณ์กรณีบอส อยู่วิทยาหลุดคดี
- จานใบที่ 2 แทน "งบทหาร" ระบุข้อความ "ผลาญภาษี หยุดซื้ออาวุธ" ไว้ด้วย
- จานใบที่ 3 แทน เศรษฐกิจปากท้องของประชาชน คนตกงานและที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาโควิด -19
- จานใบที่ 4 เป็นรูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งทางกลุ่มระบุว่า ถือเป็นเสนียดจัญไรมากที่สุด
โดยตัวแทนกลุ่มพยายามล้างจานรูปพล.อ.ประยุทธ์ แต่ล้างไม่ออก สื่อถึง "ความหน้าด้าน" จึงทำการทุกจาน ซึ่งเป็นจานกระเบื้องให้แตก
น.ส.อาทิตยา พรพรม แกนนำเยาวชน ระบุว่า วันนี้ต้องการสื่อว่า เยาวชนต้องการมาล้างความอัปรีย์จัญไร และที่ได้แผลจากการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งตนคาดไว้อยู่แล้วว่า หากเป็นผู้ที่ถือจานก็อาจจะโดนเศษจานเป็นกระเบื้องบาดมือได้ ซึ่งก็เป็นจริงตามที่คาด และหากถามว่าเจ็บไหม ตอบได้ว่าเจ็บมาก แต่ก็ยังไม่เจ็บเท่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำกับประเทศชาตินี้
นายนรินทร์ กล่าวย้ำว่า ในฐานะเยาวชนคนรุ่นใหม่ล้างจานก็ล้างได้ และกิจกรรมทางการเมืองก็แสดงออกได้ ซึ่งหากไปถึงระดับที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้สักอย่าง เชื่อว่า ประเทศไทยจะมีรัฐสวัสดิการที่ดีพอที่จะซื้อเครื่องล้างจานอัตโนมัติให้ประชาชนทุกหลังคาเรือน โดยไม่ต้องมีใครต้องใช้มือล้างจานอีกเลย
สำหรับหนังสือที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากกรณีปล่อยให้คนรวยหลุดคดีนั้น ทางกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ขอประณามรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำให้เกิดความอยุติธรรมลักษณะนี้ขึ้น ถือเป็นความอัปยศและเน่าเฟะ, บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือต่อกระบวนการยุติธรรม พร้อมเรียกร้องต่อรัฐบาล 4 ข้อคือ
1) ให้รัฐบาล รื้อคดี "บอส อยู่วิทยา" ขึ้นใหม่โดยสามารถใช้หลักฐานเก่าที่ไม่ปรากฏในสำนวนคดีตั้งเป็นหลักฐานใหม่ในการรื้อฟื้นคดีได้ โดยเฉพาะข้อมูลสารเสพติด ที่ถูกถอดออกจากสำนวน
2) ให้รัฐบาลตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของอัยการ ตำรวจ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดี ว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่รับส่วยหรือประพฤติมิชอบ หรือไม่
3) ให้แยกอำนาจสอบสวนออกจากอำนาจสืบสวนจับกุมของตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดระบบ เพราะแบบเดิมมีผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน ทำให้สามารถออกแบบคดีและสำนวนสอบสวนได้ รวมถึงกำหนดความผิดตามกฎหมายไว้สูงสุดหากมีการแทรกแซงคดี นอกจากนี้การสอบสวนคดีต้องมีการบันทึกภาพและเสียงไว้เป็นหลักฐานสำหรับใช้ในชั้นศาลด้วย
4) ให้รัฐบาลเร่งผลักดันกฎหมายปฏิรูปตํารวจและกระบวนการยุติธรรมที่ค้างอยู่ทั้ง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ, ร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา รวมถึงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาปรับแก้และส่งให้รัฐบาลแล้ว เพื่อให้ออกเป็นกฎหมายต่อไป