ไม่พบผลการค้นหา
จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุและคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ

สิ่งหนึ่งที่เรารู้แล้วเกี่ยวกับวัคซีนและการแพร่ระบาดของโควิด-19 คือ แม้ว่าเราจะฉีดเข็มบูสเตอร์แล้วก็ไม่ได้ช่วยหยุดการแพร่ระบาด และไม่ได้ช่วยปกป้องเราจากการติดเชื้อในระยะยาว เพราะประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงหลังจากผ่านไประยะเวลาหนึ่ง

จากการศึกษาพบว่า เข็มที่ 3 จะช่วยเพิ่มแอนติบอดีในร่างกายอย่างรวดเร็ว แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงประมาณ 50% หลังฉีดไปแล้วเป็นเวลาสามเดือน

คำถามคือ เราควรจะฉีดเข็มที่ 4 เพื่อเพิ่มการป้องกัน-เติมภูมิคุ้มกันอีกครั้งหรือไม่?


ข้อมูลเบื้องต้นจากประเทศอิสราเอลจากการศึกษาประสิทธิภาพของการฉีดเข็มที่ 4 ของวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา นำโดย ดร.กิลี เรเกฟ-โยเชย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อประจำศูนย์การแพทย์ชีบา ชี้ให้เห็นว่า สำหรับประชาชนทั่วไป การฉีดเข็มที่สี่เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อน้อยมากเมื่อเทียบกับผลจากเข็มที่สาม

ในการศึกษาของดร.กิลี และทีมนักวิจัย แม้ว่าหลังจากฉีดเข็มที่ 4 แอนติบอดีจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับระดับที่สังเกตได้หลังจากการฉีดครั้งที่สาม แต่การเพิ่มขึ้นของแอนติบอดีไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออย่างมีนัยสำคัญ ในช่วงระยะเวลาการศึกษา 30 วัน ประมาณ 20% ของผู้ที่ได้รับการฉีดเข็มที่ 4 ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ในขณะที่คนที่ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 3 เข็ม ติดเชื้อประมาณ 25% เพราะขนาดของโดสที่ 4 ยังไม่ปรากฏว่าช่วยกระตุ้นทีเซลล์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการป้องกันการติดเชื้อในอนาคต

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการฉีดเข็มบูสเตอร์เพิ่มเติมนั้นไร้ประโยชน์ในทุกสถานการณ์ เพราะสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง อาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดบูสเตอร์เพิ่มเติม เนื่องจากพบว่า คนกลุ่มนี้มีการตอบสนองของแอนติบอดีที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 4 แม้ว่าจะยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อจากตัวแปรโอไมครอนได้อย่างเต็มที่ก็ตาม

ขณะนี้ประเทศอิสราเอลอนุญาตให้ประชาชนอายุเกิน 60 ปี บุคลากรทางการแพทย์ และผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราทุกคนมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 และกำลังพิจารณาฉีดให้กับประชาชนที่อายุเกิน 18 ปี หลังจากฉีดเข็มที่ 3 ผ่านไปอย่างน้อยห้าเดือน

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) แนะนำให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่รับการรักษามะเร็ง ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ติดเชื้อ HIV และผู้ที่มีโรคภูมิต้านตนเองหรือผู้ที่กำลังใช้ยาที่สามารถกดภูมิคุ้มกัน มีสิทธิ์เข้ารับเข็มที่ 4 แล้ว

นอกจากนี้ ประเทศสวีเดนเริ่มเสนอวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา ส่วนประเทศชิลีเสนอวัคซีนเข็มที่ 4 สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 55 ปีที่ได้การฉีดครั้งที่สามนานกว่าห้าเดือน


อนาคตยังไม่แน่นอน แต่ที่ผ่านมาวัคซีนทำงานช่วยชีวิตได้ดีแล้ว

แม้วัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ผลการศึกษาของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่า การฉีดเข็มที่ 3 ของวัคซีน mRNA ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนได้ถึง 96% แม้ว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจะแตกต่างกันไปตามอายุและสุขภาพของแต่ละคน แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังคงมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเป็นเวลาห้าเดือนหลังจากการฉีดครั้งที่สาม

ขณะนี้บริษัทผลิตวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นากำลังมุ่งผลิตวีคซีนเพื่อป้องกันสายพันธุ์โอไมครอนโดยตรง ไฟเซอร์บอกว่าอาจจะผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งโต้เถียงว่า วัคซีนที่เราต้องการควรจะเป็นวัคซีนที่เป็นสูตรผสมของใหม่และเก่า เพื่อป้องกันกรณีที่สายพันธุ์หลังจากโอไมครอนมีพันธุกรรมที่เหมือนกันกับสายพันธุ์ก่อนหน้านี้

ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในขณะนี้ยังไม่นิ่ง และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตามในระยะสั้นนี้ วิลเลียม ฮาเนจ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า หากมีการศึกษามากพอที่จะยืนยันได้ว่า การฉีดเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ หากเป็นจังหวะเวลาที่มีคลื่นลูกใหม่ของการติดเชื้อเกิดขึ้นในอนาคต ก็อาจสมเหตุสมผลที่จะฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อีกครั้ง เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดำเนินต่อไปได้

อีกความเป็นไปได้หนึ่งสำหรับคนทั่วไปในระยะยาว คือวัคซีนโควิด-19 อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของตารางการฉีดวัคซีนตามปกติ เช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปี


ที่มา:

https://www.vox.com/coronavirus-covid19/22915922/covid-19-vaccines-omicron-booster-fourth-shots

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2022/02/22/1029057935/who-might-benefit-from-a-4th-shot-and-who-might-not