รายงานเสรีภาพโลกที่จัดทำโดย Freedom House ประจำปี 2022 ถูกเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งสะท้องสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยการประเมินเป็นการสะท้อนภาวะถดถอนทางเสรีภาพของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ผ่านการประเมินอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย
ในรายงานระบุว่า 8 ใน 10 ของประชากรโลกกำลังอาศัยอยู่ในประเทศที่ 'ไม่มีเสรีภาพ' หรือไม่ก็ 'มีเสรีภาพแค่บางส่วน' โดยตัวเลขของกลุ่มประเทศที่มีเสรีภาพเพียงแค่บางส่วนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงปี 2563-2564 ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
นอกจากนั้นยังพบว่า ประชาธิปไตยในปี 2564 มีพัฒนาการน้อยที่สุดในรอบ 16 ปี คือมีเพียง 25 ประเทศเท่านั้นที่มีพัฒนาการทางประชาธิปไตยที่มากขึ้น ขณะที่ตัวเลขของชาติที่ประชาธิปไตยแย่ลงมีสูงถึง 60 ประเทศ
หากมองในภาพกว้างย้อนไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศที่ประสบกับวิกฤต "การถดถอยของเสรีภาพ" หนักที่สุดคือประเทศมาลี ตามมาด้วยสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ตุรเคีย แทนซาเนีย นิการากัว เวเนซูเอลา โดย 'ไทย' อยู่ในอันดับที่ 7 ซึ่งแย่กว่าเยเมนที่อยู่ในอันดับที่ 21 และอัฟกานิสถานที่อันดับ 22
นอกจากนั้นยังพบว่า 'ไทย' ติดอยู่ในรายชื่อ 10 ประเทศที่ "อยู่ในสปอตไลต์" หรือเป็นประเทศที่ "ต้องจับตาเป็นพิเศษ" โดยมีการระบุเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นว่ามาจากการกระทำของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่ง Freedom House ชี้ว่าควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในปี 2565
จากคะแนนเต็ม 100 ไทยได้มาเพียงแค่ 29 คะแนนเท่านั้น โดยการประเมินแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ "สิทธิทางการเมือง" 40 คะแนน และ "เสรีภาพพลเมือง" อีก 60 คะแนน โดยมีการเบ่งเป็นหลายหัวข้อย่อยอย่างละเอียด
ตัวอย่างเช่น "หัวหน้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใสยุติธรรมหรือไม่?" โดยไทยได้คะแนนในข้อนี้ไป 0 เต็ม 4 คะแนน "ฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะได้รับโอกาสที่มีความเป็นไปได้ในการได้รับแรงสนับสนุน หรือได้รับอำนาจจากการเลือกตั้งหรือไม่?" (ได้ 0 เต็ม 4 คะแนน) "รัฐบาลบริหารงานด้วยความเปิดเผยและโปร่งใสหรือไม่?" (ได้ 1 เต็ม 4 คะแนน) เป็นต้น
อ่านรายงานฉบับเต็ม : FREEDOM HOUSE