ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยซึ่งดูเหมือนจะฟื้นตัวขึ้นบ้างในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อาจต้องกลับไปหดตัวอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประชาชนและภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยกำลังต้องการความมั่นใจว่าหากเกิดผลกระทบขึ้นจริง ภาครัฐจะสามารถช่วยเหลือพวกเขาได้
แม้ยังไม่มีแนวนโยบายความช่วยเหลืออย่างชัดเจน ล่าสุด วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยถึงมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ว่ามีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถป้องกันภาวะหนี้เสียสูงได้จริง
แบงก์ชาติ ชี้ว่า ภาพรวมลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือทยอยลดลงจาก 7.2 ล้านล้านบาท ในเดือน ก.ค. 2563 ลงมาเป็น 6 ล้านล้านบาท ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา อีกทั้ง เมื่อครบกำหนดมาตรการการพักชำระหนี้ ลูกหนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือต่อ และสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการช่วยเหลือที่เกิดขึ้นมีสัดส่วนเป็นลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ประมาณ 55% และเป็นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 45%
เมื่อจำแนกลึกลงไปในฝั่งของธนาคารพาณิชย์ ผู้เข้ารับความช่วยเหลือราว 63% เป็นลูกหนี้ในฝั่งธุรกิจ ขณะที่อีก 37% เป็นลูกหนี้รายย่อย โดยในฝั่งธุรกิจนั้น ราว 66% จากผู้เข้ารับความช่วยเหลือทั้งหมด สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข ขณะที่อีก 32% ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้ มีลูกหนี้อีกราว 2% ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางเพราะไม่สามารถติดต่อได้ (คิดเป็นวงเงินประมาณ 30,000 ล้านบาท)
นอกจากนี้ ในฝั่งลูกหนี้รายย่อย ผู้เข้ารับความช่วยเหลือ 70% สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลง ขณะที่ 29% ต้องปรับโครงสร้างหนี้ และอีก 1% ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถติดต่อได้ (คิดเป็นวงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;