ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' จวก 'ประยุทธ์' ไร้มารยาททางการเมือง เหตุตั้ง 'พีระพันธุ์' เป็นเลขาฯ ชี้อำนาจเหมือน 'นายกฯ น้อย' ทั้งที่อยู่คนละพรรค ลั่นไม่ใช่นายกฯ แล้วจะทำอะไรก็ได้

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.สงขลา แปลกใจที่นำเลขานายกฯ คนใหม่ ไปด้วย อ้างว่ายังไม่ได้เตรียมตัว แต่ตนสังเกตว่าการตั้งหัวหน้าพรรคการเมืองมาเป็นเลขาธิการนายกฯ ทำหน้าที่แทนนายกฯ ได้ แต่มารยาททางการเมืองในมุมมองของตนมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากคนที่เป็นเลขานายกฯ เหมือน 'นายกฯ น้อย'

สมคิด มองว่า การแต่งตั้งคนที่เป็นนักการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ในขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐ ย้ำว่าตนไม่ทราบระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าลักษณะนี้จะเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่

สมคิด ยังระบุว่า ตนมีเรื่องแคลงใจคือ เมื่อใกล้ถึงเวลาเลือกตั้ง และอายุสภาฯ เหลืออีกแค่ไม่ถึง 4 เดือน การแต่งตั้งลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่เอาเปรียบ เพราะคนเป็นเลขาฯ นายกฯ สามารถอนุมัติได้หลายเรื่องแทนนายกฯ 

“นายกรัฐมนตรี ไม่มีมารยาททางการเมือง ไม่ใช่มีอำนาจจะทำอะไรก็ได้โดยไม่มองพรรคการเมืองอื่น ใช้อำนาจจนเกินเลย ตนหมั่นไส้” สมคิด กล่าว


'ชลน่าน' อัด 'ประยุทธ์' ไม่เห็นหัวประชาชน

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า เรื่องนี้เป็นไปตามที่เราคาด เพราะมีการลาออกของอดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดิสทัต โหตระกิตย์ และแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาแทน พีระพันธุ์ก็มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกฯ อยู่แล้ว 

"หากถามว่าทำได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าทำได้ ไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะไปห้ามว่าไม่ควรตั้ง หรือห้ามแต่งตั้ง แต่หากถามว่าเหมาะสม สมควรหรือไม่ ก็ต้องถามว่าตั้งไว้เพื่อการใด อายุของรัฐสภาจะหมดอายุลงวันที่ 23 มี.ค. 2566 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน การเปลี่ยนแปลงบุคลากรของรัฐ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญเช่นนี้ โดยสามัญสำนึกแล้ว มันไม่เหมาะสม"

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า โดยเฉพาะคนที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯคนเดิม เป็นคนที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งไม่มีข้อบกพร่องใดๆ แต่กลับเปลี่ยนออก เพราะฉะนั้น วัตถุประสงค์ของการแต่งตั้ง ก็เชื่อได้เลยว่าไม่เกี่ยวกับหน้าที่และการทำงานที่ควรจะเป็น เลยสามารถทำให้มองได้ว่า เป็นเรื่องของการเมือง เป็นการเอื้ออำนวยให้กับพรรคการเมือง ที่มีข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปอยู่ด้วย

“การกระทำเช่นนี้ก็เหมือนกับว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นหัวของประชาชน เป็นการใช้หน้าที่ในการเอาเปรียบทางการเมือง มันไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” นพ.ชลน่าน กล่าว

เมื่อถามว่าจะเข้าข่ายการครอบงำพรรคการเมืองหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การตีความมาตรานี้ หากพรรคการเมืองยินยอมให้บุคคลภายนอกมาครอบงำ ชี้นำ ในการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง โดยเฉพาะทำให้สมาชิกขาดความเป็นอิสระ ก็ถือว่าเป็นการครอบงำ

ด้าน ไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมาธิการการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ตนอยากตั้งข้อสังเกตุในประเด็นดังกล่าว โดยจะทำให้เห็นว่า มีการใช้งบประมาณโดยเฉพาะงบกลางที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี จากนี้ไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ว่า แม้ระเบียบวิธีการปฏิบัติ ในการอนุมัติงบประมาณ จะเป็นอำนาจและมีระเบียบวิธีปฏิบัติของสำนักงบประมาณก็ตาม แต่ปรากฏว่าการใช้งบประมาณดังกล่าว ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับทราบ และอนุมัติ ทั้งนี้ก็มีหลายโครงการ ที่ส่อไปในทางทุจริต 

ไชยา กล่าวต่อว่า โดยในวันพรุ่งนี้(22 ธ.ค.) ตนจะลงนามหนังสือของกรรมาธิการติดตามงบฯ ไปถึงสำนักงบประมาณให้รายงานการใช้งบกลางที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในแต่ละสัปดาห์มาให้กรรมาธิการฯ ได้รับทราบ เพราะวิธีปฏิบัติของสำนักงบประมาณก็ทำเหมือนงบกลางเป็นงบราชการลับ ซึ่งงบนี้ไม่ใช่งบราชการลับ แต่เป็นงบประมาณที่จะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่า งบประมาณโดยการอนุมัติของ ครม. ต้องสามารถตรวจสอบและติดตามได้ แต่ที่ผ่านมางบกลางกว่าจะได้มา อาจจะไม่ทันการ เพราะเป็นขั้นตอนตามอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องสั่งการให้สำนักงบประมาณเป็นคนให้ข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ