ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ระบุว่า ยังไม่ได้มอบหมายงานใดๆ ให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ จึงต้องจับตาว่า ‘บทบาท’ จากนี้ เพราะในยุค คสช. ‘บิ๊กโจ๊ก’ ได้รับฉายาว่า ‘ผบ.ตร.น้อย’ เลยทีเดียว
ช่วง 5 ปียุค คสช. ชีวิตของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ พุ่งถึงขีดสุด ‘บารมี’ แผ่ไปทั่ว สตช. ทำให้แสงนี้ไปแยงตา ‘บิ๊กแป๊ะ’พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ในขณะนั้น ทว่าทั้งคู่ก็ต่างเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็น ประธาน ก.ตร. ดูแล สตช. ในยุค คสช.
ทว่า ‘อำนาจ-บารมี’ ไม่เข้าใครออกใคร
ย้อนกลับไป 5 เม.ย. 2562 พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ถูกเด้งฟ้าผ่า จากอดีต ผบช.สตม. ถูกโยกเข้ากรุมาประจำที่ ศปก.ตร. จากนั้นได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. โอนมาเป็น ‘ข้าราชการพลเรือน’ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ประจำสำนักนายกฯ ทำให้ต้องพ้นจากการเป็น ‘ข้าราชการตำรวจ’ เมื่อ 9 เม.ย. 2562 เป็นระยะเวลาเพียง 5 วัน ที่ล้ม 5 ปี ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ท่ามกลางความกังขาว่ามาจากสาเหตุใดกันแน่ จึงทำให้ลือกันไปต่างๆนานา
ช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ โลว์โปร์ไฟล์ตัวเอง ปรากฏเป็นข่าวแค่เพียงการไปไหว้พรขอพร เข้าสู่ทางธรรม อุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ช่วงปลายเดือนม.ค.63 เพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ โดยได้รับฉายา ‘สุรเชฏฺฐโพธิ’ แปลว่า ผู้มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ ซึ่งเจริญที่สุดด้วยความกล้าหาญ
ขณะนั้นกระแส ‘โจ๊กรีเทิร์น’ เริ่มดังขึ้น ทว่ากลับเกิดเรื่องยิงถล่มรถ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ขึ้นมาช่วงต้นเดือน ม.ค. 2563 กลายเป็นมหากาพย์ที่ทำให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ถูกดองยาว 1 ปีกว่า
ซึ่งกรณี ‘ยิงรถ’ เป็นเสมือนการเปิดหน้าชนระหว่าง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ขณะนั้น ที่กลายเป็นเรื่อง ‘สนั่นเมือง’ เพราะตามมาด้วย ‘คลิปเสียง’ บทสนทนาระหว่าง พล.ต.อ.จักรทิพย์ กับ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผบ.ตร.ขณะนั้น
โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ สั่ง พล.ต.อ.วิระชัย ไม่ให้มาทำคดียิงรถ ให้เป็นหน้าที่ของ ตร.นครบาล โดยมองว่าเรื่องการยิงรถมีการเตี๊ยมกันมา พร้อมกล่าวพาดพิง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ช่วงเป็น ตร. ว่าหลอกใช้ใครไปบ้าง
งานนี้เท่ากับเป็นการ ‘ตอกลิ่ม’ ให้ยิ่งร้าวลึก โดย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ออกมาสวนกลับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก เพราะสั่งอย่างนี้ได้อย่างไร พร้อมระบุว่าคนวงในย่อมรู้ว่าใครยิง ซึ่งเรื่องนี้ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีท่าทีเข้าสำนวน ‘บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น’ เพราะแต่ละฝ่ายเป็น ‘คนกันเอง’ ทั้งนั้น
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ ‘ลงดาบปราม’ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ผ่านคำสั่งนายกฯ ต้องไม่ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ไม่รายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ปฏิบัติราชการอันเป็นการกระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือตน รักษาความลับของทางราชการ เป็นต้น จากนั้น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้ลาบวช 9 วัน ที่อินเดีย
ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ลงนามคำสั่ง ตร. ให้ ‘สำรองราชการ’ พล.ต.อ.วิระชัย เมื่อ 29 ก.ค. 2563 พร้อมถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง เนื่องจากมีพฤติการณ์และการกระทำเข้าลักษณะมีเจตนาเปิดเผยความลับของทางราชการ และฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งว่าด้วยการให้ข่าวสัมภาษณ์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ ตร. อย่างร้ายแรง
หลังจากนั้น 13ส.ค.63 พล.ต.อ.จักรทิพย์ มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการ สำนักงาน ผบ.ตร. ตามมาตรา 10 (1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เพื่อปฏิบัติหน้าที่อำนวยการและสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ศปก.ตร.
ต่อมาเมื่อ 6 ก.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 31 ส.ค. 2563 ให้ข้าราชการตำรวจพ้นจากตำแหน่ง ระบุว่า ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา ข้าราชการตำรวจ ตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. สำรองราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จนถูกตั้งกรรมการสอบสวน พ้นจากตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค. 2563
ส่วน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ก็ทำงานเงียบๆในตำแหน่ง ที่ปรึกษาพิเศษ ประจำสำนักนายกฯ เข้ามาที่ทำเนียบฯเป็นครั้งคราว โดยเข้ามาพบ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ได้มอบหมายงานให้
ทว่ากระแส ‘โจ๊กรีเทิร์น’ เริ่มอีกครั้งเมื่อ 25 ก.พ. 2564 หลัง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ เข้ามายังตึกบัญชาการ ทำเนียบฯ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตรงกับ พล.อ.ประวิตร มาประชุมพอดี จึงถูกตีความไปว่ามาพบ พล.อ.ประวิตร หรือไม่
ต่อมาทีมงาน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ชี้แจงว่ามาพบ รองนายกฯวิษณุ ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยถึงกรณีการลงนามในคำสั่งเพื่อโอนย้าย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กลับเข้ารับราชการที่ สตช. เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2564 ว่า ไม่ใช่การลงนาม แต่เป็นเรื่องของการทำงานที่โยกมา เมื่อสอบแล้วยังไม่ได้ข้อยุติก็ส่งกลับไป และไปสอบต่อที่โน่น (สตช.)
ต่อมาเมื่อ 12 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุม ก.ตร. และเป็นประธานการประชุม ก.ต.ช. ก่อนแถลงข่าวกับสื่อว่าเป็นการประชุมตามวาระปกติ การพิจารณาให้ สตช. ได้ทำงานให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทจึงเป็นการหาแนวทางปรับองค์กร บุคลากร ไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง
ส่วน พล.ต.อ.สุวัฒน์ ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ได้เปิดตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สบ9) เทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. 1 ตำแหน่ง โดยทำหน้าที่บริหารด้านยุทธศาสตร์ แต่เลี่ยงตอบว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะได้กลับ สตช. หรือไม่ โดยระบุว่า อย่าเพิ่งพูด มันเร็วไป อะไรยังไม่ถึง ขอไม่พูด
ผ่านมา 5 วัน กระทั่ง 17 มี.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ นำประชุม ก.ตร. อีกครั้ง พร้อมเปิดเผยว่า ก.ตร. แต่งตั้ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สบ9) เทียบเท่า ผู้ช่วย ผบ.ตร. เมื่อสื่อถามถึงกระบวนการสอบสวนจะมีต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดบทตอบเพียงสั้นๆว่า “ยังไม่ได้พูดถึงตรงนี้”
อย่างไรก็ตามความเป็น ‘แมวเก้าชีวิต’ ของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ที่รีเทิร์น สตช. อีกครั้ง โดยมีการมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้น มีการ ‘เคลียร์กันภายใน’ เรียบร้อย เพราะ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ก็มี ‘แบ็กใหญ่’ เช่นกัน ซึ่งเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็หนักใจกับเหตุการณ์ทั้งหมด ท่ามกลางควันหลง ‘ศึกใน สตช.’ ที่สนั่นเมือง หลังเกิดกรณี ‘มหากาพย์ตั๋วช้าง’ ควันยังไม่ทันจาง
สำหรับอนาคตของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยังเหลืออายุราชการอีก 10 ปี โดยจบ ตท.31 นายร้อยตำรวจรุ่น 47 การก้าวขึ้นสู่ ผบ.ตร. คงไม่ไกลเกินฝัน แต่ขวากหนามมีอยู่ตลอดทางแน่นอน ซึ่งที่ผ่านมา พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ได้ชื่อว่าเป็น ‘คีย์แมน’ ทำงานให้กับ ‘2ป.ประยุทธ์-ประวิตร’ มาตั้งแต่ยุค คสช. ดังนั้นจึงต้องจับตาบทบาทต่อจากนี้ให้ดี และงานนี้จะมี ‘เช็กบิลคืน’ หรือไม่
เทพโจ๊ก พระเจ้าช่วย !!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง