ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง จับมือ บขส. ส่งพนักงานอบรม “ทีมเผือก” สอดส่องดูแลผู้โดยสารเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย พร้อมจัดฉายภาพยนตร์สั้นบนรถทัวร์กว่า 480 คันและสถานีทุกแห่ง สร้างความเข้าใจ-วิธีรับมือผู้คุกคาม เตรียมติดกล้อง CCTV ในรถทุกคัน

ที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หมอชิต (จตุจักร) เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) แถลงความร่วมมือยกระดับรถทัวร์ไทยให้ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ ภายใต้ชื่องาน“บขส. มอบของขวัญปีใหม่ ยกขบวนชวนพนักงานเผือก เพื่อรถทัวร์ปลอดภัยไร้การคุกคามทางเพศ” พร้อมเปิดตัว “ทีมพนักงานเผือก” จ���กพนักงาน บขส. ที่ผ่านการอบรมการสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหาเมื่อมีผู้โดยสารถูกคุกคามทางเพศ

นางสาวรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง จากองค์กร แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าว ว่า ในหนึ่งวันมีผู้ใช้บริการรถขนส่งสาธารณะของ บขส. ถึง 80,000-90,000 คน จึงเห็นว่าเป็นช่องทางที่ดีที่จะร่วมมือกับ บขส. ในการให้ความรู้กับทั้งผู้โดยสาร และพนักงานของ บขส. เพื่อรับมือหากตกเป็นผู้ถูกคุกคาม หรือเห็นผู้อื่นถูกคุกคาม เพื่อที่จะช่วยเหลือด้วยการเข้าไป “เผือก” หรือเข้าไปแทรกแซงเพื่อหยุดการคุกคามได้ เพราะจากการศึกษาพบว่ามีผู้หญิงหลายคนตกเป็นเป้าการถูกคุกคามทางเพศ แต่ไม่กล้าตอบโต้ ดังนั้น คนที่อยู่รอบข้างจึงเป็นคนอีกกลุ่มที่สามารถยุติการคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะในรถโดยสารสาธารณะ พนักงานผู้ให้บริการบนรถจะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศ และหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร

"เมื่อปีที่ผ่านมา จำนวนตัวเลขของคนที่คุกคามทางเพศค่อนข้างสูง โดยจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 45 ของผู้หญิง เป็นผู้หญิงที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ดังนั้นในโอกาสที่ใกล้จะถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีประชาชนเดินทางกลับบ้าน หรือท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก ทำให้ความร่วมมือครั้งนี้มีประโยชน์ ผู้โดยสารจะเดินทางด้วยความอุ่นใจมากขึ้น เพราะพนักงานบริการบนรถ มีองค์ความรู้ทั้งในเชิงการประเมินสถานการณ์ การเข้าแทรกแซง รวมทั้งนำตัวผู้ที่คุกคามส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป หากผู้โดยสารที่ถูกคุกคามต้องการเอาเรื่องทางกฎหมาย" น.ส. รุ่งทิพย์ กล่าว

ทีมเผือกบขส.

ด้านนางสาววราภรณ์ แช่มสนิท ตัวแทนจากเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง กล่าวว่า นอกจากการจัดอบรมพนักงาน บขส. แล้ว เครือข่ายฯ ยังจัดทำเว็บไซต์ E-learning ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พนักงาน บขส. จะสามารถเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองเกี่ยวกับแนวทางการ “เผือก” หรือเข้าแทรกแซงเมื่อพบเจอเหตุการณ์การคุกคามทางเพศ ผู้สนใจสามารถเข้าชมสื่อการเรียนรู้ของเครือข่ายเมืองปลอดภัยฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.teampueak.org โดยคลิกเลือก “คู่มือเผือก” ซึ่งจะมีการอธิบายรูปแบบการคุกคามทางเพศที่พบบ่อยบนระบบขนส่งสาธารณะ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น แนวทางการเข้าแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคาม และแหล่งช่วยเหลือที่เป็นตัวช่วยสำหรับพนักงานในการระงับเหตุ นอกจากนี้ ยังมีแบบทดสอบให้ทดลองทำ ด้วยตัวเอง เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะของพนักงานในการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศด้วย

ทีมเผือกบขส.

ขณะที่นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า มีวิธีการที่หลากหลายและเป็นรูปธรรมแพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศที่อาจเกิดขึ้นบนรถในระบบของ บขส. เอง โดยมาตรการเหล่านี้ถือเป็นของขวัญจาก บขส. ที่มอบให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพนักงานชุดแรกเข้ารับการอบรมแนวทางการรับมือและให้การช่วยเหลือผู้โดยสารที่ถูกคุกคามทางเพศอย่างได้ผล การฉายวิดีโอประชาสัมพันธ์บนรถโดยสารของ บขส. ทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารตระหนักและรับรู้แนวทางการรับมือกับปัญหาการคุกคามทางเพศตลอดจนแหล่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารจำนวน 480 คัน และรถร่วมของบริษัทเอกชนที่อยู่ในความดูแลของ บขส. อีกกว่า 4,000 คัน และมีเจ้าหน้าที่รวม 2,800 คน โดยตนตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปีหน้า พนักงานและรถในระบบของ บขส. จะเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ทั้งหมด

นอกจากความร่วมมือกับเครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิงแล้ว ทาง บขส. เอง ก็กำลังเดินหน้าออกมาตรการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารใน 3 ด้าน คือ 1. การป้องปราม โดยอยู่ระหว่างการเสนอขอติดตั้งกล้อง CCTV ทั้งภายในรถและหน้ารถเพื่อให้สามารถใช้ดูหลักฐานย้อนหลังหากเกิดเหตุการณ์ 2. ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความพร้อมในการรับมือ และมีเทคนิควิธีการในการดูแลผู้โดยสารและดูแลตนเอง หากเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ และ 3. พัฒนาช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้มีความสะดวกมากขึ้น จากเดิมสามารถร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ บขส. “transport.co.th” และฮอตไลน์ 1490 โดยจะเพิ่มช่องทางร้องเรียนผ่านคิวอาร์โค้ด โดยจะจัดทำและติดคิวอาร์โค้ดบนรถทุกคัน เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดและส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาได้ง่าย 

ด้านนางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้แทนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสร้างกระแสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศไม่เฉพาะบนระบบขนส่งสาธารณะเท่านั้น แต่รวมถึงทุก ๆ พื้นที่ในสังคมด้วย