ไม่พบผลการค้นหา
'ธรรมนัส-ไชยา' นำผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร หลังเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 นายกฯ ย้ำ รบ.ให้ความมั่นใจจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีและมีความสุข

วันที่ 15 ม.ค. ร.อ.ธรรมนัส พรหมผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ และผู้บริหารกระทรวงฯ ร่วมพิธี Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร เป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ.2567 ซึ่งเปลี่ยนจากหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล 

สำหรับการ Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร วันนี้มีขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 25,000 ราย แต่ในส่วนบริเวณสถาน ที่จัดงานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร อ.บางไทย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ เข้าร่วม มีการมอบโฉนด แก่ตัวแทนเกษตร 11 จังหวัด จำนวน 1,000 ฉบับ 

โดยช่วงแรกมีการเปิด VTR สารจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ในนามของรัฐบาล ตนขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งกับเกษตรกรที่ได้รับโฉนดตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินเพื่อสร้างอาชีพรายได้และความมั่นคงในชีวิต รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิ์ในที่ดินและพิจารณาโฉนดดังกล่าว เพื่อนำไปต่อยอดให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อนำมาพัฒนาที่ดิน พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นในระยะยาว

ทั้งนี้ ตนขอขอบคุณกระทรวงเกษตรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งโฉนดที่ดินดังกล่าวนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล โดยขณะนี้มีโฉนดแล้วกว่า 2.1 ล้านไร่ ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะสามารถทำให้เกษตรเข้าถึงเงินแหล่งทุนต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เข้าถึง พร้อมขอให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสุขต่อไป

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวเปิดพิธี Kick off มอบโฉนดเพื่อการเกษตร ว่า นโยบายดังกล่าวเป็นผลมาจากรัฐมนตรีช่วยทั้ง 2 คน เจ้าที่กระทรวงเกษตรฯและเจ้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ถือเป็นสิ่งดีๆที่ทำให้กับเกษตรกรทั่วแผ่นดิน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น 

ส่วนการที่มา Kick off ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นจังหวัดประวัติศาสตร์ ที่คนไทยทุกรุ่นรู้ว่านี่นี่คืออดีตเมืองหลวง ตนเชื่อว่าทุกคนที่มาอยู่ในที่นี้และทุกคนที่อยู่ต่างจังหวัดในหลายพื้นที่อีก 56 จังหวัด ต่างมีความรู้สึกไม่ต่างจากตนที่ดีใจและรู้ว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งพวกเรา โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้กระทรวงเกษตร จะได้ประกาศว่าวันที่ 15 มกราคม 2567 เราทำได้แล้วในการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นหนึ่งให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตรสำหรับคนไทยทั้งแผ่นดิน

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ตนในฐานะลูกชาวนาที่เกิดมาในหมู่บ้านเล็กๆส่วนหนึ่งของจังหวัดพะเยา อยากจะบอกแม่ว่า ผมทำให้พี่น้องชาวนาได้แล้วครับ แต่ที่ผมทำได้ ไม่ใช่เพราะผมเก่งอยู่คนเดียว แต่ผมอยากจะเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งแผ่นดินปรบมือให้กับทีมงานทุกคน 

พร้อมย้ำว่าหลังจากเราเปลี่ยนจาก ส.ป.ก. 4-01 ให้เป็นโฉนดแล้ว สิ่งที่เราจะทำต่อคือการสร้างโอกาสให้กับคนไทยที่เราขนานนามว่าเป็น “กระดูกสันหลังของประเทศ” ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก ซึ่งเราไม่ต้องฝันอีกว่าคนไทยทุกคนจะต้องเป็นเศรษฐี แต่เราจะขอทำให้คนไทยที่เราขนานนามเขาว่า เป็นกระดูกสันหลังของประเทศ ไม่ให้มีหนี้ มีความสุข มีกินดีอยู่ดีและมีเงินออม เท่านี้ตนก็เชื่อว่าเขาก็มีความสุขแล้ว โดยเฉพาะภายใต้การนำของนายกฯเศรษฐา ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น3 เท่าภายใน 4 ปี แม้เป็นงานที่ท้าทายกระทรวงเกษตร แต่เราต้องทำได้ และนับตั้งแต่วันนี้ 15 มกราคม 2567 คนไทยส่วนใหญ่ 50 กว่าล้านคน จะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับสิทธิประโยชน์ในการเปลี่ยน หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยสิทธิประโยชน์ที่เกษตรกร จะได้รับจากโฉนดเพื่อการเกษตร มีดังนี้

1.เปลี่ยนมือได้ (โอนสิทธิ) สามารถโอนคืน ส.ป.ก. ได้ โดยโอนคืนให้ ส.ป.ก.ทั้งแปลงหรือบางส่วนได้ โดยได้รับค่าชดเชย หากเกษตรกรไม่ประสงค์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สามารถสละสิทธิ์ให้เกษตรกรอื่นที่มีคุณสมบัติตามกำหนด โดยสามารถเปลี่ยนมือให้แก่เกษตรกรอื่น ที่มีคุณสมบัติตาม ส.ป.ก. กำหนด

 2.เพิ่มวงเงินสินเชื่อ การเข้าถึงแหล่งทุนใหม่ สามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ โดยขยายวงเงินสินเชื่อให้กับเกษตรกร ที่ขอกู้กับ ธ.ก.ส. หรือใช้ไม้มีค่าที่ปลูกบนที่ดิน ค้ำประกันสินเชื่อให้เต็มวงเงิน 100% และสามารถขอสินเชื่อนโยบายจากกองทุน ส.ป. เต็มวงเงินตามราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์นอกจากนั้นยังเพิ่มแหล่งสินเชื่อใหม่ โดยการเจรจากับกรมส่งเสริมสหกรณ์ชุมนุมสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินอื่น

 3.สามารถใช้ค้ำประกันตัวบุคคล โดยเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถค้ำประกันตัวบุคคลทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นตาล โดยความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

4.สร้างรายได้ให้เกษตรกร เพิ่มทรัพย์สินโดยส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 10 ต้นต่อไร่ ซึ่งสามารถใช้ต้นไม้ค้ำประกันสินเชื่อ (โฉนดต้นไม้)และขาย Carbon Credit โดยความร่วมมือกับ กรมป่าไม้, ธ.ก.ส. และ อบก. 

และ 5.ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากรัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ซึ่งมีการทำ MOU 16 หน่วยงาน ด้านการพัฒนาอาชีพ และรับเงินซดเชยหรือเยียวยาภัยพิบัติ