ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย !! เว็บไซต์อันตราย siamstaycollections .com หลอกให้โอนเงินจองที่พักแล้วบล็อกหนี พร้อมแนะ 10 วิธีปฏิบัติป้องกันการถูกหลอกลวงให้จองที่พักปลอม

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ศรายุทธ จุณณวัตต์ ผบก.สอท.2 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ตำรวจไซเบอร์เตือนภัยเว็บไซต์ siamstaycollections .com เว็บอันตรายหลอกให้จองที่พัก โอนเงินแล้วบล็อกหนี

สืบเนื่องจาก ในช่วงที่ผ่านมา มีการเตือนภัยเกี่ยวกับมิจฉาชีพที่สร้างเพจหรือเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคในการจองที่พัก โดยมักจะขอให้โอนเงินมัดจำล่วงหน้าแล้วไม่สามารถติดต่อได้เมื่อถึงเวลาที่พักจริง

จากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบมีผู้เสียหายหลายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่ามัดจำที่พักก่อนเดินทางเข้าพักจริงในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พักในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ในหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังเว็บไซต์ siamstaycollections .com ที่มีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความจำนวนมาก ซึ่งในเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีลิงก์ไปยังเพจเฟซบุ๊กที่ใช้หลอกลวง และทางตำรวจไซเบอร์ได้ทำการปิดกั้นเพจที่ใช้หลอกลวงทั้งหมดแล้ว

โดยในเว็บดังกล่าวตำรวจไซเบอร์ได้ดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์มิจฉาชีพทั้งหมดแล้ว แต่เนื่องจากว่าเว็บดังกล่าวผู้ให้บริการไม่ได้อยู่ภายในประเทศ โดยทางตำรวจไซเบอร์ได้ทำการเสนอปิดกั้น ไปยังผู้ให้บริการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังพบว่ายังมีการเปิดใช้งานอยู่ จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชน อย่ากดเข้าเว็บดังกล่าว เพื่อความปลอดภัย

ที่พักปลอม.jpg

ตำรวจไซเบอร์ขอประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงให้จองที่พักปลอม 10 ข้อ ดังนี้

1. สำรองที่พักผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการสำรองที่พักออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ เช่น Booking .com, Agoda, Traveloka หรือผ่านเว็บไซต์ของที่พักโดยตรง

2. หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจเฟซบุ๊กใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่ เพจใดคือเพจจริง

3. เพจเฟซบุ๊กจริงจะต้องมีเครื่องหมายยืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

4. โทรศัพท์ไปสอบถามที่พักก่อนโอนเงิน ว่าเพจที่พักถูกต้องหรือไม่ เลขบัญชีถูกต้องหรือไม่

5. เพจเฟซบุ๊กจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการรีวิวที่พักจากผู้เข้าพักจริง

6 .เพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

7. ระมัดระวังการประกาศโฆษณาที่พักราคาถูก หรือที่พักที่อ้างว่าหลุดจอง

8. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

9. หลีกเลี่ยงการโอนเงินไปยังบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีที่รับโอนควรเป็นบัญชีชื่อที่พัก หรือบัญชีชื่อบริษัท

10. ต้องตรวจสอบหมายเลขบัญชีทุกครั้งว่ามีประวัติการหลอกลวงหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชัน Cyber CHECK

หากพี่น้องประชาชนพบการหลอกลวง ขอให้รวบรวมหลักฐาน เช่น หน้าโปรไฟล์เพจ โฆษณาในเพจ ภาพถ่ายสินค้า บทสนทนากับผู้ขาย สลิปโอนเงิน แล้วแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.go.th