ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงที่ผ่านมา มักมีข่าวเกี่ยวกับ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' หรือ 'บัตรคนจน' ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อปี่กลองการเลือกตั้งดังขึ้น แถมรัฐบาล คสช. ยังโหมออกมาตรการในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีที่แล้ว ยิ่งเรียกก้อนอิฐจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ต่างมองกันว่า รัฐบาลกำลังใช้งบประมาณ "หาเสียงล่วงหน้า" เพื่อหวัง "สืบทอดอำนาจ"

ก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่า ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็ออกมาแก้ข่าวว่า รัฐไม่มีนโยบายจำกัดสิทธิดังกล่าว แต่การดำเนินธุรกรรมทางการเงินขึ้นกับสถาบันการเงินที่จะพิจารณาจากความสามารถของลูกค้าแต่ละราย

ล่าสุด ก็มีข่าวว่า เงินจะหมดภายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนนี้แล้ว เล่นเอาชาวบ้านที่ถือบัตรดังกล่าวอยู่ ใจคอไม่ดี เพราะไม่รู้ว่า เงินยังจะ "เติม" เข้าบัตรต่อเนื่องทุกเดือนเหมือนเดิมหรือไม่ ขณะที่รัฐบาล คสช. เองก็เกรงว่า จะถูกนำไปเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองในช่วงที่ทุกพรรคกำลังต่อสู้เชือดเฉือนกันอย่างดุเด็ดเผ็ดมันในเวลานี้

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

กรมบัญชีกลางแจงขอจัดสรรงบประมาณเพิ่ม อุด 4 มาตรการเสริม วงเงิน 38,730 ล้าน

อย่างไรก็ตาม มีคำอธิบายมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างกรมบัญชีกลาง ว่าสาเหตุที่ต้องขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา (ปลายปี 2561-ต้นปี 2562) รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมหลายมาตรการ

  • มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ครัวเรือนละ 230 บาทต่อเดือน และค่าน้ำประปา ครัวเรือนละ 100 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 เดือน
  • มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท
  • มาตรการช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย (65 ปีขึ้นไป) คนละ 1,000 บาท
  • มาตรการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คนละ 400 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 10 เดือน

เบ็ดเสร็จแล้วทั้ง 4 มาตรการนี้ ต้องใช้งบประมาณ 38,730 ล้านบาท จากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (เดิม)

ขณะที่ ในปีงบประมาณ 2562 (1 ต.ค.2561-30 ก.ย.2562) รัฐบาล คสช. ได้จัดสรรงบประมาณใส่ไว้ในกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากดังกล่าว เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมว่า นอกจากทั้ง 4 มาตรการนี้แล้ว ยังมีการ "เติมเงิน" เข้าบัตรทุกเดือน เพื่อให้ผู้ถือบัตรสามารถนำไปใช้จ่ายได้ใน 2 หมวด

หมวดการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ได้แก่ 1) วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตดุดิบเพื่อการเกษตรจากร้านธงฟ้า โดยผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/คน/ปี จะได้รับ 300 บาท/คน/เดือน ส่วนผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท จะได้รับ 200 บาท/คน/เดือน และ 2) วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3เดือน

หมวดการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้แก่ 1) วงเงินค่าโดยสารรถเมล์/รถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน 2) วงเงินค่าโดยสารรถ บขส. 500 บาท/คน/เดือน และ 3) วงเงินค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน

บัตรคนจน-บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-บัตรแมงมุม

ในส่วนนี้ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะต้องได้รับการเติมเงินคนละ 1,600-1,700 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะต้องได้รับการเติมเงินคนละ 1,700-1,800 บาทต่อเดือน คิดเป็นงบประมาณที่ภาครัฐต้องเติมเข้าบัตรประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อเดือน

ม.ค.-มิ.ย. 2562 เติมเงินเข้าบัตรจากมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ อีก 4,370 ล้าน

อีกทั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบให้ดำเนิน "มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2" อีก 6 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2562 ซึ่งจะต้องเติมเงินเข้ากระเป๋าผู้ที่เข้าร่วมโครงการ 100/200 บาทต่อคนต่อเดือน เบ็ดเสร็จใช้งบประมาณ 4,370 ล้านบาท หรือ ราว 728 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นงบประมาณจากกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่มีเหลืออยู่

"อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลัง กล่าวว่า การขอตั้งงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตอนที่ทำมาตรการต่าง ๆออกมา รัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าต้องใช้เท่าไหร่ ดังนั้นการจะขอตั้งงบประมาณเพิ่มจึงอยู่ในแผนอยู่แล้ว เพียงแต่พระราชบัญญัติการจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 เพิ่งมีผลบังคับใช้ ซึ่งงบประมาณที่จะใส่เข้ามาในกองทุนนี้ แต่ละปีก็อาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นกับว่ารัฐบาลขณะนั้นจะมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างไรบ้าง


"เงินที่จะใส่เข้ากองทุน จะใส่ตามภาระงบประมาณ ซึ่งแต่ละปีจะไม่เท่ากัน เพราะแต่ละปีก็จะมีมาตรการไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน" นายอภิศักดิ์กล่าว


ขณะที่ "สุทธิรัตน์ รัตนโชติ" อธิบดีกรมบัญชีกลาง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ทางสำนักงบประมาณจะจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม โดยโยกงบประมาณมาจากที่เหลือค้างจ่ายจากส่วนต่าง ๆ มาให้

คนไม่จนเอาบัตรคนจนไปทำอะไร ?

งบประมาณบาน เหตุเพิ่มผู้ถือบัตร 3.1 ล้านราย ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน

ฟากแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีการขยายโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ทำให้ต้องมีการจัดทำบัตรสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยอีก 3.1 ล้านราย โดยทางกระทรวงการคลัง เตรียมแผนที่ขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมอีกราว 30,000 ล้านบาทไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา ต้องรอให้ "กองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม" (ตามกฎหมายใหม่) มีผลบังคับใช้ก่อน จึงจะสามารถขอตั้งงบประมาณมาใส่ได้

"พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม พ.ศ. 2562 เพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2562 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เมื่อ 4 มี.ค. 2562 ตอนนี้จึงสามารถขอตั้งงบประมาณมาใส่ได้แล้ว ซึ่งคาดว่า คงจะขอใช้งบกลาง รายการใช้จ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน ที่เป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง เห็นว่า การมีกฎหมายออกมารองรับการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แถมยังกำหนดว่า ต้องดำเนินการผ่าน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ด้วย น่าจะทำให้ไม่มีรัฐบาลไหนกล้ามายกเลิกนโยบายนี้ เพียงแต่รูปแบบมาตรการ "ไส้ใน" ก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละพรรค

หลังวันที่ 24 มีนาคมนี้ คงเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :