ไม่พบผลการค้นหา
“หมอระวี” สวมบทพ่อหมอ ทำนายพรรคใหญ่จัดตั้งรัฐบาล หาก พปชร. ดึง “มิ่งขวัญ” ไม่สำเร็จ ภ.ท. - ปชป.มีสิทธิตั้ง "รัฐบาลคนกลาง" ดัน "เสี่ยหนู" ขึ้นนั่งนายกฯ

นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ว่า สามารถเกิดรัฐบาลได้ 4-5 รูปแบบ คือ 1 รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ ซึ่งได้มีการประกาศร่วมกัน 6 พรรค คะแนนทั้งหมดประมาณ 240 เสียง แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำให้ปลอดภัย ต้องหาคะแนนให้ได้มากกว่า 376 เสียง ส.ส. ซึ่งเป็นไปได้ยากพอสมควร

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ในแบบที่ 2 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยร่วมกับพรรคอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมด รวมถึงพรรคเศรษฐกิจใหม่ด้วย ยกเว้นพรรคที่ไปร่วมลงสัตยาบันกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะทำให้มีคะแนนทั้งหมด 259 คะแนน โดยมีฝ่ายค้าน 6 พรรค ในฝั่งของพรรคเพื่อไทย 240 เสียง โดยถ้าประผลความสำเร็จ ก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 19 เสียงเท่านั้น น่าจะเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด

“การที่มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านเพียง 19 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพพอ ถ้าสมมุติว่า พรรคพลังประชารัฐดำเนินการตามรูปแบบนี้ได้ พรรคพลังประชารัฐอาจจะก้าวสู่การสร้างเสถียรภาพมากขึ้น โดยอาจจะเป็นรัฐบาลแบบที่ 2 พลัส ก็คือ รวมพรรคประชาชาติด้วย พรรคพลังประชารัฐต้องพยายามหาเสียง ส.ส. ให้ได้มากขึ้น ถ้าชวนพรรคประชาชาติที่มีทั้งหมด 7 เสียงเข้ามาร่วมได้ ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงทั้งหมด 266 เสียง ฝ่ายค้านเหลือ 233 เสียง แบบนี้ก็จะมีเสถียรภาพมากขึ้น” นพ.ระวี กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีงูเห่าที่เคยเกิดขึ้นในการจัดตั้งรัฐบาลหลาย ๆ สมัย นพ.ระวี กล่าวว่า อาจจะมีการดึงงูเห่าเกิดขึ้น ซึ่งลักษณะแบบนี้ไม่ค่อยเป็นผลดี นั่นหมายความว่าพรรคพลังประชารัฐ อาจจะต้องดึงงูเห่ามาจาก 5 พรรคที่เหลือ อาจจะมาจากพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อชาติ หรือมีส่วนหนึ่งของพรรคอนาคตใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีงูเห่าซึ่งสมมุติว่า ดึงมาได้ 10 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลงูเห่ามีเสียงทั้งหมด 276 เสียง ฝ่ายค้านมีท้งหมด 223 เสียง

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า ในวันนี้สถานการณ์การเมืองไทย คงต้องจับตาไปที่ศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเรื่อง ส.ส.สัดส่วน ถ้าสมมุติการวินิจฉัยออกมาในรูปแบบที่ กกต.เห็นชอบ ก็จะทำให้มีมีเสียงของพรรคเล็กทั้งหมด 13 พรรค ซึ่งจะทำให้เสียงของพรรคพลังประชารัฐมีมากขึ้น แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้อีกแบบหนึ่ง เสียงของฝ่ายนี้ก็จะลดน้อยลง และถ้าสมมุติว่าพรรคพลังประชารัฐทำไม่สำเร็จ เช่น พรรคเศรษฐกิจไม่มาร่วม พรรคประชาชาติไม่มาร่วม พรรคประชาธิปัตย์มีมติออกมาอยู่เป็นกลางๆ ฝ่ายค้านอิสระ หรืออย่างไรก็แล้วแต่ ทำให้พลังประชารัฐ ไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง หน้าตารัฐบาลก็จะออกไปในอีกรูปแบบหนึ่ง 

“ผมคาดว่าหากพลังประชารัฐล้มเหลวในการรวบรวมเสียง ซึ่งหมายถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีโอกาสเป็นนายก นั่นอาจจะเกิดรัฐบาลคนกลาง หมายถึง พรรคอันดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย และ พรรคอันดับที่ 2 พรรคพลังประชารัฐ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็เป็นหน้าที่ของพรรคลำดับถัดไป ก็มี พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เท่าที่ดูสถานการณ์ตอนนี้ น่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย ร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ ถ้าสองพรรคนี้ที่จับมือเป็นแกนนำรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า รัฐบาลคนกลาง ซึ่งจะต้องเอาทั้งสองกลุ่ม หมายถึงว่า เอาทั้งกลุ่มเพื่อไทย และ กลุ่มพลังประชารัฐมาร่วมกัน

ประกอบด้วย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ส่วนทางด้านพลังประชารัฐ จะมี พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรครักผืนป่าประเทศไทย และ พรรคเล็กอีก 12 เสียง ต้องรวมทั้งหมด 282 เสียง เหลือพรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ เป็นฝ่ายค้าน 211 เสียง ด้วยกระบวนการนี้ จะเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 รัฐบาลคนกลาง มีนายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือ คนของประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี”นพ.ระวี กล่าว 

นพ.ระวี ยังกล่าวต่อว่า ซึ่งถ้าพลังประชารัฐไม่ยอมก็อาจเกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ อาจจะขาดพรรคเศรษฐกิจใหม่ ขาดพรรคใหญ่ไป แต่มีเสียง ส.ส. เกิน 126 เสียง รวมกับ ส.ว. เกิน 376 เสียง สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามว่า นี้จะมีการชุมนุมประท้วงหรือไม่ ตนไม่มั่นใจ รัฐบาลอาจอยู่ได้ 6-8 เดือน ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ มีการผ่านพรบ.งบประมาณ รัฐบาลอาจจะต้องยุบสภา

“และแบบสุดท้าย ที่มีโอกาสเป็นไปได้ คือ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ รวมทุกพรรคเข้ามาเป็นรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งมีหลายพรรคออกข่าวไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดองขึ้น แม้จะมีการแถลงในรูปแบบนั้น ถ้าผลสุดท้ายทางออกที่ 1-4 เกิดขึ้นไม่ได้ ก็อาจเห็นรัฐบาลแห่งชาติ เกิดขึ้นมาได้แม้หลายพรรคจะไม่เห็นด้วย แต่เป็นรัฐบาลที่มีภารกิจเฉพาะซึ่งต้องมีการตกลงทุกๆพรรค เช่น จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ตรงหมวดใดบ้าง แก้ พรป.เลือกตั้งในหมวดใดบ้าง ซึ่งอาจจะมีอายุ 1-2 ปี เพื่อให้ภารกิจเสร็จสิ้น จากนั้นให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือว่าไม่เป็นประตูปิดตาย แม้มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก”

นพ.ระวี กล่าวต่อว่า โดยหลักการหากมีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย พลังพรรคธรรมก็ไม่เห็นด้วยที่จะมีรัฐบาลแห่งชาติ แต่เนื่องจากผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งสองค่ายมีจำนวนเสียงที่ใกล้เคียงกัน เป็นรัฐบาลปริ่มน้ำ ตามที่ได้มีการนำเสนอไปแล้วว่า จะเป็นรัฐบาลแบบที่ 1 พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หรือ รัฐบาลแบบที่ 2 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ

ถ้าทั้งสองพรรคไม่ประสบผลสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่สามารถได้เสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพได้ อาจเกิดรัฐบาลแบบที่ 3 รัฐบาลคนกลาง คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนนำในการรวบรวมทั้งสองฝ่ายมารวมตัวกัน เป็นรัฐบาลคนกลาง มีเพื่อไทย และ อนาคตใหม่เป็นฝ่ายค้าน แต่ถ้าแบบที่ 3 เกิดไม่ได้ มันก็อาจเกิด รัฐบาลเสียงข้างน้อย พรรคพลังประชารัฐรวมกับ ส.ว ปัญหาที่จะเกิดขึ้น ก็คือ 

1.มีการยุบสภาในเร็ววันประมาณ 6 เดือน ถ้ามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือ มีการอภิปรายพรบ. งบประมาณ

2.ไม่มั่นใจในความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง มีการปลุกม๊อบเพื่อคัดค้าน ส.ว. มาร่วมโหวตทำให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ ทำให้รัฐบาล ประเทศไม่มีเสถียรภาพ

โอกาสแบบที่ 5 การเกิดรัฐบาลแห่งชาติ อาจเกิดขึ้นได้ในภาวะการเมืองที่วิกฤติ ซึ่งรัฐบาลปรองดองจะรวมทุกฝ่ายเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล มีภารกิจเฉพาะร่วมกัน แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ แก้ตรงหมวดใดบ้าง แก้ พรป.เลือกตั้งในหมวดใดบ้าง รัฐบาลแห่งชาติจะมีอายุ 1-2 ปี จากนั้นให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่หลังเสร็จสิ้นภารกิจเสร็จสิ้นตามข้อตกลง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบการดำเนินการตามครรลองประชาธิปไตย ไม่สามารถเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ

โดยทางเลือกเหลือรัฐบาลเสียงข้างน้อย กับ รัฐบาลแห่งชาติ เปรียบเทียบท่านจะเห็นว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยอาจมีปัญหาแบบที่ผมพูดมา แล้วถ้ายุบสภา ต้องเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม ภายใต้กฎระเบียบเดิม ซึ่งไม่มั่นใจว่าเลือกใหม่ คะแนนที่ออกมาจะเหมือนเดิมอีกหรือไม่กับยอมให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งใหม่ อาจเป็นทางออกใหม่ของสังคมไทยที่ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพตามมาได้ 

ดังนั้นในส่วนตัว แม้จะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแห่งชาติ แต่ถ้าถึงความจำเป็นของบ้านเมือง ผมคิดว่า โอกาสที่เกิดรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสักช่วงหนึ่งก็เป็นได้