ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ เร่งต่อยอดความร่วมมือกับสิงคโปร์ในมิติหลากหลาย เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจพัฒนาต่อยอดให้ทันสมัยร่วมกัน

วันที่ 12 ตุลาคม 2566 เวลา 11.00 น. (เวลาท้องถิ่นประเทศสิงคโปร์เร็วกว่าไทย 1 ชม.) ณ ทำเนียบประธานาธิบดี (Istana) ประเทศสิงคโปร์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีไทย จากนั้น นายกรัฐมนตรีเข้าเยี่ยมคารวะ ทาร์มัน ชันมูการัตนัม (H.E. Mr. Tharman Shanmugaratnam) ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และพบหารือทวิภาคีกับนายลี เซียนลุง (H.E. Mr. Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมคารวะประธานาธิบดีสิงคโปร์ โดยได้พูดคุยถึงความร่วมมือในมิติที่ทั้งสองประเทศมีศักยภาพ อาทิ พลังงาน อาหารและสินค้าเกษตร การเงิน การลงทุน โดยไทยหวังที่จะเชิญชวนและดึงดูดนักลงทุนด้าน Data Center ซึ่งจะมีส่วนช่วยต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สิงคโปร์ถือเป็นเพื่อนที่ดีและเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด ซึ่งไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อกระชับมิตรภาพและความร่วมมือในทุกด้านที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน โดยควรใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาความร่วมมือ 

โดยในการหารือกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ทั้งสองฝ่ายได้หารือที่มีความสนใจร่วมกัน ดังนี้

นายกรัฐมนตรีหวังที่จะขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนทวิภาคี ตลอดจนด้านเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมสีเขียว พันธบัตรสีเขียว และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง และยินดีที่เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศดีขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตอนนี้ไทยและสิงคโปร์พร้อมเดินหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งไทยและสิงคโปร์จะได้ร่วมกันยกระดับการเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวยินดีถึงการเชื่อมโยงระบบ PromptPay – PayNow ของทั้งสองประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก 

ทั้งสองฝ่ายยังให้ความสำคัญและพร้อมกระชับความร่วมมือด้านพลังงาน การเงิน (financial sector) รวมถึงด้านความมั่นคงทางอาหาร ไทยพร้อมที่จะสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารให้สิงคโปร์ โดยนายกรัฐมนตรียินดีที่จะอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจากไทย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกับความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจ จากแบบเดิมให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น เศรษฐกิจสีเขียว การค้า (trading) โดยในภูมิภาคอาเซียนมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการพัฒนา ทั้งนี้ ภาคเอกชนของไทยมีความตื่นตัวและพร้อมที่จะร่วมลงทุนในสาขาใหม่ๆ และพัฒนาต่อยอดธุรกิจเดิม อย่างไรก็ดี ความร่วมมือแบบเดิม (traditional cooperation) ก็ยังมีความสำคัญ มีความใกล้ชิด และมีบทบาทสำคัญต่อไทยและสิงคโปร์ ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรต้องเดินหน้าร่วมมือกันในการประชุม ASEAN-GCC เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องพูดคุย ทั้งด้านความมั่นคง และเศรษฐกิจ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เยือนไทยในโอกาสแรกที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก