ไม่พบผลการค้นหา
'DemAll' สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยข้อมูลและเรียบเรียงเหตุการณ์จากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามการรายงานข่าวของสื่อไทย ในสนามการชุมนุมปี 2564

20 ธ.ค. 2564 DemAll สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยรายงาน “เสรีภาพสื่อไทยในการรายงานข่าวการชุมนุมตลอดปี 2564” ผ่านเฟซบุ๊กเพจโดยมีเนื้อหาดังนี้

"การคุกคาม จับกุม ยิงกระสุนยาง สั่งปิดไลฟ์ สั่งหยุดถ่ายภาพ กันสื่อออกนอกพื้นที่"

ย้อนไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2564 มีสื่อหลายรายที่ถูกกระทำจากข้อความดังกล่าวที่ยกมาข้างต้น จวบจนปัจจุบันก็ยังพบว่าสิ่งเหล่านี้จากเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าทุกครั้งจะมีการออกแถลงการณ์ประณามจากองค์กรอิสระต่างๆ รวมไปถึงแถลงการณ์จากสมาคมสื่อฯเองก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถทำให้สื่อได้รับความปลอดภัยจากการทำหน้าที่ได้ หนำซ้ำยังตกเป็นเหยื่อ ที่ปราศจากการรับผิดชอบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อใดก็ตามที่สื่อถูกกระสุนยางเฉียดโดนร่างกาย หรือโดนกระทบโดยตรง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรามการทำงานของสื่อ การตำหนิ ด้วยการบอกให้สื่อระมัดระวัง ประเมินสถานการณ์ และให้เข้าใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

ถึงแม้ว่าสื่อจะพยายามแสดงตัวตนในสนามการชุมนุมด้วยการสวมปลอกแขนสื่อมวลชน สวมเสื้อกั๊กสะท้อนแสง หรือยืนจับกลุ่มสื่อมวลชนก็ตาม ดังเห็นได้จากเหตุการณ์ ‘ผู้สื่อข่าวประชาไท ถูกกระสุนยางยิงเข้าบริเวณกลางหลัง ที่ถนนข้าวสาร’ , ‘ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ถูกกระสุนยางบริเวณเหนือขมับด้านขวา’ , ‘บรรณาธิการ PLUS SEVEN ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่สะโพกขวา’ , ‘ช่างภาพ THE MATTER ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณแขนซ้าย’

อุณหภูมิการชุมนุมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ม็อบ 7 สิงหาคม 2564 จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตรึงกำลังและเตรียมกำลังพลหลายกองร้อยเพื่อรับมือกับม็อบ รวมถึงจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมอีกหลายราย ทำให้ช่วงระยะเวลากว่า 2 เดือนนี้ สื่อต้องลงพื้นที่ติดตามรายงานสถานการณ์และถ่ายภาพ เก็บฟุตเทจวิดีโอ เป็นเหตุทำให้สื่อต้องเผชิญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยตรงอยู่บ่อยครั้ง กรณีการถูกเจ้าหน้าที่ปัดโทรศัพท์ขณะกำลังไลฟ์สด การสั่งปิดไลฟ์ การกันสื่อออกจากพื้นที่ไม่ให้เก็บภาพ การขอตรวจบัตรประจำตัว(เพื่อแยกประเภทสื่อจริง สื่อเทียม – ตามที่จนท.มักกล่าวอ้าง) และการพูดจาคุกคามสื่อจึงเกิดขึ้นเกือบทุกวัน ถ้าหากสื่อคนไหนไม่ให้ความร่วมมือก็จะถูกกีดกันออกจากพื้นที่ และรวมไปถึงถูกควบคุมตัวไปพร้อมกับผู้ชุมนุมเช่นเดียวกัน


ยกโล่บัง สาดไฟฉายแรงสูงใส่กล้อง ละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อ

จากการสลายการชุมนุมของชาวจะนะ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เมื่อค่ำวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา บริเวณทำเนียบรัฐบาล จ.กรุงเทพฯ กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของโซเชียลมีเดีย บรรดาแวดวงสื่อสารมวลชน หน่วยงานองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงที่ใช้เจ้าหน้าที่หลายร้อยนายเข้าสลายพื้นที่ของชาวบ้านที่มาเรียกร้องกับรัฐอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรงและการพกพาอาวุธใดๆ ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้เป็นเพียงผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ชาย ผู้หญิง ที่เดินทางไกลมากว่าพันกิโลเมตรเพื่อขอให้รัฐบาลยุติดำเนินการโครงการนิคมจะนะ หลังผิดสัญญาที่ให้ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกับชาวบ้านเมื่อปีที่แล้ว และเหตุการณ์สลายพื้นที่ในค่ำคืนนี้เองที่สื่อมวลชนหลากหลายสำนักข่าว ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและเสรีภาพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้สื่อขึ้นไปยืนบนฟุตบาทห่างออกจากพื้นที่เกิดเหตุ การที่จนท.คฝ. เดินมายืนซ้อนแถวให้หนาแน่น ซึ่งเมื่อสื่อมวลชนพยายามถ่ายภาพรถผู้ต้องขังและกำลังตำรวจ ตำรวจที่ตั้งแถวกั้นสื่อมวลชนอยู่ก็ยกโล่ดำขึ้นบังกล้องสื่อมวลชนทำให้ถ่ายภาพไม่สะดวก ฉายไฟฉายแรงสูงใส่กล้อง ส่องเลเซอร์ใส่หน้าใส่ตาตลอดเวลา จนทำให้ผู้สื่อข่าวหลายรายตะโกนบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ลดการฉายไฟลง เพราะเป็นการกีดขวางการทำงานของสื่อ แต่จนท.ก็ตอบกลับเช่นกันว่าแสงแฟลชจากสื่อก็รบกวนการทำงานของพวกเขา และยังกล่าวเชิงข่มขู่ว่าสื่อใดที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะถูกควบคุมตัวไปด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยหลายๆเหตุดังกล่าวที่ได้กล่าวถึงไว้ข้างต้น ทางสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของสื่อมวลชน จึงได้ทำการรวบรวมข้อมูลและเรียบเรียงเหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ต้นปี2564 เกี่ยวกับบทบาทการรายงานข่าวของสื่อไทยในสนามการชุมนุม เพื่อเป็นประจักษ์พยานร่วมกันว่าสิทธิและเสรีภาพของสื่อไทยถูกอำนาจรัฐคุกคามอย่างไรบ้าง


20 มีนาคม 2564 : #ม็อบ20มีนา #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์

• จัดโดย REDEM

• สถานที่ สนามหลวง ลากยาวมาถึงทางขึ้นสะพานพระปิ่นเกล้า แยกคอกวัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนข้าวสาร

"พบสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 3 ราย"

ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ‘แพรว พนิตนาฏ พรหมบังเกิด’ ได้รับบาดเจ็บบริเวณเหนือขมับด้านขวา (เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่นในคืนวันที่ 20 ธ.ค.64 แพทย์ได้สแกนสมอง เฝ้าดูอาการในห้องไอซียู และออกจากห้องไอซียูในวันที่ 21 ธ.ค.64) ซึ่งในแถลงการณ์ได้กล่าวว่า “ขณะนี้ได้ออกจากห้องไอซียู มาพักในห้องผู้ป่วยปกติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถพูดคุย ตอบสนองได้ตามปกติ แต่ยังคงมีอาการเจ็บบริเวณที่ถูกกระสุนยาง เนื่องจากได้รับการกระทบกระเทือน และมีรอยช้ำบวม บริเวณสมองเล็กน้อย ซึ่งสามารถรักษาได้ตามอาการ”

ผู้สื่อข่าวจากประชาไท ‘กุ้ย ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ’ ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแผ่นหลัง (เพิ่มเติม : ได้ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ศาลแพ่ง โดยร้องว่าสลายการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยการยิงกระสุนยาง ปิดกั้นการเดินทางโดยเฉพาะเส้นทางไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และใช้กำลังเกินกว่าเหตุต่อสื่อมวลชนที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ พร้อมขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว แต่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง พร้อมระบุไม่อาจทำตามคำขอท้ายฟ้องเพื่อควบคุมตำรวจให้กระทำหรือไม่กระทำการใดๆ ในเหตุการณ์การชุมนุมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนคำขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ถือเป็นอำนาจบริหารงานบุคคลภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

ผู้สื่อข่าวจากข่าวสด ‘นัตตี้ ธัญญลักษณ์ วรรณโคตร’ ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณต้นขาซ้าย

"พบสื่อถูกปัดโทรศัพท์ขณะรายงานสด (Live)"

ผู้สื่อข่าวของ The MATTER กำลังไลฟ์สดสถานการณ์ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และการยิงกระสุนยางที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปัดโทรศัพท์ขณะไลฟ์สด จนโทรศัพท์ตกที่พื้น โดยไม่มีการแจ้งเตือน ก่อนจะสั่งให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่ เพราะเป็นจุดปะทะ

"แถลงการณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"

ขณะที่ตำรวจกำลังวิ่งติดตามผู้ก่อเหตุไป ได้ส่งสัญญาณว่าจะใช้กระสุนยาง ผู้สื่อข่าว(ผู้สื่อข่าวช่อง8 ได้ก้มลงหลบกระสุนยาง เป็นเหตุให้กระสุนพลาดไปถูกบริเวณศีรษะ ซึ่งตามหลักสากลกระสุนยางจะยิงในพื้นที่ส่วนหนาของร่างกาย ระดับอกลงมาถึงบริเวณส่วนล่างของร่างกาย ซึ่งกรณีนี้นักข่าวคงได้ยินคำว่าเตรียมเลยก้มลงหลบ เป็นเหตุให้ศีรษะต่ำลงมา กระสุนยางจึงพลาดไปโดนศีรษะ กรณีดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแสดงความเสียใจกับผู้สื่อข่าว ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการมายัง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ให้ดูแลคนเจ็บทุกราย พร้อมกำชับการปฏิบัติของตำรวจให้เป็นไปตามยุทธวิธีสากล จึงอยากฝากสื่อมวลชนที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ว่า ท่านต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือไว้ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในอนาคตทาง บช.น. อาจจะมีการพิจารณาจัดฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ของตำรวจ ระหว่างการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการชุมนุมด้วย

"สัมภาษณ์จากนายกรัฐมนตรี"

เป็นห่วงสื่อที่อยู่ใกล้ที่ชุมนุม ต้องเข้าใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็ต้องเลี่ยงออกไปจากพื้นที่ ถ้าได้ยินเจ้าหน้าที่ประกาศก็ต้องถอยออกมา และขอให้สื่ออย่าอยู่ใกล้แนวปะทะ สื่อต้องเอาตัวเองออกมา ให้ระวังระวังตัวเอง แล้วการไปยืนอยู่ฝั่งผู้ชุมนุม ถ่ายภาพแต่ฝั่งตำรวจ ไม่ถ่ายว่าผู้ชุมนุมทำอะไรต่อตำรวจบ้าง ภาพที่ออกไปก็ส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์และตนด้วย

"แถลงการณ์ร่วมองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน"

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ ดังนี้ ผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตโดยเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียอันอาจเกิดแก่ร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน องค์กรสื่อมวลชนต้นสังกัดต้องร่วมประเมินสถานการณ์เพื่อให้การสั่งการต่อผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งสนับสนุนและเน้นย้ำให้บุคคลากรในสังกัดได้รับและใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวอยู่ตลอดเวลา และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนขอเน้นย้ำว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวและช่างภาพในพื้นที่ชุมนุมควรใส่ปลอกแขนแสดงสัญลักษณ์ที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ทุกครั้ง แต่ต้องเข้าใจว่า ปลอกแขนดังกล่าวไม่ได้เป็นเครื่องมือในการป้องกันกรณีที่มีการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจากฝ่ายใด โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องประเมินสถานการณ์และปฏิบัติตามแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์วิกฤตด้วย

"สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย"

ออกจดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและองค์กรสมาชิก สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การจัดการอุปกรณ์และมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับนักข่าวในการรายงานข่าวการชุมนุมทางการเมือง โดยสาระสำคัญ ระบุให้ผู้บริหารองค์กรสื่อ จัดอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย พร้อมคำนึงถึงความปลอดภัยของนักข่าวเป็นสำคัญ และขอให้พึงระมัดระวังภาษา ถ้อยคำ และการแสดงออก ที่จะไม่นำไปสู่การยั่วยุ และเข้าใจผิดของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม จนนำไปสู่ความรุนแรงของเหตุการณ์ และเป็นอันตรายต่อตัวผู้รายงานข่าว พร้อมขอชื่นชมและยกย่ององค์กรวิชาชีพสื่อที่ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักข่าวที่ไปรายงานข่าวในสนามข่าว รวมไปจนถึงผู้รายงานข่าวในสนามข่าว ที่ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนได้อย่างเที่ยงตรงและยึดมั่นในจรรยาบรรณของวิชาชีพ

"แถลงการณ์นักวิชาการ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้สื่อข่าว นักเรียน นิสิต นักศึกษา จำนวน 224 ราย"

มีการเปิดให้ร่วมลงชื่อในแบบฟอร์มกลูเกิล หัวข้อ ‘ลงชื่อแถลงการณ์ผู้สื่อข่าว ผู้ประกอบอาชีพสื่อ และนักเรียนสื่อ เรื่อง ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง และสื่อมวลชน’ โดยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องระบุว่า “ขอให้กำลังใจสื่อมวลชนทุกแขนงที่ยืนหยัดรายงานข่าวให้สังคมได้ทราบ แม้จะทำให้ได้รับบาดเจ็บและอยู่ในเหตุการณ์ความรุนแรงจากฝ่ายรัฐที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้องค์กรวิชาชีพ ยืนยันเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน และเสรีภาพการรายงานข่าวของสื่อ โดยมีมาตรการคุ้มครอง ดูแลสวัสดิภาพของสื่อมวลชนที่รายงานในพื้นที่ความขัดแย้งและพื้นที่เสี่ยงภัย”


18 กรกฎาคม 2564 : #ม็อบ18กรกฎา

• จัดโดย เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH

• สถานที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจนถึงทำเนียบรัฐบาล

"พบสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 3 ราย"

บรรณาธิการ PLUS SEVEN (ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์) ถูกยิงเข้าที่สะโพกขวา (เพิ่มเติม : 6 สิงหาคม 2564 ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ที่ศาลแพ่ง จากการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ยิงใส่นักข่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกค่าเสียหายรวม 1,412,000 บาท แต่ศาลแพ่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้บังคับบัญชาตำรวจ จำเลยที่ 3-4 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากได้รับการยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่วนการขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวขณะทำข่าวการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค. 2564 และการชุมนุมอื่นในอนาคต ศาลแพ่งเห็นว่า เป็นการอ้างเหตุในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเป็นเพียงการคาดการณ์ของโจทก์ จึงไม่มีเหตุสมควรให้สั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเหตุฉุกเฉินตามคำร้อง)

ช่างภาพ THE MATTER (ชาญณรงค์ เอื้ออุดม) ถูกยิงเข้าที่บริเวณแขนซ้าย (เพิ่มเติม : กรณีเดียวกับบรรณาธิการ PLUS SEVEN คือ 6 สิงหาคม 2564 ยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.), พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (ผบก.อคฝ.) จำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ที่ศาลแพ่ง จากการใช้แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ยิงใส่นักข่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรียกค่าเสียหายรวม 1,412,000 บาท แต่ศาลแพ่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 1 คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนผู้บังคับบัญชาตำรวจ จำเลยที่ 3-4 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากได้รับการยกเว้นความรับผิดตาม พ.ร.บ.การรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ส่วนการขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อผู้สื่อข่าวขณะทำข่าวการชุมนุมวันที่ 7 ส.ค. 2564 และการชุมนุมอื่นในอนาคต ศาลแพ่งเห็นว่า เป็นการอ้างเหตุในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเป็นเพียงการคาดการณ์ของโจทก์ จึงไม่มีเหตุสมควรให้สั่งคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากไม่มีเหตุฉุกเฉินตามคำร้อง)

ช่างภาพประจำมติชนทีวี (พีระพงษ์ พงษ์นาค) ถูกยิงเข้าที่บริเวณแขนซ้าย

"กองบัญชาการตำรวจนครบาล"

พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ระบุว่า กรณีที่มีสื่อมวลชนถูกลูกหลงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เบื้องต้นทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเบื้องต้นทราบว่ากระสุนยางพลาดไปโดนที่แขนซ้าย ซึ่งขณะนี้ตัวผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านแล้ว


11 สิงหาคม 2564 : #ม็อบ11สิงหา

• จัดโดย กลุ่มทะลุฟ้า - Thalufah

• สถานที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไท ประกาศเดินไปบ้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

"พบสื่อพลเมือง 1 ราย 'ไลลา ตาเฮ' ช่างภาพอิสระ อายุ 25 ปี ที่ส่งภาพให้กับสำนักข่าวเบนาร์นิวส์ Benarnews และ Rice Media Thailand ถูกเจ้าหน้าที่คฝ. ใช้กระบองตีเข้าที่เลนส์กล้องจนฟิลเตอร์แตกและขอบเลนส์บุบเสียหาย"

[ ลำดับเหตุการณ์โดยไลลา ตาเฮ ]

เธอเล่าว่า ตำรวจก็เริ่มเดินเข้ามาผ่านหน้าที่เรายืนอยู่เพื่อที่จะไปจับคนที่เข้าไปในซอยเล็กๆตรงนั้น แล้วช็อตที่ คฝ.ตีก็คือตอนที่เราถ่ายเค้า เราไม่ได้เดินออกไปจ่อ เราก็ยืนของเรายกกล้องถ่ายเขา แล้วพยายามแพนกล้องถ่ายตามที่เขาเดินไปทางขวาของเราจนสุด แล้วเขาก็ตีกระบองมาที่เรา ก็โดนกล้องเยอะสุดโดนฟิลเตอร์แตก แล้วปลายกระบองมันก็โดนไหล่นิดนึง ทั้งนี้เธอบอกว่าไม่ได้มีบาดแผลอะไรตรงไหล่ขวาข้างที่กระบองมาโดนเพราะเป็นปลายกระบองที่เฉี่ยวมาโดนเล็กน้อยเท่านั้น

"มุมมองของ สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน"

เจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิใช้ความรุนแรงกับทั้งผู้ชุมนุมและสื่อ การถ่ายภาพ หรือคลิป เป็นสิ่งที่กระทำได้ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยสอดส่องให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่กรณีผู้ชุมนุมก็ได้รับการตรวจสอบจากหน้าที่ของสื่อเช่นกัน และหน้าที่นี้ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องปลอกแขนสื่อ อย่างที่เจ้าหน้าที่มักใช้เป็นข้ออ้าง ตามหลักการระหว่างประเทศ คำว่าผู้สื่อข่าว ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้สื่อข่าวสังกัดโน่นสังกัดนี่ ในฐานะอาชีพของเขาเป็นคนทำข่าว เป็นช่างภาพ เพราะฉะนั้นการที่เขาไปถ่ายภาพ ผมจะถามคนที่มีความเห็น บอกว่าทำไม่ได้ เขาไปขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังไง มีแต่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานดีขึ้น ถูกต้องขึ้นมากกว่า


11 กันยายน 2564 : #ม็อบ11กันยา #ม็อบแยกดินแดง

• จัดโดย มวลชนอิสระ

• สถานที่ แฟลตดินแดง, แยกสามเหลี่ยมดินแดง, หน้าวิทยาลัยการจัดการ ม.มหิดล, ปากซอยถนนมิตรไมตรี 2 ตรงข้ามกรมดุริยางค์ทหารบก

"พบการสั่งให้สื่อนั่งพื้นเพื่อตรวจบัตรที่ซอยมิตรไมตรี 2 มีการสั่งให้สื่อปิดไลฟ์บริเวณจุดปะทะ และขอให้สื่อหยุดถ่ายทอดสด คฝ. สลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณแฟลตดินแดง"

[ ลำดับเหตุการณ์ ]

เวลา 21.05 น. ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดง ทำให้กลุ่มวัยรุ่นถอยไปรวมตัวกันบริเวณแฟลตดินแดง จากนั้นตำรวจประกาศให้ผู้สื่อข่าวนั่งลง ให้ยุติการไลฟ์สด และทำการตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชนที่อยู่บริเวณดังกล่าว

เวลา 21.40 น. เป็นต้นมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ประกาศให้สื่อมวลชนออกจากพื้นที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดง เนื่องจากเจ้าหน้าที่จะทำการเข้าจับกุมผู้ชุมนุมที่แอบเข้าไปหลบที่แฟลต

เวลา 21.50 น. เจ้าหน้าที่สามารถรักษาแนวอยู่หน้าแฟลตดินแดง และประกาศให้สื่อมวลชนหยุดถ่ายทอดสดระหว่างเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งมีการขอตรวจบัตรสื่อมวลชนและแพทย์อาสาในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาชนที่เดินเข้า – ออกแฟลตดินแดง

เวลา 22.50 น. เจ้าหน้าที่ประกาศให้สื่อมวลชนแยกย้ายกลับให้สื่อมวลยุติการเสนอข่าวในพื้นที่ ด้วยการอ้างเคอร์ฟิว ระบุ “ถ้าไม่ออกจะดำเนินการตามกฎหมาย เราเตือนแล้ว” และ คฝ. ยังประกาศว่า “ให้ท่านกลับเลย เป็นเวลาเคอร์ฟิว เตือนครั้งสุดท้าย ถ้าไม่แยกย้ายจะเชิญตัวไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก” ทำให้สื่อหลายแห่งยุติการไลฟ์ ทั้งนี้ยังมีสื่อพลเมืองอย่างน้อย 3 เพจเฟซบุ๊กคือ สำนักข่าวราษฎร เพจกระเทยแม่ลูกอ่อน และ friends talk ที่ยังอยู่รายงานสถานการณ์อยู่ในพื้นที่

"กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจบัตรสื่อมวลชนและแพทย์อาสา"

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ (รองโฆษกตำรวจ) กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้ชุมนุมแอบอ้างว่าเป็นสื่อมวลชน เป็นแพทย์อาสาเข้ามาปะปนในกลุ่มสื่อมวลชนแล้วสร้างสถานการณ์ขัดขวางการทำงานเจ้าหน้าที่ และมีรายงานว่ามีสื่อมวลชนปลอมรายงานข้อเท็จจริงในพื้นที่บิดเบือน

"ปัญหาเรื่องบัตรประจำตัวสื่อมวลชนและปลอกแขน"

เริ่มกลายเป็นประเด็นหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระชับพื้นที่การชุมนุมและสั่งให้สื่อมวลชนยุติการรายงานข่าวแบบไลฟ์สด พร้อมทั้งทำการตรวจบัตรประจำตัวสื่อมวลชน ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นการคุกคามสื่อที่เข้าไปทำหน้าที่ในการนำเสนอข่าว เพราะสื่อย่อมมีเสรีภาพในการทำหน้าที่สังเกตการณ์การชุมนุมและรายงานข่าวได้โดยไม่ถูกคุกคามและจำกัดโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามรัฐธรรมนูญและหลักกติกาสากลระหว่างประเทศ

"6 องค์กรสื่อ ประสานตำรวจปม #ม็อบ11กันยา บช.น. ยืนยันให้สื่อทำข่าวแยกดินแดงได้ แต่ต้องมีบัตรแสดงตนและปลอกแขน"

เมื่อวันที่ 12 กันยายน เว็บไซต์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่ข่าวกรณี 6 องค์กรสื่อติดตามสถานการณ์คืนวันที่ 11 กันยายน ด้วยความห่วงใย และร่วมหาทางออกแนวทางให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า

“ผู้แทนผู้บริหารของ 6 องค์กรสื่อ ประกอบด้วย สภาการวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้หารือถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำวันที่ 11 กันยายน โดยได้ตรวจสอบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของสื่อมวลชนในช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ก่อเหตุความรุนแรงในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแจ้งต่อสื่อมวลชนในพื้นที่ให้มีการลงทะเบียนเพื่อการคัดกรอง ตรวจหลักฐานยืนยันความเป็นสื่อมวลชนก่อนปฏิบัติการ โดยอ้างว่ามีรายงานว่ามีบุคคลบางส่วนได้แสดงตัวเป็นสื่อมวลชน เป็นเจ้าหน้าที่กู้ภัย หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ โดยที่ไม่ได้มีสถานะนั้นอยู่จริง

โดยยังคงอนุญาตให้สื่อมวลชนที่มีสังกัดชัดเจน มีตัวตนยืนยันได้กับต้นสังกัดสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิวดังกล่าวได้ และยังไม่พบว่ามีสื่อมวลชนที่มีหลักฐานยืนยันตัวตนและเครื่องหมายระบุฝ่าย ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ”


6 องค์กรสื่อได้รับแจ้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบผ่านผู้ประสานงานของ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ดังนี้

“จากการประสานงานไปยัง บช.น. ผ่าน พลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. และ โฆษก บช.น. ยืนยันมาว่า บช.น.ไม่มีนโยบายในการห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวแม้ว่าจะเป็นช่วงหลังประกาศเคอร์ฟิวแล้วก็ตาม แต่สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรายงานข่าว หรือไลฟ์สดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกันไว้แล้ว นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวประกอบด้วยก็จะถือว่าครบถ้วน อย่างไรก็ตาม แม้มีเพียงบัตรแสดงตนและปลอกแขนก็เพียงพอแล้ว แต่หากไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเป็นสื่อมวลชนก็จะต้องถูกนำตัวไปสอบสวนตามขั้นตอนของกฎหมาย ทั้งนี้ บช.น.ยืนยันว่าให้ความสำคัญกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนทุกสำนัก และป้องกันไม่ให้สื่อมวลชนได้รับอันตราย เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนได้ปลอมเป็นสื่อ เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข รวมถึงหน่วยกู้ภัยต่างๆ ซึ่งเมื่อวานก็มีจับกุมตัวได้ จึงขอให้สื่อรายงานข่าวด้วยความระมัดระวัง และมีสิ่งยืนยันตัวตนติดตัวไว้ตลอดเวลา และสามารถให้เจ้าหน้าที่เรียกดูและตรวจสอบได้”

นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย

“สื่อมีหน้าที่นำเสนอความจริงที่ถูกต้อง และควรมีพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้สื่อทุกสำนักสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว เนื่องจากมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อและผู้รับผิดชอบให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานี้ได้ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน คือมีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว และปลอกแขนที่องค์กรวิชาชีพสื่อออกให้ รวมทั้งต้องมีหนังสือขออนุญาตจากต้นสังกัดในการออกมาปฏิบัติงานในช่วงเคอร์ฟิวประกอบด้วย ยืนยันว่าสื่อควรมีสิทธิและเสรีภาพในการนำเสนอข่าวภายใต้กรอบจริยธรรมและจรรยาบรรณสื่อ ทั้งนี้ ขอเรียกร้องทุกฝ่ายทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ไม่ควรมีท่าทีที่คุกคามต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ และสื่อทุกสำนักก็พึงระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นด้วย”

นายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย

“หนังสือรับรองจากองค์กรว่าทำงาน หรือกลับจากปฏิบัติงานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว อาจช่วยแก้ปัญหาให้นักข่าวสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อแม้ล่วงเลยเวลาเคอร์ฟิวแล้ว และยืนยันเห็นด้วยในหลักการเสรีภาพสื่อมวลชน ให้นักข่าวต้องทำข่าวได้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”


13 กันยายน 2564 : #ม็อบแยกดินแดง

• จัดโดย มวลชนอิสระ

• สถานที่ แยกสามเหลี่ยมดินแดง, ริมถนนวิภาวดี บริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก, หน้าสำนักงานเขตดินแดง ถนนมิตรไมตรี 2

"พบสื่อพลเมืองถูกจับ 2 ราย คือแอดมินเพจสำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News และ แอดมินเพจปล่อยเพื่อนเรา"

[ ลำดับเหตุการณ์ ]

เวลา 21.06 น. The Reporters รายงานว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางออกจากกรมดุริยางค์ทหารบก ขณะที่สื่ออยู่บริเวณทางเข้าวิทยาลัยการจัดการ เจ้าหน้าที่ประกาศให้นักข่าวออกไป (สื่อบอกว่ากำลังออก) ขณะเดียวกันที่ยิงกระสุนยางออกมา ทำให้สื่อรีบวิ่งออกจากบริเวณดังกล่าว นักข่าวยืนยันว่า ยิงมาที่บริเวณที่นักข่าวอยู่ นักข่าวเสริมว่า พยายามขึ้นไปที่ฟุตบาทและรวมกลุ่มกัน ด้านนพเก้า คงสุวรรณ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสดรายงานว่า ขณะเกิดเหตุมีผู้สื่อข่าวรวมตัวกันประมาณ 50 คน จากนั้นตำรวจออกมาจากกรมดุริยางค์ทหารบกและตะโกนว่า "นักข่าว ถอยออกไป ถอยออกไป" เป็นการประกาศ พร้อมสาดกระสุนยาง ไล่กลุ่มมอเตอร์ไซค์ประมาณ 3-4 คัน

เวลา 21.30 น. ที่บริเวณซอยมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพ “ณัฐพงศ์ มาลี หรือ แอดมินโอปอ” นักข่าวพลเมืองจากเพจ 'สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News' และนักข่าวพลเมืองอีก 1 คน จากเพจปล่อยเพื่อนเรา รวม 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ขณะรายงานสถานการณ์การชุมนุมที่ดินแดง (เพิ่มเติม : จากไลฟ์ในเพจ 'สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News' ก่อนถูกควบคุมตัวนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามบัตรนักข่าวและใบขออนุญาตทำข่าว ตามด้วยขอให้ปิดไลฟ์ เขาแสดงต่อตำรวจว่า เป็นสื่อจาก "Thaivoice" อย่างไรก็ตามตำรวจทำการจับกุมเขาและกล่าวหาว่า เขาฝ่าฝืนเรื่องข้อห้ามการรวมตัวและการออกนอกเคหสถานหลังเวลา 21.00 น. ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา)

เมื่อถูกควบคุมตัวไปที่กรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจบอกว่า นี่คือการจับกุมและยึดโทรศัพท์ เขาจึงบอกว่า หากจะตรวจสอบโทรศัพท์ให้ตำรวจไปขอศาลออกหมายค้นมาแต่ตำรวจไม่ยอม มีการเจรจาทำนองว่า ถ้าใช้หมายค้นโทรศัพท์ก็จะยึดไปนานหน่อย แต่ถ้าให้ตอนนี้รุ่งเช้าจะคืนให้ เขามองว่า เขาต้องใช้โทรศัพท์ทำมาหาเลี้ยงชีพและบริสุทธิ์ใจจึงยอมให้โทรศัพท์ไปพร้อมกับรหัส ต่อมาเขาถูกคุมตัวไปที่สน.พหลโยธิน ระหว่างนี้พบกับแอดมินเพจปล่อยเพื่อนเราด้วย ตำรวจได้มีการถามประวัติความเป็นมา การศึกษาและรายได้ ทั้งยังบอกว่า รายงานข่าวเบาๆหน่อยนะ เพราะก่อนหน้านี้การไลฟ์รายงานของโอปอสามารถจับภาพเหตุการณ์สำคัญได้หลายเหตุการณ์ตั้งแต่พฤติการณ์ของผู้ชุมนุมและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ระหว่างการสลายการชุมนุม

เวลา 01.25 น. The Reporters รายงานความคืบหน้ากรณี “ณัฐพงศ์ มาลี” นักข่าวพลเมืองจากเพจ 'สำนักข่าวราษฎร - Ratsadon News' โดย ณัฐพงษ์ ซึ่งถูกคุมตัวมาที่ สน.พหลโยธิน แจ้งว่า ตนโดนแจ้ง 2 ข้อหา ร่วมกันชุมนุมและฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยยังถูกควบคุมตัวที่ สน.พหลโยธิน และจะยื่นขอประกันตัวในวันพรุ่งนี้

วันที่ 14 กันยายน 2564 ศาลแขวงพระนครเหนือมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลให้สัมภาษณ์

วันที่ 13 กันยายน 2564 พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ทางรายการตอบโจทย์ไทยพีบีเอสในช่วงค่ำอ้างว่า ได้รับการร้องเรียนจากสื่อมวลชนว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมหรือมีผู้แอบแฝงมาเป็นสื่อมวลชนปลอมและจะนำผู้ที่แฝงตัวเข้ามาจำนวน 2-3 คนมาดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยยืนยันว่า สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในระหว่างการเคอร์ฟิวได้แต่ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่คือสื่อไม่มีสังกัด อ้างว่า เป็นสื่อราษฎรบ้าง เป็นสื่อยูทูบเบอร์เล็กๆน้อยๆบ้าง

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตยออกแถลงการณ์

หยุดคุกคามสื่อมวลชน และเคารพการทำหน้าที่ของสื่อภาคประชาชน

“จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อำนาจตรวจสอบบัตรสื่อมวลชนและบังคับให้สื่อหยุดรายงานสด(ไลฟ์สด) จากสถานที่เกิดเหตุสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง โดยอ้างว่าละเมิดเคอร์ฟิวภายใต้อำนาจ พรก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 12 กันยายน และการควบคุมตัวสื่อมวลชนของสำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News ในวันที่ 13 กันยายน โดยมีคำชี้แจงของ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการตอบโจทย์ทาง ThaiPBS อ้างว่าได้รับการร้องเรียนจากสื่อมวลชนว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมแอบแฝงมาเป็นสื่อมวลชนปลอม และที่ผลักดันออกจากพื้นที่นั้นล้วนแล้วแต่เป็นสื่อมวลชนไม่มีต้นสังกัด นั้น

คำกล่าวอ้างของ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย ล้วนแล้วแต่เป็นคำโกหกพกลมที่ขาดความละอายต่อข้อเท็จจริง เพราะตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการรายงานของสื่อมวลชนหลายสำนักล้วนยืนยันตรงกันว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้สั่งให้สื่อมวลชนมารวมกลุ่มเพื่อตรวจสอบบัตรสื่อมวลชน บังคับให้หยุดไลฟ์สด และสั่งให้เดินทางกลับด้วยคำอ้างว่าเลยเวลาเคอร์ฟิว

โดยสื่อที่ถูกปิดกั้นการทำหน้าที่ในวันดังกล่าวทั้งสื่อที่มีสังกัดและสื่อภาคประชาชน อีกทั้งความเข้าใจของพล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย สะท้อนความบิดเบี้ยวทางความคิด ขาดความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ของสื่อสมัยใหม่ที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้ มีพื้นที่รายงานข่าวของตนเอง ทั้งในโซเชียลมีเดียต่างๆ การเป็นสื่อไม่จำเป็นต้องมีต้นสังกัด ไม่จำเป็นต้องมีบัตรสื่อ ไม่ต้องมีองค์กรใด หรือใครประทับตราอนุญาต หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิในการบันทึกภาพการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ

มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เคยวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวว่า ประชาชนสามารถถ่ายภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวขณะเจ้าหน้าที่รัฐกำลังปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะจุดมุ่งหมายต้องการให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยความโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นนักข่าว สื่อพลเมืองหรือประชาชนทั่วไปโดยที่การทำงานไม่ได้ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ เป็นสิทธิที่กระทำได้ อีกทั้งสอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ คำว่าผู้สื่อข่าวไม่จำเป็นต้องมีสังกัดใดๆ ตามที่ทาง พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัยกล่าวอ้าง

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย(Democracy Alliance :DemAll) ขอเรียกร้องให้ทางตำรวจหยุดคุกคามการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน คำว่าสังกัด ไม่ควรจำเพาะเจาะจงองค์กรสื่อขนาดใหญ่ แต่ประชาชนทุกกลุ่มล้วนเป็นสังกัดของตนเอง หยุดเข้าไปใช้อำนาจข่มขู่ หยุดปิดกั้นการทำงาน และหยุดใช้อำนาจกฎหมายควบคุมตัวสื่อมวลชน เพราะความเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิส่วนบุคคล สื่อเลือกข้างเป็นเรื่องปกติของโลกยุคปัจจุบัน บัตรผู้สื่อข่าวไม่ใช่สารัตถะสำคัญ แม้แต่สื่อภาคประชาชนก็ถือว่าเป็นสื่อมวลชน ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูลเหตุการณ์ไปสู่ประชาชนได้

หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ โปร่งใส การกล่าวอ้างเรื่องการแฝงตัวของผู้ชุมนุมก็ไม่มีผลใดๆ ทางตำรวจควรที่จะอับอายต่อการปฏิบัติหน้าที่รับมือการชุมนุมที่สวนทางกับหลักสากลอย่างซ้ำซาก ปราศจากความเป็นมนุษย์ ขอให้ทบทวนและหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมถอยในศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของตนเองโดยเร็ว”


6 ตุลาคม 2564 : #ม็อบ6ตุลา

• จัดโดย มวลชนอิสระ

• สถานที่ แฟลตดินแดง , สามเหลี่ยมดินแดง , แยกมิตรไมตรี2 , ซอยต้นโพธิ์ ข้างแฟลตดินแดง

"พบการจับกุมสื่อพลเมือง 1 ราย (แอดมินนินจา – LIVE REAL) ขึ้นรถผู้ต้องขัง นำตัวไปยัง สน.พหลโยธิน ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสั่งผู้สื่อข่าว The Reporters (กิตติธัช วิทยาเดชขจร) ปิดไลฟ์ ตรวจสอบรถจักรยานยนต์"

[ ลำดับเหตุการณ์ ]

เวลา 23.09 น. ผู้สื่อข่าว The Reporters เดินมาทางอาคารเพชราวุธเพื่อติดตามรถจักรยานยนต์ ตำรวจได้สั่งให้ผู้สื่อข่าวปิดไลฟ์และตรวจสอบรถจักรยานยนต์ มีการอ้างว่า ผู้สื่อข่าวเป็นสายรายงานให้ทางกลุ่มผู้ชุมนุมรู้ความเคลื่อนไหว ซึ่งในวันนั้น The Reporters ได้ปิดการรายงานสดตั้งแต่เวลา 22.36 น. ในช่วงที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้ามาในพื้นที่แฟลตดินแดง หลังจากนั้นตำรวจมีการขอโทษและบอกว่า เป็นการขอความร่วมมือ

เวลา 23.10 สื่ออิสระเพจ Live Real โดนจับขึ้นรถผู้ต้องขัง ทว่าเมื่อรถเคลื่อนไปถึงบริเวณทางยกระดับตัดข้ามถนนพหลโยธินมายังถนนวิภาวดีรังสิต ช่วงระหว่างกรมดุริยางค์ทหารบก กับโรงพยาบาลทหารผ่านศึก รถที่เขานั่งมาได้จอดลง ในบริเวณดังกล่าวที่เจ้าหน้าที่ คฝ. หลายสิบคนประจำการอยู่ เจ้าหน้าที่แจ้งกับพวกเขาที่อยู่บนรถว่า นี่คือการค้นตัวอีกครั้ง แต่กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยการกระชากหัวลงจากรถทีละคน ปลดสัมภาระทุกอย่างออก รวมทั้งกระเป๋าสตางค์ และโทรศัพท์มือถือ ขอรหัสปลดล็อคด้วยกำลัง เพื่อตรวจสอบการโทรเข้าออก รวมทั้งข้อความที่พูดคุยกับคนอื่นๆ พร้อมกับการรุมทำร้ายร่างกาย และพูดจาเหยียดหยามศักดิ์ความเป็นมนุษย์

แอดมินนินจาเล่าว่า “พอมาถึงเขาก็เข้ามาถอดสิ่งของต่างๆ ของผมออก แมส รองเท้า หมวก และค้นตัวทุกอย่าง แต่ในการค้นตัวของพวกเขามันเป็นเป็นความบันเทิงมากกว่า ระหว่างที่ค้นตัวมีการดูถูกเหยียดหยาม พูดด้อยค่าการเป็นสื่อมวลชนของผม เช่น ถามหาบัตรนักข่าวต่างๆ ผมก็แจ้งไปว่าองค์กรของผมให้มาเพียงปลอกแขน เขาก็หัวเราะ แล้วก็บอกว่าพรุ่งนี้ไปซื้อปลอกแขนสื่อมวลชนมาใส่ แล้วพรุ่งนี้กูไปเป็นนักข่าววันหนึ่ง”

วันที่ 7 ตุลาคม 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นเรื่องเคอร์ฟิว ประชาชนและสื่อมวลชนที่ไม่มีความจำเป็นหลังเวลา 22.00 น. อยากจะให้เดินทางกลับบ้าน อยากให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง กรณีที่อยากจะรายงานเหตุอาชญากรรมก็สามารถติดต่อที่ 191 หรือ 599

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ถึงกรณีการจับกุมนักข่าวพลเมือง

“แถลงการณ์ ปล่อยแอดมินนินจา หยุดคุกคามสื่ออิสระในพื้นที่การชุมนุม

เนื่องด้วยเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคมในช่วงดึก เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ‘แอดมินนินจา’ สื่อมวลชนอิสระซึ่งรายงานข่าวผ่านเฟซบุ๊กเพจ Live Real ระหว่างปฏิบัติการสลายการชุมนุม ทั้งที่มีสัญลักษณ์แสดงสถานะสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุมอย่างชัดเจน สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย Thai Media for Democracy Alliance (DemAll) ขอยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับหลักเสรีภาพของสื่อมวลชนซึ่งเป็นหลักการที่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ที่ผ่านมา แอดมินนินจาและสื่ออิสระอีกหลายรายถูกเจ้าหน้าที่มองเป็นคู่ขัดแย้งเสมอ ทำให้เกิดการใช้อำนาจปฏิบัติการราวกับสื่อเป็นผู้ชุมนุม หลายครั้งล่วงไปถึงการทำร้าย จับกุมและตั้งข้อหา ขณะเดียวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ลุแก่อำนาจโดยการยึดกุมอำนาจในการชี้ขาดว่าสื่อใดคือสื่อแท้ สื่อใดคือสื่อเทียม ทั้งที่กระแสธารการพัฒนาของโลกได้หมุนไปจนการขีดเส้นแบ่งดังว่าไม่มีอยู่จริงอีกต่อไป ความเป็นสื่อไม่ได้จำกัดอยู่กับบัตรนักข่าวที่แสดงต้นสังกัดตามที่ตำรวจเข้าใจ แต่เป็นผลงานและการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุม

อีกทั้งสมาพันธ์สื่อระหว่างประเทศ (The International Federation of Journalists) ระบุว่าสื่ออิสระไม่ได้เป็นสื่อที่ ‘แหวกขนบ’ อีกต่อไป ในบางประเทศสื่ออิสระมีจำนวนมากกว่าสื่อที่มีการจ้างงานตามต้นสังกัด ตลอดจนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่ทำให้การทำหน้าที่ของสื่อไม่ถูกครอบด้วยกรอบของการจ้างงานตามระบบการจ้างงานแบบทางการอีกต่อไป

นิยามของสื่อมวลชนจึงลื่นไหล ขยายกว้าง และกลายเป็นภาวะมากกว่าเป็นฐานะ ด้วยเหตุนี้ ใครก็ตามที่กำลังดำรงอยู่ในภาวะของสื่อมวลชนด้วยการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามจริยธรรมสื่อที่สามารถอธิบายด้วยหลักวิชาชีพได้ ย่อมควรจะได้รับการรับรองสิทธิในการปกป้องคุ้มครองไม่ต่างกัน

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย(DemAll) จึงขอเรียกร้องให้ทางตำรวจปล่อยตัวแอดมินนินจาโดยไม่มีเงื่อนไข และเคารพการทำหน้าที่ของสื่ออิสระในพื้นที่การชุมนุม หยุดหาเหตุคุกคามสื่อมวลชนที่กำลังรายงานข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ด้วยการถามหาบัตรนักข่าวและจับกุมดำเนินคดีอย่างไร้ความเคารพต่อหลักกฎหมาย

หยุดป้ายสีสื่อเทียมใส่สื่ออิสระ สื่อภาคประชาชน สื่อพลเมือง และเร่งทำความเข้าใจภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ในปัจจุบันเพื่อให้ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนว่า องค์กรตำรวจยังก้าวไปข้างหน้าด้วยสติปัญญาและวุฒิภาวะก้าวทันโลก ไม่ขยายความขัดแย้งอย่างไร้สติอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้”


13 ตุลาคม 2564 : #ม็อบ13ตุลา

• จัดโดย มวลชนอิสระ

• สถานที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , แยกดินแดง , บริเวณซอยต้นโพธิ์ , แฟลตดินแดง

"พบเจ้าหน้าที่ตำรวจดึงโทรศัพท์ของผู้สื่อข่าว The Reporters (กิตติธัช วิทยาเดชขจร) ขณะที่กำลังรายงานสด เพื่อตรวจสอบดูคอมเมนต์ในนั้น"

[ ลำดับเหตุการณ์ ]

เวลา 20.30 น. (ยังไม่เคอร์ฟิว) ระหว่างที่ผู้สื่อข่าวของ The Reporters ไลฟ์การวางกำลังของตำรวจในพื้นที่แฟลตดินแดง ตำรวจมาถามเขาว่า “เอ็งอยู่ฝั่งไหน” และพาสื่อคนดังกล่าวหลบมุมไปคุยอีกด้านหนึ่งและถามย้ำว่า “มึงอยู่ฝั่งไหน” และเมื่อโชว์บัตรสำนักข่าวให้เขาดู เขาบอกว่า “กูรู้ แต่กูอยากรู้ว่ามึงอยู่ฝ่ายไหน”จากนั้นก็ดึงโทรศัพท์ที่กำลัง Live ไป ให้ลูกน้องอ่านคอมเมนต์ว่ามีการรายงานอะไรให้ทางฝั่งม็อบดูหรือไม่ ตอนนั้นมีความตกใจ แต่พูดจากับเขาอย่างมีเหตุผลว่า “มาจากองค์กรนี้ มีบัตรของ บช.น. มีเอกสารครบ” เขาก็บอกว่า “อ๋อ กูว่าแล้ว พวกมึงมาแทรกซึมหาข่าวตำรวจนี่หว่า” เราก็บอกไปว่า “องค์กรเรามีผู้ติดตาม 1.8 ล้านคน จะทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสีย ที่เราเข้ามาเพราะถ้ามีใครขว้างปาประทัดใส่แนวเจ้าหน้าที่ ภาพจะออกไปเองว่าผู้ชุมนุมกระทำต่อเจ้าหน้าที่ เราไม่ใช่ถ่ายแค่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมอย่างเดียว” เขาบอกให้ไปถ่ายหลังม็อบไม่ใช่ถ่ายแนวตำรวจ “ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะสื่อ” ตำรวจพูดประมาณนี้


6 ธันวาคม 2564 : #ม็อบ6ธันวา #saveจะนะ #เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

• จัดโดย เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

• สถานที่ หน้าทำเนียบรัฐบาลประตู 1 , สะพานชมัยมรุเชฐ

"สื่อมวลชน ทั้งสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ สื่อพลเมือง หลายรายที่ทำหน้าที่รายงานข่าวบริเวณทำเนียบรัฐบาล ถูกเจ้าหน้าที่สั่งให้ขึ้นไปอยู่บนฟุตบาท ออกจากแนวเจ้าหน้าที่และกลุ่มชาวบ้าน (หากไม่ปฏิบัติตามจะมีการควบคุมตัว) เจ้าหน้าที่มีการใช้โล่กัน ตั้งแถวยาวกันสื่อ ฉายไฟฉายแรงสูงเข้ากล้องของช่างภาพข่าวและนักข่าวที่กำลังรายงานสด มีการห้ามถ่ายภาพขณะที่คฝ.กำลังจับกุมชาวบ้านจะนะ มีการตรวจบัตรสื่อและปลอกแขน"

จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำให้ภาพเหตุการณ์ในคืนวันนั้นจากสำนักข่าวต่างๆออกมาไม่คมชัด ภาพแตก เพราะต้องใช้เลนส์ซูมระยะไกล และดันแสงสว่างของภาพออกมา จากนั้นมีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งอ้างว่า “ไม่ได้ปิดกั้นการทำงานของสื่อไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ แต่ขอให้ทุกท่านปฎิบัติตามเงื่อนไข ตามที่ตกลงกันไว้ทั้ง 6 องค์กรสื่อ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง ตามที่ 6 องกรณ์สื่อได้ให้คำแนะนำและความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์พื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อย”

[ ลำดับเหตุการณ์ ]

เวลา 21.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน เข้าสลายการชุมนุมประชาชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น บริเวณทำเนียบรัฐบาล

เวลา 21.18 รถผู้ต้องขังสองคัน เลื่อนเข้ามาจอดหน้ารั้วเหล็กใกล้บริเวณเต้นของผู้ชุมนุม จากนั้นตำรวจคฝ. ก็เดินมายืนซ้อนแถวให้หนาแน่นขึ้น เป็นแถวตำรวจถือโล่ประมาณสามชั้น เมื่อสื่อมวลชนพยายามถ่ายภาพรถผู้ต้องขังและกำลังตำรวจ ตำรวจที่ตั้งแถวกั้นสื่อมวลชนอยู่ก็ยกโล่ดำขึ้นบังกล้องสื่อมวลชนทำให้ถ่ายภาพไม่สะดวก

เวลา 21:25 น. เป็นต้นไป กีดกันสื่อมวลชนไม่ให้บันทึกภาพ มีการฉายไฟฉายแรงสูงใส่กล้องตลอดเวลา ช่วงเวลาหนึ่งมีสื่อมวลชนจากไทยพีบีเอสได้ตะโกนขอให้ตำรวจลดไฟฉายแรงสูงที่สาดมายังกลุ่มสื่อ เนื่องจากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรายงานข่าวและยังเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่ ซึ่งในไลฟ์สดจากหลายๆสำนักข่าวก็โดนไฟฉายแรงสูงจากตำรวจ ซึ่งทำให้ผู้สื่อข่าวอีกหลายรายก็ตะโกนขอความร่วมมือจากตำรวจในทำนองเดียวกัน และ 'นราธิป ทองถนอม' ผู้สื่อข่าว Backpack Journalist / ThaiPBS ได้เล่าว่า "ตำรวจประกาศอ้างถึงข้อตกลง 6 องค์กรสื่อ อย่างน้อยสองครั้ง ตั้งแต่ช่วงแรกที่ดันสื่อให้มาอยู่บนทางเท้า ระหว่างที่ส่องไฟใส่กล้อง และระหว่างโทรศัพท์ที่สื่อกำลัง live"

[ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย Thai Journalists Association ]

13 ธันวาคม 2564 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึก 6 ข้อเรียกร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังกรณีคุกคาม แทรกแซง ขัดขวางการรายงานข่าวของสื่อจากเหตุการณ์ #saveจะนะ และการอ้างข้อตกลงกับ 6 องค์กสื่อ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา

“จดหมายเปิดผนึกถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เรื่อง แนวทางปฏิบัติสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ในสถานการณ์การชุมนุม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีภารกิจร่วมกันในการรณรงค์ให้สื่อมวลชนแขนงต่างๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามหลักวิชาชีพในสถานการณ์การชุมนุมได้อย่างปลอดภัย ปราศจากการคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพ ตามหลักการสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนซึ่งได้รับการคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญ

เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีบทบาทและหน้าที่โดยตรงในการควบคุมดูแลสถานการณ์การชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสองสมาคมข้างต้น จึงขอสื่อสารไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่รายงานข่าวและข้อเท็จจริง ตามหลักจริยธรรมวิชาชีพในสถานการณ์การชุมนุม ดังต่อไปนี้

1. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรปิดกั้น ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใดๆที่ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการควบคุมดูแลสถานการณ์การชุมนุม เนื่องจากสื่อมวลชนพึงมีสิทธิและหน้าที่ในการรายงานสถานการณ์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนอย่างโปร่งใส โดยที่มิได้เข้าไปขัดขวางหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่การชุมนุม

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม และควรใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนตามหลักปฏิบัติสากล กล่าวคือ มีการแจ้งเตือนอย่างชัดเจน มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนักอย่างสมเหตุสมผล และหลีกเลี่ยงการสร้างความเสียหายหรือบาดเจ็บต่อสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

3. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ควรแสดงท่าที วาจา หรือพฤติกรรมใดๆที่มีลักษณะคุกคามหรือเกินกว่าเหตุอันควรต่อสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

4. เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเรียกตรวจสอบเครื่องยืนยันสถานะผู้สื่อข่าวของสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมได้ โดยควรใช้ปลอกแขนที่ออกโดย 6 องค์กรวิชาชีพสื่อและบัตรยืนยันตัวตนที่ต้นสังกัดสื่อมวลชนออกให้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การเรียกตรวจสอบดังกล่าว ควรทำเฉพาะในกรณีที่มีเหตุอันควรและจำเป็นเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่ควรเรียกตรวจเอกสารยืนยันตัวบุคคลในลักษณะที่มีเจตนาคุกคามสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม

5. ในกรณีที่มีการทำร้าย คุกคาม หรือใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ไม่ว่าจากเจ้าหน้าที่หรือกลุ่มบุคคลใดๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรเร่งตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา พร้อมแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็ว และดำเนินการต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในทุกกรณี

6. ในกรณีที่มีการจับกุมคุมขังสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ผู้สื่อข่าวต้องได้รับสิทธิ์ในการติดต่อทนายความ ต้นสังกัด และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเพื่อขอใช้สิทธิ์ทางกฎหมายโดยไม่ชักช้า

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะปฏิบัติต่อสื่อมวลชนตามข้อเรียกร้องข้างต้น และทั้งสองสมาคมขอสงวนสิทธิ์พิจารณามาตรการต่างๆในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจละเมิดหรือเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องในจดหมายฉบับนี้ ซึ่งอาจรวมถึงการฟ้องร้องตามช่องทางในกระบวนการยุติธรรมด้วย

ทั้งนี้ สมาคมนักข่าวฯ ทั้งสองสมาคมยินดีให้ความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพและจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุมข้างต้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

13 ธันวาคม 2564 ”

[ กรรมการฝ่ายต่างประเทศและอุปนายกฝ่ายเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ]

7 ธันวาคม 2564 “นายธีรนัย จารุวัสตร์” กรรมการฝ่ายต่างประเทศและอุปนายกฝ่ายเสรีภาพสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์ในบัญชีเฟสบุ๊คตนเอง

“สื่อมวลชนมีหน้าที่และสิทธิ์ในการรายงานข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นเรื่องที่สังคมควรทราบ โดยเฉพาะการเข้าสลายการชุมนุมหรือจับกุมผู้ชุมนุม ดังนั้น ตำรวจจึงไม่ควรขัดขวางการเข้าพื้นที่หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนครับ อย่าลืมว่า #เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน ถ้าปิดกั้นการทำงานของสื่อ ก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นประชาชนไม่ให้รับทราบข่าวสาร

การเรียกตรวจสอบบัตรประจำตัวของสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม สามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุอันควรก่อน ต้องไม่ใช่เป็นการเรียกตรวจสอบในลักษณะคุกคามหรือข่มขู่ต่อผู้สื่อข่าว

นอกจากสื่อมวลชนแล้ว ประชาชนทั่วไปก็มีสิทธิ์ในการถ่ายภาพ ถ่ายคลิป และนำเสนอการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สังคมรับทราบ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”

และได้ปิดท้ายว่า ทุกประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น ตนและตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อได้พยายามสื่อสารกับตำรวจมาหลายครั้งแล้ว หวังว่าทางตำรวจจะนำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม

[ แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ]

เรื่อง ขอให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและเร่งรับฟังเสียงของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

“ตามที่ปรากฏเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเดินทางจากจังหวัดสงขลาเข้ามาปักหลักชุมนุม ณ บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงดึกของวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาลในการแก้ปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่เคยตกลงกันว่าจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วมก่อนดำเนินการโครงการ นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความห่วงใย โดยเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ธันวาคม 2564 นางปรีดา คงแป้น และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เข้าเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุมตัว ณ สโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดย กสม. เห็นว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กสม. จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้

1. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุมโดยไม่มีเงื่อนไข

2. เร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยเฉพาะในการดำเนินโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยตรง

3. อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์อื่น ๆ ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่

กสม. หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายและมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะรับฟังเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและอำนวยให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นสำคัญ ”


[ แถลงการณ์สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย ]

“แถลงการณ์ ให้ตำรวจหยุดบิดเบือนข้อตกลงองค์กรสื่อเพื่อปิดกั้นนักข่าวภาคสนาม และหยุดละเมิดเสรีภาพการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

จากกรณีการเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนเครือข่าย “จะนะรักษ์ถิ่น” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเมื่อคืนนี้(6 ธันวาคม 2564) ซึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้สื่อข่าวภาคสนามทั้งที่เป็นสื่ออิสระและมีสังกัดต่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนผลักดันให้ออกห่างจากชาวบ้าน ปิดกั้นไม่ให้ผู้สื่อข่าวและช่างภาพเข้าไปบันทึกภาพเหตุการณ์ขณะควบคุมตัวชาวบ้านโดยใช้เจ้าหน้าที่เป็นแนวกั้น เอาโล่บัง และยังใช้ไฟส่องสว่างแรงสูงฉายใส่กล้องบันทึกภาพของผู้สื่อข่าวเพื่อไม่ให้เห็นเหตุการณ์

เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งพูดใส่เครื่องขยายเสียงว่า “ไม่ได้ปิดกั้นการทำงานของสื่อไม่ว่าจะสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ แต่ขอให้ทุกท่านปฎิบัติตามเงื่อนไข ตามที่ตกลงกันไว้ทั้ง 6 องค์กรสื่อ ว่าจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง ตามที่ 6 องค์กรสื่อได้ให้คำแนะนำและความร่วมมือ เจ้าหน้าที่ต้องเคลียร์พื้นที่เพื่อดูแลความเรียบร้อย”

สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ Thai Media for Democracy Alliance (DemAll) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อที่เคยไปพบและทำความเข้าใจกับทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้วพบว่าไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่เป็นการอนุญาตให้สกัดกั้นล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน เป็นการกล่าวอ้างและบิดเบือนข้อมูล ใช้ภาพการพบปะพูดคุยกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อนำไปสนองประโยชน์กับฝ่ายอำนาจรัฐเท่านั้น

ทางสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย(DemAll) ขอประณามการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ลุแก่อำนาจเข้าสลายการชุมนุมของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นซึ่งมาปักหลักชุมนุมด้วยความสงบสันติปราศจากอาวุธ การปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชนซึ่งเป็นการละเมิดเสรีภาพของประชาชนที่ใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และขอประณามต่อการโกหกบิดเบือนข้อตกลงกับตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างปราศจากความละอาย สะท้อนความเป็นองค์กรใช้รับอำนาจเผด็จการโดยไม่เห็นหัวประชาชน ”

[ พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รองผบก.น.1 ชี้แจง “ไม่ทราบจริงๆ ว่ามีการส่องไฟใส่สื่อ คืนสลายการชุมนุมชาวจะนะ” ]

จากเหตุการณ์ของค่ำวันที่ 6 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกว่า 2 กองร้อย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง นำรถควบคุมผู้ต้องหา 2 คัน เข้ากระชับพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวบ้านในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หลังตั้งเต็นท์สร้าง “หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น” บริเวณแยกพาณิชยการ สะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ และมีการจับกุมชาวบ้านไปทั้งสิน 37 คน เป็นชาย 6 คน และหญิง 31 คน

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 “อภิสิทธิ์ ดุจคา” ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 (PPTV) ได้โพสต์ข้อความลงที่บัญชีเฟสบุ๊คตนเอง

“กมธ. การกฎหมาย เชิญหน่วยงานที่ชี้แจงกรณี สลายการชุมนุม เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 6 ธ.ค. หน้าทำเนียบรัฐบาล

13.45 น. พ.ต.อ.วิชัย แดงประดับ รองผบก.น.1 กล่าวในที่ประชุมว่า 'ผมเป็นตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในเหตุการณ์ในวันดังกล่าวและเป็นผู้รับผิดชอบ'

ผ่านไป 1 ชั่วโมง กมธ.ถามว่า 'วันดังกล่าวส่องสปอร์ตไลท์ใส่สื่อมวลชนใช่หรือไม่'

พ.ต.อ.วิชัย ตอบว่า 'ไม่ทราบจริงๆ ว่ามีเหตุการณ์นี้หรือเปล่า ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์' ”