ไม่พบผลการค้นหา
เป็นที่ยอมรับของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกแล้วว่า ในเวลานี้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว แต่คำถามใหญ่ที่ว่า แล้วเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่่างไร และเมื่อไร กลับยังไม่มีใครบอกได้ ก่อนจะถึงวันนั้น มาทำความรู้จักสัญลักษณ์การฟื้นตัวของเศรษฐกิจใน 5 สถานการณ์ คือ V, U, L, W และ 'Nike swoosh' กันก่อน

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกไม่ได้เถียงกันว่าเศรษฐกิจจะถดถอยหรือไม่อีกต่อไปแล้ว แต่กำลังเบนความสนใจไปที่รูปแบบการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นวิกฤตที่ดูเหมือนจะเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 2552 หรืออาจจะแย่ที่สุดตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยโมเดลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นมักถูกแทนด้วยสัญลักษณ์จากตัวอักษรภาษาอังกฤษ อาทิ ตัววี (V) ซึ่งหมายความว่า เมื่อเศรษฐกิจดำดิ่งไปจนถึงจุดต่ำสุด ก็จะฟื้นตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอาจเป็นไปได้ตามตัวอักษรยู (U), แอล (L), ดับเบิลยู (W) หรือแม้แต่เครื่องหมายถูก (/) ที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของแบรนด์ไนกี้

อย่างไรก็ตาม 'บรูซ คาสแมน' หนึ่งในผู้เขียนรายงานเศรษฐกิจของเจ.พี.มอร์แกน อธิบายว่า รูปแบบของกราฟที่จะออกมานั้นเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างเส้นทางของไวรัสกับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดและนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจ ดังนั้น ความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่มากทำให้ "เป็นเรื่องยากที่จะประเมินสถานการณ์โดยเฉพาะกับเรื่องอนาคต"


สถานการณ์และรูปแบบตัวอักษร 
  • รูปตัว V

ในสถานการณ์ที่โชคดีที่สุด การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุโรปและสหรัฐฯ จะเริ่มดีขึ้นในเดือน เม.ย.และ พ.ค. ส่งผลให้มาตรการกักตัวและเว้นระยะห่างทางสังคมถูกลดระดับลงไป หลังจากนั้นกระแสอุปสงค์ที่ถูกสะสมไว้ในช่วงการกักตัวจะถูกปล่อยออกสู่ระบบพร้อมแรงสนับสนุนจากนโยบายการเงินและการคลังมูลค่ามหาศาลที่รัฐบาลแต่ละประเทศประกาศใช้ออกมาก่อนหน้า 

ธุรกิจต่างๆ ที่ปิดตัวไปจะทยอยกลับมาเปิดอย่างราบรื่น รวมถึงปัญหาการว่างงานต่างๆ จะไม่เกิดขึ้นจากเม็ดเงินที่รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานไม่พุ่งสูงขึ้น และเศรษฐกิจกลับเข้าสู่สภาพเดิมก่อนที่จะเกิดวิกฤตครั้งนี้ โดยมีระดับผลผลิตที่ใกล้เคียงกับช่วงเริ่มต้นปี 2563 

สถานการณ์นี้ยังพอมีความหวังที่จะเป็นความจริงได้บ้าง เนื่องจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้สภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการของจีน ประเทศเศรษฐกิจอันดับที่ 2 ของโลก ประจำเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัว 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากหลายบริษัท รวมถึง 'ลอร์รี ฮู' จากแมคควอรีกรุ๊ป กลุ่มสถาบันการเงินจากออสเตรเลีย มองว่า การจะทำให้กราฟออกมาเป็นรูปตัววีได้ ทุกอย่างต้องดำเนินไปอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อโลกอยู่ท่ามกลางวิกฤตหลากหลายทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสที่ 2/2563, การแพร่กระจายของไวรัสที่อาจมากขึ้น, ภาวะเงินฝืดที่ปรับตัวแย่ลง ลามไปจนถึงตลาดสินทรัพย์ภายในประเทศที่มีปัญหา 

  • รูปตัว U

กรณีที่ 2 นี้ สถานการณ์จะไม่เข้าที่อย่างรวดเร็ว แต่ไวรัสจะยังคงระบาดต่อเนื่องในเดือนมิ.ย.รวมถึงรัฐบาลยังต้องบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคม และแม้ว่าจะมีอุปสงค์สะสมที่เข้าสู่ตลาดบ้างจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลและธนาคารกลาง แต่เม็ดเงินจากการจับจ่ายใส่สอยของผู้บริโภคจะยังหดตัวน้อยอยู่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการฟื้นตัวของโรงงานและสถานที่ต่างๆ ยังต้องใช้เวลาอยู่บ้าง และบางธุรกิจก็อาจพ่ายแพ้ให้กับวิกฤตโรคระบาดไปแล้ว

มิติของการค้าก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัวเต็มที่เช่นเดียวกันเนื่องจากคู่ค้าต่างๆ ก็ยังต้องการเวลาในการฟื้นธุรกิจขึ้นมาใหม่ ท้ายที่สุดสถานการณ์จะเริ่มกลับมาดีขึ้นแต่ต้องรอไปจนถึงช่วงปลายปี 2563 หรือนานกว่านั้น 

และเมื่อมองจากวิถีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน 'ชอง ฮุน พัค' หัวหน้าสถาบันวิจัยเศรษฐกิจเกาหลีใต้จากธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ส กล่าวว่า ความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจน่าจะเป็นตัวยูมากกว่าตัววี เพราะเศรษฐกิจจีนจะยังคงแย่ต่อไป และ "ไม่ได้มองโลกในแง่ดีขนาดที่จะเห็นว่าเราจะฟื้นตัวแบบตัววี ถ้าสถานการณ์การฟื้นตัวของจีนยังไม่ชัดเจนกว่านี้" 

  • รูปตัว L

ถ้าหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องเลยเดือนมิ.ย.ไป และแม้สถานการณ์จะดีขึ้นหลังจากนั้น แต่ก็มีความเป็นไปสูงที่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะอยู่กับโลกนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการฟื้นตัวต้องใช้เวลานานเช่นเดียวกัน 

ในกรณีเช่นนี้ ประชาชนจะตัดรายจ่ายในส่วนของบริการลงอย่างต่อเนื่อง ลดการบริโภค และลดการท่องเที่ยว มูลค่าหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนวิกฤตหรือระหว่างวิกฤตอาจจะจ่ายคืนได้ยากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหนี้เสีย (NPL) ไปจนถึงการล้มละลายของหลายบริษัท และนั่นจะส่งผลต่อระบบเครดิตทั้งหมดจนอาจทำให้ตลาดตราสารทุนฟื้นตัวกลับมาไม่ไหว ฝั่งรัฐบาลจึงจำเป็นต้องออกมาตรการใหม่มากระตุ้น แต่ก็ต้องใช้เวลาประมาณนึงในการจัดารอยู่ดี

โดย 'ร็อบ ซับบาราแมน' นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ ชี้ว่า การฟื้นตัวแบบตัวแอลเป็นรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดสำหรับสหรัฐฯ ขณะที่ 'อีริค บริตตัน' จากสถานบันให้คำปรึกษาแฟนธอม กล่าวว่า การตกฮวบที่ยืดยาวออกไปเป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงหากโควิด-19 กลับมาอีกครั้ง ซึ่งหมายความว่า สถานการณ์ถ้าไม่ออกเป็นรูปตัววี ก็น่าจะออกเป็นรูปตัวแอล และมีความเป็นไปได้น้อยที่จะอยู่ระหว่างกลาง

  • รูปตัว W

ในกรณีที่เป็นตัวดับเบิลยู หมายถึงเชื้อไวรัสกลับมาระบาดอีกครั้ง และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ในอังกฤษได้ออกมาเตือนว่ามาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดในหลายประเทศอ่อนลงไปเร็วกว่าที่ควรซึ่งเป็นการเปิดช่องให้ไวรัสกลับมาระบาดได้อีกครั้ง ซึ่งหมายความว่า มาตรการกักตัวหรือการเว้นระยะห่างทางสังคมจะถูกนำมาใช้อีกครั้ง และภาคธุรกิจและบริการต้องปิดตัวลงอีกรอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือการฟื้นตัวที่ตามมาด้วยการถดถอยอีกครั้ง 

'คีธ เวด' หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทจัดการข้ามชาติโชรเดอร์ ชี้ว่า "ปัจจัยเสี่ยงสำหรับรูปแบบการฟื้นตัวแบบวีคือโอกาสในการกลับมาของไวรัสในไตรมาสที่ 3/2563" ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงการมีภาวะถดถอย 2 ครั้ง และธุรกิจต้องปิดอีกรอบเนื่องจากมาตรการถูกนำกลับมาใช้เพื่อควบคุมโรค


  • รูปเครื่องหมายถูก หรือ 'ไนกี้' (Nike swoosh)

สำหรับสถานการณ์สุดท้าย ไม่ได้ถูกเปรียบเทียบกับตัวอักษรแต่เป็นเครื่องหมายถูก ที่ให้เกิดความคล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าของแบรนด์สินค้ากีฬาชื่อดังอย่างไนกี้ คือสถานการณ์ที่ธุรกิจต่างๆ รวมถึงการใช้จ่ายภาคครัวเรือนค่อยๆ กลับมาอย่างช้าๆ ระดับผลผลิตยังคงชะลอตัวต่ำกว่าระดับก่อนหน้าที่จะมีวิกฤต รวมถึงความกังวลด้านการใช้จ่ายของประชาชนยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครัวเรือนที่มีภาระหนี้สิน 

'โฮลเกอร์ ชไมดิง' และ 'คูลลัม พิกเคอริง' 2 นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเบเรนเบิร์ก ในเยอรมนี สะท้อนในรายงานว่า "การตกลงที่รวดเร็วจะตามมาด้วยการปรับตัวดีขึ้นแบบเนิบๆ และในท้ายที่สุดระดับของจีดีพีก็จะปรับตัวสูงขึ้นกว่าตอนก่อนมีวิกฤต" โดยทั้ง 2 ประเมินว่าสถานการณ์การฟื้นตัวนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาราว 2 ปีต่อจากนี้

อ้างอิง; Bloomberg, BI, HBR, Reuters