วันนี้ (11 มกราคม 2568) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ธีม “ร่วมคิด ร่วมสร้าง ร่วมวางอนาคต” พร้อมกล่าวให้โอวาทแก่เด็กและเยาวชน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับชมการแสดงฟ้อนบายศรีหลวงของเด็กและเยาวชนจากบ้านเฟื่องฟ้านนทภูมิ ราชาวดีหญิงและราชาวดีชาย อีกทั้ง ชมการแสดงชุด Under the sea จินตลีลาประกอบเพลงและบทเพลง Part of Your World ขับร้องโดยเด็กหญิง อัยย์ ธรรมวาริน (รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทาน Yamaha music) จากสมาคมเยาวชนจิตอาสาพัฒนา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดงานวันเด็กประจำปี 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า วันเด็กปีนี้ ได้มอบคำขวัญไว้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” เน้นให้เด็กและเยาวชนมองทุกสถานการณ์เป็นโอกาสในการเรียนรู้ และยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวในทุกสถานการณ์เพื่อเติบโตและเลือกทางเดินที่มั่นใจ ขอให้เยาวชนมีสิทธิเลือกอนาคตของตนเอง ชอบอะไรหรือต้องการทำอะไรเพื่อสังคม โดยให้ผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ มีความรู้คอยให้คำปรึกษา ซึ่งจะสามารถให้เยาวชนดำเนินชีวิตได้อย่างมีสติและมีข้อมูลสามารถเลือกอนาคตที่เราชอบต่อไปได้ในอนาคตด้วยคุณค่าที่ตนเองมี
“โอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพนั้นควรเป็นสิทธิของเยาวชนทุกคน รัฐบาลมุ่งมั่นในการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีอัตราการเกิดน้อยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำเนินงานคล้ายกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประสบความสำเร็จแล้ว ในขั้นแรกรัฐบาลจะรื้อฟื้นและออกแบบการให้ทุน ODOS ในรูปแบบใหม่ โดยมุ่งเป้าหมายการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีฐานะยากจนและมีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับมัธยมปลาย ปวช. ปวส. และมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ทุนต่อรุ่นทั่วประเทศ ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลจะเริ่มโครงการ “หนึ่งอำเภอหนึ่งทุนการศึกษาภาคฤดูร้อน” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากทุกอำเภอทั่วประเทศได้เข้าถึงการเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก โดยเชื่อว่า โครงการนี้จะไม่ใช่แค่การส่งเด็ก ๆ ไปเรียนธรรมดา แต่จะเป็นการเปิดโลกให้เด็ก ๆ ได้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ โดยเยาวชนจากระดับมัธยมปลาย ปวช. ปวส. และมหาวิทยาลัย จากทั้ง 878 อำเภอ และ 50 เขตในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 928 พื้นที่ทั่วประเทศ จะได้เข้าร่วมหลักสูตรพิเศษเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็นการเรียนหลักสูตรด้านดิจิทัลในมหาวิทยาลัยและการเรียนรู้ประสบการณ์ในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี สวีเดน ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และอินเดีย สำหรับเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการนี้ รัฐบาลจะเปิดรับสมัครในเดือนมีนาคม - เมษายน และตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องในช่วงปิดเทอมของทุกปี
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มว่า รัฐบาลจะผลักดันนโยบาย “Thailand Zero Dropout” มุ่งเน้นให้เด็กทุกคนได้เรียน ซึ่งนโยบายนี้ได้ริเริ่มโดยอดีตนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ในปีนี้ รัฐบาลจะขยายผลการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาจาก 25 จังหวัดในปี 2567 เป็น 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ในระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ให้มีทางเลือกที่ตอบโจทย์ชีวิต และโอกาสพัฒนาเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อมีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา เพื่อให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
“ทุกคนมีวัยเด็กที่แตกต่างกัน และการเติบโตของเราล้วนได้รับอิทธิพลจากสิ่งรอบตัว เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง คุณครู เพื่อน สังคม และโรงเรียน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ในปัจจุบัน ทุกคนสามารถเป็นปัจจัยที่ดีในการสนับสนุนและสร้างความทรงจำดี ๆ ให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ในฐานะผู้ปกครองเข้าใจในบทบาทของพ่อแม่และครูในยุคปัจจุบัน หากวันใดรู้สึกหลงทางในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ควรย้อนนึกถึงช่วงวัยเด็กของตนเอง เพื่อเข้าใจความคิดและจังหวะของเด็ก ๆ มากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ เด็กจะมีความสุขได้ หากพ่อแม่และคุณครูมีความสุข พวกเขาจะรับรู้ได้ มุ่งให้เด็กเติบโตจากความสุขเป็นสำคัญ ยืนยันว่ารัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเด็กทุกคน โดยหวังว่า วันเด็กปีนี้ที่ทำเนียบรัฐบาลจะสร้างความทรงจำแสนพิเศษให้กับน้อง ๆ ผู้ปกครอง และคุณครู