ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำรัฐประหาร 'กินี' สัญญาจะเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน ยืนยันจะไม่เอาผิดหรือล้างแค้นศัตรูทางการเมือง นานาชาติกดดันเร่งวางกรอบการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจน

หลังการก่อรัฐประหารในประเทศกินีเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่อโค่นล้มอำนาจประธานาธิบดีอัลฟา คอนเด และล้มล้างรัฐธรรมนูญที่คอนเดผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อได้เป็นสมัยที่ 3 จากเดิมที่ผู้นำสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เพียง 2 สมัยเท่านั้น 'พันเอกมามาดี ดูมบูยา' อดีตผู้บัญชาการหน่วยพิเศษของกองทัพกินีและผู้นำคณะรัฐประหาร ผู้ตั้งตนเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของกินี เปิดเผยความเคลื่อนไหวล่าสุดในการเปลี่ยนผ่านอำนาจ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในการประชุมร่วมกับบรรดารัฐมนตรีของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีคอนเด พันเอกดูมบูยากล่าวว่า ต่อจากนี้จะมีการปรึกษาหารืออย่างจริงจังเพื่อกำหนดกรอบการเปลี่ยนผ่านอำนาจที่ชัดเจน โดยจะมีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นเพื่อเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านนี้

"หลังขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านอำนาจสิ้นสุดลงเราจะกำหนดทิศทางในการปกครองและการบริหารงานด้านเศรษฐกิจกันใหม่สำหรับยุคสมัยใหม่ของกินี" ผู้นำรัฐประหารกล่าว โดยไม่มีการระบุว่ารายระเอียดของการเปลี่ยนผ่านว่าจะเป็นอย่างไร และยังไม่มีการเปิดเผยวันเวลาที่กินีจะกลับเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยหรือมีการเลือกตั้ง

ดูมบูยาย้ำว่า 'ความยุติธรรม' จะเป็นสิ่งนำทางสำหรับการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ กระบวนการต่างๆ จะดำเนินไปโดยไม่มีการใช้ความโกรธเกลียดมาล้างแค้นศัตรูทางการเมือง พร้อมย้ำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีคอนเดส่งมอบเอกสารการเดินทางทั้งหมดให้กับคณะรัฐประหาร เพื่อเป็นประกันว่าพวกเขาจะไม่เดินทางออกนอกประเทศระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ขณะที่ตัวอดีตผู้นำคอนเดยังได้รับการดูแลระหว่างถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัว

ต้นตอคือการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้นำ 'อยู่ในอำนาจต่อ'

ประธานาธิบดีคอนเดของกินีคือผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของประเทศ เขาชนะเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2553 และชนะในสมัยที่ 2 ในปี 2558 

สำนักข่าวอัลจาซีรารายงานว่าปัญหาที่นำไปสู่การนองเลือกคือการที่คอนเดชนะเลือกตั้งอีกครั้งในสมัยที่ 3 ท่ามกลางความขัดแย้งอันรุนแรงในการเลือกตั้งเมื่อเดือน ต.ค.ของปีที่แล้ว เพราะความพยายามผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือน มี.ค.2563 ที่อนุญาตให้เขาสามารถอยู่ต่อในตำแหน่งได้ จากเดิมที่วาระการดำรงตำแหน่งคือเพียงแค่ 2 สมัยเท่านั้น 'ไม่ใช่ 3 สมัย'

เหตุการณ์นั้นทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมารวมตัวกันประท้วง ประชาชนหลายสิบรายถูกสังหารโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่ผู้ประท้วงจำนวนหลายร้อยคนถูกจับกุม หลังจากนั้นประธานาธิบดีคอนเดในวัย 83 ปี ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อเป็นสมัยที่ 3 ในวันที่ 7 พ.ย. 2563 ไม่สนคำครหาจากคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญจากพรรคฝ่ายค้านหลายคน และการคัดค้านของประชาชน

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมในวันนี้ ประชาชนและคนรุ่นใหม่จำนวนมากตัดสินใจลงถนน เต้นรำอย่างมีความสุดเพื่อต้อนรับ 'กลุ่มทหารติดอาวุธ' 

อย่างไรก็ตาม นานาชาติต่างประณามการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นรัฐประหารครั้งที่ 3 แล้วสำหรับภูมิภาคแอฟริกากลางและตะวันตกนับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา สร้างความกังวลใจให้หลายฝ่ายว่าการปกครองในภูมิภาคจะกลับไปอยู่ในอำนาจของทหารดังเช่นในยุคทศวรรษที่ 1990 อีกครั้ง นานาประเทศจึงเร่งออกแถลงการณ์กดดันให้ผู้นำรัฐประหารประกาศกรอบแนวทางในการคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว และให้คำมั่นต่อบรรดานักลงทุนว่าอุตสาหกรรมการส่งออกแร่ของกินีจะไม่ถูกยกเลิก