ไม่พบผลการค้นหา
เจ้าหน้าที่ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว กระทรวงสาธารณสุข เข้าควบคุมโรคแอนแทรกซ์ให้จำกัดวงการแพร่ระบาด พร้อมย้ำโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์ ในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีพบผู้ป่วยชายซึ่งเป็นผู้ชำแหละแพะที่ตายแล้วสงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก โดยระบุว่าวันนี้ (28 พฤศจิกายน) ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ พบเชื้อแบคทีเรีย 'บาซิลลัส แอนทราซิส' (Bacillus Anthracis) ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคแอนแทรกซ์ในผู้ป่วย 2 ราย มาด้วยมีตุ่มหนองที่มือทั้ง 2 ข้าง ขณะนี้ ได้รับยารักษาและอยู่ในความดูแลของแพทย์จนกว่าตุ่มหนองจะหาย

สำหรับการควบคุมป้องกันโรค ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 2 ได้ติดตามประชาชนในหมู่บ้านที่รับประทานเนื้อแพะ และผู้สัมผัสโรคในหมู่บ้าน บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ จำนวน 247 คน ได้ให้ยารับประทานเพื่อป้องกันต่อเนื่อง 60 วัน และติดตามเฝ้าระวังโรค ขณะนี้ ทุกคนปกติ พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้และการป้องกันตัว แจกแผ่นพับภาษาไทยและภาษาพม่า และทำประชาคมสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในหมู่บ้าน โดยให้สังเกตอาการ เช่น ผิวหนังมีตุ่มหนอง มีแผลหรือฝ้าขาวในปาก ลำคอ ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด มีไข้ ไอ เหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ทางการขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เพราะโรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน หากพบแพทย์เร็วรักษาให้หายขาดได้ และในประเทศไทยไม่พบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ อย่างไรก็ตาม อย่านำสัตว์ที่ป่วยหรือตายแล้ว มาชำแหละจำหน่ายหรือรับประทาน หรือนำไปให้สัตว์อื่นกิน รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากจำเป็นต้องสัมผัสสัตว์ขอให้สวมถุงมือหรือถุงพลาสติก และล้างมือฟอกสบู่ทุกครั้งหลังจากสัมผัสซากสัตว์

หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกายหรือหากป่วยโดยมีประวัติสัมผัสสัตว์ตายหรืออยู่ในพื้นที่สัตว์ป่วยตาย หรือหลังเดินทางกลับจากพื้นที่มีผู้ป่วยให้รีบไปพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง พร้อมแจงประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการเดินทาง โรคนี้มียารักษาหากเจ็บป่วยหลังสัมผัสสัตว์ให้รีบพบแพทย์ทันที

000_Del412561.jpg

(อินเดีย, อินโดนีเซีย และฮ่องกง เป็นพื้นที่ในเอเชียซึ่งมักพบการแพร่ระบาดของโรคแอนแทรกซ์)

ขณะที่ข้อมูลในเว็บไซต์ของสำนักระบาดวิทยา ระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ ถูกชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า 'โรคกาลี' และเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น โดยเชื้อนี้ก่อให้เกิดโรคในคน 3 แบบ คือที่ผิวหนัง, ปอด, ทางเดินอาหารและคอหอยส่วนปาก 

โรคแอนแทรกซ์ผิวหนังจะเกิดจากเชื้อเข้าสู่ผิวหนังบริเวณรอยถลอกหรือบาดแผล โดยมากเกิดจากการสัมผัสสัตว์ป่วย หรือสัมผัสกับผลิตภัณฑ์สัตว์ที่ได้มาจากสัตว์ป่วย บุคคลที่เป็นโรคนี้จึงพบมากในกลุ่มที่มีอาชีพทางเกษตรกรรม คนชำแหละเนื้อ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่วย ขณะที่โรคแอนแทรกซ์ทางเดินหายใจ เกิดจากการสูดหายใจเอาสปอร์ซึ่งติดมากับขนสัตว์ที่ส่งมาจากท้องถิ่นมีโรค (endemic area) ส่วนแอนแทรกซ์ของระบบทางเดินอาหารและคอหอยส่วนปาก มีสาเหตุจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยตายด้วยโรคนี้ แล้วไม่ปรุงให้สุกเพียงพอ 

ระยะฟักตัวของโรคในคน ตั้งแต่รับเชื้อจนถึงขั้นแสดงอาการ จะอยู่ระหว่าง 12 ชั่วโมง ถึง 7 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีสูดหายใจเอาสปอร์ของเชื้อจากการใช้แบคทีเรียในฐานะอาวุธชีวภาพ ระยะฟักตัวอาจยาวนานถึง 60 วัน เมื่ออาการปรากฏแต่ไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว จะทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผลที่ต่อมน้ำเหลืองของขั้วไส้และลำไส้ส่วนต่างๆ มีน้ำในช่องท้อง และปวดท้องอย่างรุนแรง บางครั้งผู้ให้การรักษาอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ แพทย์ผู้ทำการรักษาจึงควรเน้นการซักประวัติการรับประทานอาหารจากผู้ป่วย

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด เกิดอาการโลหิตเป็นพิษ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งอัตราการป่วยตายจะอยู่ที่ร้อยละ 50-60 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

พบสัตว์ป่วยตายผิดปกติให้แจ้งปศุสัตว์ อย่านำมาทาน

สธ. เตือน ปชช. อย่าปรุงอาหารจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ทราบสาเหตุการตาย

พบโรคแอนแทรกซ์ระบาดในไซบีเรีย