ในช่วง 5 - 10 ปีที่ผ่านมา การขายอาหารสตรีทฟู้ดรูปแบบใหม่บนรถดัดแปลง หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ฟู้ดทรัค' ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยมีรถฟู้ดทรัคกว่า 1,500 คันทั่วประเทศ โดยร้อยละ 70 อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะอีกร้อยละ 30 กระจายตัวอยู่ในส่วนภูมิภาค เมื่อดูความนิยมประเภทอาหารที่ขายบนฟู้ดทรัคทั่วประเทศพบว่า ร้อยละ 57 เป็นอาหารคาว ร้อยละ 29 เป็นเครื่องดื่ม และร้อยละ 14 เป็นอาหารหวาน
ล่าสุดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับ 7 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร กรมอนามัย สถาบันอาหาร สถาบันยานยนต์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และกรมการขนส่งทางบก ร่วมจัดโครงการ 'สมาร์ทฟอร์ฟู้ดทรัค' (Smart 4 Food Truck) เพื่อยกระดับและส่งเสริมอุตสาหกรรม
การร่วมมือกันครั้งนี้อยู่ภายใต้หลักการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและชีวอนามัยของ 4 ส่วน ได้แก่ คน ครัว รถ และ ตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการอบรมไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยผู้ที่เข้ารับการอบรมจะต้องสอบให้ผ่านเพื่อการจบหลักสูตร
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมอุตสาหกรรมอยากสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้พร้อมสู่สนามการดำเนินธุรกิจจริงในตลาด อีกทั้งยังเสริมว่า โดยปกติแล้วการจะดำเนินธุรกิจฟู้ดทรัคต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท และผู้ประกอบการอาจจะต้องเผชิญหน้ากับอัตราดอกเบี้ยในช่วงร้อยละ 6 ซึ่งทางกรมฯ ได้จัดการประสานงานให้ผู้เข้าร่วมโครงการเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4 เท่านั้น
เป้าหมายระยะยาวของการพัฒนาอุตสาหกรรมฟู้ดทรัคในครั้งนี้คือการเพิ่มจำนวนรถฟู้ดทรัคในท้องตลาดให้เพิ่มขึ้นเป็น 3,500 คันภายใน 5 ปี ซึ่งคาดว่าจะก่อให้เกิดมุลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,260 ล้านบาท