ไม่พบผลการค้นหา
‘วราวุธ’ รมว.พม. เผย ไม่กังวลหลังสมาชิกสภาฯ อภิปรายเรื่อง ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ หวังทำงานเชิงรุก-ดูแลสวัสดิการ-ปกป้องสิทธิ พร้อมขอโทษประชาชน ‘เงินเด็กแรกเกิด’ เข้าช้า เหตุอนุมัติในช่วงรอยต่อรัฐบาล ยันเข้าภายใน 18 ก.ย.

วันที่ 12 ก.ย. ที่อาคารรัฐสภา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในประเด็นเกี่ยวกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ว่า เมื่อวานนี้ (11 ก.ย.) มีเพียงแค่สมาชิกท่านเดียวที่พูดเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ แต่วันนี้น่าจะมีประเด็นเพิ่มเติมอีก ซึ่งข้าราชการกระทรวงก็ได้รอ และประมวลคำถามจากข้อสังเกตของสมาชิกแต่ละท่าน ซึ่งต้องขอบคุณหลายฝ่ายที่ติดต่อเข้ามา ส่วนการทำงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หลังจากนี้ คงจะมีอะไรที่ทำงานเชิงรุกมากขึ้น 

วราวุธ กล่าวถึงการทำงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ หลังจากนี้ว่า ในวันอังคารที่ 19 ก.ย. จะมีการมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการกระทรวง เพราะที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาสังคมฯ มีภารกิจเยอะมาก ไม่ว่าจะเรื่องเด็ก เยาวชน คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ อย่างเช่นเรื่องการเคหะ (ที่อยู่อาศัย) จึงเรียกได้ว่า งานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เข้าถึงประชาชนทุกระดับ 

แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ข้าราชการนั้นประชาชนอาจจะยังไม่รับรู้เท่าที่ควร หลังจากนี้คงทำงานเชิงรุกมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องดูแลสวัสดิการ การปกป้องสิทธิ ท้ายที่สุดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ จะเป็นกำแพงให้ประชาชนไว้พิงยามเจอปัญหา เป็นเกราะป้องกันยามประชาชนเจออันตราย และจะนำเอาปัญหามาบูรณาการการทำงานทั้งในและนอกประเทศ ทั้งระดับอาเซียน เอเชีย และหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนในระดับโลก

วราวุธ ยังกล่าวถึง กรณีที่ ‘เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด’ 600 บาท สำหรับเดือนกันยายนที่ล่าช้ากว่ากำหนดว่า เนื่องจากมีการขออนุมัติงบประมาณเข้ามาในช่วงรอยต่อของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเก่า และชุดใหม่ ซึ่ง ครม. ชุดเก่าก็ไม่สามารถอนุมัติงบได้ และครม. ชุดใหม่ ก็ยังไม่มีอำนาจในวาระตรงนี้

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย.) ก็ได้ประสานทั้งปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมฯ และข้าราชการในกระทรวงให้จัดเตรียมเอกสารเพื่อมาประสานต่อทั้งสำนักเลขาฯ ครม. สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เพื่อให้สามารถอนุมัติงบ และทำให้เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเข้าในบัญชีของประชาชนภายในวันที่ 18 ก.ย. 

วราวุธ ยังกล่าวถึงปัญหาของการอนุมัติงบอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ต้องได้รับการแก้ไขว่า ทุกๆ เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณฯ จะทำให้เหลืองบไม่เพียงพอ สาเหตุคือ ในทุกๆ เดือนที่ผ่านมา จำนวนของเด็กแรกเกิดที่ได้รับการสนับสนุนจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้สำนักงบประมาณต้องขออนุมัติมาเป็นตัวเลขกลมๆ และเดือนสุดท้ายขาดเหลือเท่าไหร่ก็มาขออีกที 

“ที่สำคัญการที่กระทรวงแจ้งเข้ามาในนาทีสุดท้าย ตนก็ได้มีการขอให้ทางกรมที่ดูแลในเรื่องนี้ ทำงาน และอย่าให้ประชาชนรู้สึกเซอร์ไพรส์มากเกินไป จึงกราบขออภัยพี่น้องประชาชน และจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” วราวุธ กล่าว


ห่วง ‘หยก’ เล็งใช้สหวิชาชีพทุกแขนงช่วยเหลือดูแลด้านมิติครอบครัว 

วราวุธ กล่าวถึงกรณีของ ‘ธนลภย์ ผลัญชัย’ หรือ หยก เยาวชนนักกิจกรรมที่เรียกร้องให้มีสิทธิเข้าศึกษาในสถานศึกษา และการดูแลคุ้มครองสิทธิในฐานะเยาวชน 

วราวุธ กล่าวว่า กรณีของหยกแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของสถานศึกษา และส่วนของครอบครัว ซึ่งการทำงานของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ นั้น เราคงไม่ก้าวล่วงไปในมิติของสถานศึกษา แต่ในมิติของครอบครัวคงต้องใช้สหวิชาชีพทุกๆ แขนงเข้าไปช่วยเหลือ 

วราวุธ ย้ำว่า การแก้ปัญหาในเรื่องนี้คงไม่ได้แก้ที่ตัวปัจเจกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการทำงานทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้อีก เชื่อว่า คงมีหลายๆ กรณีของเยาวชนที่คล้ายกัน ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ไม่ได้แก้เพียงแค่คนใดคนหนึ่ง