ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตโวย รพ.รัฐในอุบลราชธานี เรียกเก็บเงินมัดจำค่าทำเส้นฟอกเลือด 3 หมื่นบาท แจ้งผู้ป่วยถ้าไม่จ่าย ไม่ให้บริการ อ้างสิทธิบัตรทองใช้ 1 ครั้งต่อ 1 ปี

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ป่วยไตวาย ที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฟอกเลือด ว่าโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี ได้เรียกเก็บเงินค่ามัดจำการทำเส้นฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ถ้าไม่มีเงินมัดจำ ก็จะไม่ได้รับบริการ

โดยโรงพยาบาลดังกล่าวได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าในวันนัดทำการผ่าตัด โรงพยาบาลจะตรวจสอบสิทธิซ้ำ หากผู้ป่วยส่งเบิกจากโรงพยาบาลอื่นแล้วจะถือว่าใช้สิทธิเบิกครบ 1 ครั้งต่อ 1 ปี ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง และในวันนัด ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินมัดจำตามที่ระบุ

"ข้อนี้ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ป่วยอย่างหนัก ถือว่าไม่มีความเป็นธรรมและกีดกันไม่ให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการ ขนาดโรงพยาบาลเอกชนจะทำการรักษา ยังไม่มีการเรียกเก็บเงินมัดจำเลย แต่นี่เป็นโรงพยาบาลของรัฐแท้ๆ กลับให้จ่ายมัดจำได้อย่างไร" นายธนพลธ์ กล่าว

นอกจากนี้ เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการแทนประชาชน รวมทั้งได้เข้าพบผู้บริหารโรงพยาบาลดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อพูดคุย พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) ให้ยกเลิกประกาศของโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน 2) ห้ามเก็บร่วมจ่ายโดยเด็ดขาด 3) ห้ามเก็บมัดจำทุกกรณี โดยเบื้องต้นทางผู้บริหารของโรงพยาบาลกล่าวว่าจะกลับไปทบทวนคำสั่ง โดยคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 ก.พ. นี้ ซึ่งทางชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยจะได้ติดตามความคืบหน้าต่อไป


“มันเกิดอะไรขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพและเกิดอะไรขึ้นกับโรงพยาบาล อยู่ๆ ออกประกาศภายในโรงพยาบาล แล้วมาเรียกเก็บมัดจำกับคนไข้นี่ทำให้เราตกใจมากเลย ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จะเยอะมาก เพราะผู้ป่วยในพื้นที่ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี ที่ทำเส้นฟอกเลือดจะต้องส่งมาทำที่โรงพยาบาลนี้หมด และเดือดร้อนกันทั้ง 3 กองทุน ไม่ใช่แค่บัตรทอง ประกันสังคมก็ต้องจ่ายเหมือนกัน” นายธนพลธ์ กล่าว


อย่างไรก็ดี เมื่อ2560 ชมรมผู้ป่วยโรคไตแห่งประเทศ ได้เรียกร้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ปฏิเสธข้อเสนอของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เสนอให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล หลังพบว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังเข้ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้เกิดหนี้ค่าบริการทดแทนไตมากกว่า 2,317 ล้านบาท 

ขณะที่ ผู้สื่อข่าว "วอยซ์ ออนไลน์" ได้พยายามติดต่อผู้อำนวยการ โรงพยาบาลดังกล่าว แต่ปลายสายเป็นเสียงอัตโนมัติ แจ้งไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก


อ่านข่าวเพิ่มเติม