"เชื่อว่าการปกป้องสถาบันด้วยกฎหมาย (หมายถึง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) แบบนี้ เป็นหลักสากล ในทุกๆประเทศที่มีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์ .. ถ้าคนอังกฤษวิจารณ์ควีนเอลิซาเบธที่2 ด้วยภาษาแบบนี้ คงติดคุกไปนานแล้ว"
ตอนหนึ่งที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ระบุในรายการ BBC Newsnight ซึ่งทันทีแกนนำกลุ่มไทยภักดีกล่าว 'โจนาธาน เฮด' พิธีกรผู้สัมภาษณ์ ตอบกลับทันที "นั่นไม่จริง เพราะในสหราชอาณาจักร คุณแทบสามารถพูดอะไรต่อควีนก็ได้ โดยไม่ติดคุก นั่นต่างกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย"
สหราชอาณาจักร ถือเป็นชาติต้นแบบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แม้ช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ของอังกฤษจะถูกเปลี่ยนผ่านมาแล้วหลายราชวงศ์ รวมถึงยังเคยผ่านเหตุการณ์ช่วงว่างระหว่างรัชกาล (Interregnum) ที่อังกฤษไร้กษัตริย์ครองบัลลังก์ แต่ท้ายที่สุดสถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษก็ได้รับการฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง และดำรงสถานะประมุขของรัฐ
ดังที่แกนนำกลุ่มไทยภักดีกล่าว สถาบันกษัตริย์ของสหราชอาณาจักร ไม่ต่างกับชาติอื่นๆ ที่มีกฎหมายหมิ่นองค์พระประมุข (lèse majesté) ในลักษณะที่คล้ายกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทย ที่เรียกว่า 'พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ. 1848' (Treason Felony Act 1848) แต่สิ่งที่ต่างกับ มาตรา 112 ของไทยคือ กฎหมายนี้ถูกใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1848 ตรงกับ พ.ศ 2422 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กฎหมายหมิ่นฯ ที่ว่าคือ มาตรา 3 ของพระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ 22 เม.ย. 1848 หรือตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2391 โดยครอบคลุมการกระทำความผิดตั้งแต่ การคิด, การกระทำ หรือมีความตั้งใจ ที่จะโค่นล้มพระมหากษัตริย์, ก่อสงครามต่อพระมหากษัตริย์, ยุยงหรือก่อการให้ต่างชาติรุกรานสหราชอาณาจักร หรือรัฐในเครือจักรภพที่กษัตริย์ปกครอง ทั้งกระทำการโดยซ่อนเร้นหรือโจ่งแจ้ง ถือมีความผิดทางอาญา
โทษสูงสุดในช่วงแรกที่กฎหมายบังคับใช้คือ 'ประหารชีวิต' แต่ไม่ปรากฎว่ามีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตหรือไม่ ต่อมาบทลงโทษถูกเปลี่ยนให้เป็นการเนรเทศไปยังออสเตรเลียซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมห่างไกลแทน ซึ่งไม่ต่างกับโทษจำคุกตลอดชีวิตในปัจจุบัน
ปี 2544 กฎหมายนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง จากการที่ 'เดอะ การ์เดี้ยน' สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นรณรงค์ประเด็นสาธารณรัฐในอังกฤษ ขอคำร้องจากอัยการสูงสุดว่าจะไม่มีการฟ้องร้องใดๆ เกิดขึ้นจากการตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลรูปแบบสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักร กรณีนี้สุดท้ายถูกนำขึ้นอุทธรณ์ในปี 2546 โดยสภาขุนนางลงมติ 'เอกฉันท์' ว่าการฟ้องร้องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น
'โยฮัน สเตย์น' หรือ บารอน สเตย์น (Baron Steyn) หนึ่งในสมาชิกสภาขุนนางขณะนั้นมีความเห็นในเรื่องนี้ว่า "มาตราที่ 3 ของพระราชบัญญัติที่ดูเหมือนจะลงโทษผู้ที่สนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐนั้น เป็นมาตรากฎหมายจากยุคสมัยที่ผ่านมาแล้ว และไม่เหมาะสมกับสถานะและระบบกฎหมายของสังคมสมัยใหม่"
ปี 2556 กระทรวงยุติธรรมอังกฤษ ได้ประกาศว่า มาตรา 3 พระราชบัญญัติความผิดอาญาฐานเป็นกบฏ ค.ศ. 1848 ไม่ได้ถูกใช้ในการดำเนินคดีกับผู้ใดเลยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2422 อยู่ลำดับที่ 309 ของบทลงโทษล้าสมัย ที่สมควรได้รับการยกเลิก อย่างไรก็ตาม ภายหลังกระทรวงยุติธรรมอังกฤษยอมรับว่า เกิดความผิดพลาดในการลิสต์บทลงโทษดังกล่าวอยู่ในลิสต์กฎหมายล้าสมัยที่ควรถูกยกเลิก โดยรัฐบาลอังกฤษ ยืนยันว่ากฎหมายนี้ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
ที่ผ่านมา หากเกิดกรณีการฟ้องหมิ่นฯ พระราชินี ศาลอังกฤษมักหยิบพระราชบัญญัติว่าด้วยการหมิ่นประมาท 1996 (Defamation Act 1996) ซึ่งไม่ปรากฏโทษความผิดฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ มีเพียงโทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ที่มีบทลงโทษเพียงการปรับเท่านั้น
สหราชอาณาจักรมีกฎหมายหมิ่นฯ องค์พระประมุข ลักษณะที่คล้ายกับ มาตรา 112 แต่สิ่งที่ต่างกันโดยสิ้นเชิงคือ กฎหมายดังกล่าวไม่ได้ถูกหยิบมาใช้ดำเนินคดีต่อบุคคลใดที่วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเวลานานกว่าศตวรรษแล้ว แม้ปัจจุบันจะยังมีกลุ่มนิยมสาธารณรัฐในประเทศ รวมถึงมีนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรบางรายที่พยายามรณรงค์เรื่อง 'สาธารณรัฐ' มาโดยตลอด แต่ความนิยมในราชวงศ์ของชาวอังกฤษ ภายใต้รัชสมัย ควีนเอลิซาเบธที่สอง ยังคงเพิ่มขึ้นทุกปี
ที่มา : The Guardian , SMH , The Guardian , legislation.gov