ไม่พบผลการค้นหา
HelloFresh บริษัทผู้ให้บริการอาหารระดับโลกกล่าวว่า พวกเขาจะไม่ขายกะทิที่ส่งมาจากประเทศไทยอีกต่อไป หลังจากการรณรงค์โดย PETA กลุ่มสิทธิสัตว์ที่กล่าวหาว่า สวนมะพร้าวในประเทศใช้แรงงานลิง ในการเก็บเกี่ยวลูกมะพร้าวบนต้น

ทั้งนี้ HelloFresh กล่าวยืนยันกับสำนักข่าว Axios ว่า บริษัทจะไม่ยอมให้มี “การทารุณกรรมสัตว์ทุกรูปแบบในห่วงโซ่อุปทานของเรา” และ และบริษัทจะใช้ “ความระมัดระวังอย่างยิ่ง” ที่จะไม่สั่งซื้อกะทิจากประเทศไทย

หลายบริษัทหยุดขายผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลังจากการรณรงค์โดยกลุ่ม PETA ซึ่งอ้างว่าตัวเองได้ตรวจสอบสวนมะพร้าวของไทย และพบลิงที่ถูกล่ามโซ่ซึ่งถูกบังคับให้ใช้งาน ด้วยเวลานานหลายชั่วโมงในการปีนต้นไม้และเก็บมะพร้าว โดย PETA กล่าวหาว่า การละเมิดลิงเกิดขึ้น “พล่านไปทั่ว” ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้ปฏิเสธการเรียกร้องของ PETA เกี่ยวกับการละเมิดอย่างกว้างขวางต่อลิง โดยรัฐบาลไทยกล่าวว่า การปฏิบัติแบบดั้งเดิมของการใช้ลิงเพื่อเก็บเกี่ยวมะพร้าว เกือบจะไม่มีอยู่ในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยแล้ว สืบเนื่องจากการเก็บมะพร้าวด้วยลิง ไม่ตอบโจทย์ขนาดทางอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับแรงงานมนุษย์และเครื่องจักร

จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรในปี 2564 ประเทศไทยส่งออกกะทิได้ 236,323 ตัน คิดเป็นเงินมูลค่า 12,800 ล้านบาท ทั้งนี้ ทางการไทยได้เริ่มออกใบรับรองให้กับฟาร์มมะพร้าว เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีการใช้แรงงานลิง เพื่อจัดการกับข้อกังวลเกี่ยวกับการทารุณกรรมสัตว์

วินเซนต์ นิจมาน ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา และหัวหน้ากลุ่มวิจัยการค้าสัตว์ป่าออกซ์ฟอร์ดแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดบรูคส์ ซึ่งทำการวิจัยสวัสดิภาพของลิงกังที่เก็บเกี่ยวมะพร้าวในประเทศไทย กล่าวว่า การใช้แรงงานลิงส่วนใหญ่ จำกัดอยู่ที่ภาคใต้ของประเทศไทย และมีการใช้แรงงานลิงกังเหนือและลิงกังใต้ ทั้งนี้ ลิงกังเหนือถูกจัดอยู่ในบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในขณะที่ลิงกังใต้ถูกจัดอยู่ในบัญชีภาวะใกล้สูญพันธุ์

ในงานศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ที่เขียนโดยนิจมานพบว่า ความต้องการของลิงกังที่เลี้ยงไว้เพื่อเก็บเกี่ยวมะพร้าว เช่น ความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างอิสระและไม่ถูกบังคับ และการหลบซ่อนจากความเครียด แทบไม่ได้รับการตอบสนองในบริบทดังกล่าว โดยนิจมานระบุว่าการใช้แรงงานลิงอาจเกิดขึ้นในฟาร์มเล็กๆ ที่ปลูกมะพร้าวเพื่อการบริโภคในระดับท้องถิ่น แทนที่จะเป็นฟาร์มที่ผลิตมะพร้าวเพื่อการส่งออก

“ปริมาณ (มะพร้าว) ทั้งหมดที่ลิงกังสามารถเก็บได้นั้นมีน้อย แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจากจำนวนมะพร้าวทั้งหมดที่ถูกเก็บ” นิจมานกล่าว “มะพร้าวและผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากฟาร์มที่ใช้งานลิงกัง”

มีการประมาณการเกี่ยวกับจำนวนของลิงกังที่ใช้เก็บมะพร้าวในฟาร์มแตกต่างกันไป โดยบางการประมาณการชี้ว่ามีลิงกังมากถึง 3,000 ตัวที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเก็บมะพร้าว โดยนิจมานกล่าวว่า “เนื่องจากคุณไม่สามารถใช้สัตว์ที่อายุน้อยเกินไปได้ และเมื่อ (พวกมัน) โดยเฉพาะตัวผู้โตเต็มที่ พวกมันจะทำงานด้วยได้ยากขึ้น มีเวลาเพียงไม่กี่ปีที่คุณสามารถทำงานกับลิงกังได้ ” เขากล่าว 

นิจมานกล่าวเสริมอีกว่า เนื่องจากผลประกอบการที่ทำได้ต่ำนี้ มีการคาดว่าจำนวนลิงกังที่ต้องจับออกมาจากป่านั้น มีจำนวนต่ำหลายร้อยตัวในแต่ละปี ทั้งนี้ นิจมานระบุว่าปัจจุบันนี้ ตลาดส่งออกหลักของมะพร้าวไทยคือประเทศจีน

ในการตอบสนองต่อการตัดสินใจของ HelloFresh ที่จะหยุดการจัดหากะทิจากประเทศไทย เจสัน เบเคอร์ รองประธานอาวุโสของ PETA กล่าวว่า "การตัดสินใจของ HelloFresh จะช่วยปกป้องลิงจากการถูกลักพาตัว ล่ามโซ่ และเฆี่ยนในการค้ามะพร้าว HelloFresh กำลังช่วย PETA ผลักดันอุตสาหกรรมมะพร้าวไทยและรัฐบาลให้เลิกใช้และทารุณกรรมลิง”


ที่มา:

https://www.theguardian.com/us-news/2023/mar/07/hellofresh-drops-thai-coconut-milk-after-peta-monkey-labour-campaign?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR10u4ELMf9IxCA7TjlCJ7SO0f62jOS4cLbm1Xq05XeWeze4tEP7rS39H5U