โรดแมปเลือกตั้งจะเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ประกาศไว้ว่าจะขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 หรือไม่
ทั้งหมดในสถานการณ์ทางการเมือง ปัจจุบันนี้ ต้องโฟกัสที่ไปคำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พ.ค. 2561
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าว ระบุว่า นัดอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยและนัดแถลงด้วยวาจาปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 30 พ.ค.นี้ในคำร้องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 27 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 263 ว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 35 (4) และ (5) มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 95 วรรคสาม และ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 92 วรรคหนึ่ง มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 หรือไม่
สำหรับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตีความนั้น มี 2 ประเด็น
1.การตัดสิทธิผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ข้าราชการัฐสภา รองผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษา ต้องพ้นจากตำแหน่งทันทีที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
2.อำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ในการออกเสียงลงคะแนน ให้จัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษ หรือให้มีผู้ช่วยคนพิการลงคะแนนในคูหาเลือกตั้งได้ ซึ่งประเด็นนี้ถูกมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกเสียงต้องลงคะแนนโดยตรงและลับ
หนังสือที่สมาชิก สนช.ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ยังสอดคล้องกับความเห็นของ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เคยมีหนังสือถึง 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธาน สนช.
"กรธ. มีความห่วงกังวลว่า บทบัญญัติดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ เพราะการที่บัญญัติให้ผู้อื่นลงคะแนนแทนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งย่อมมิใช่เป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับอย่างแน่แท้"
นายมีชัย ระบุด้วยว่า "กรธ. จึงมีความห่วงกังวลว่าบทบัญญัติดังกล่าวอาจขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ หากมิได้ดำเนินการให้ชัดเจนเสียก่อน และมีการจัดเลือกตั้งไปแล้ว แต่กลับมีการวินิจฉัยว่าบทบัญญัตินี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญในภายหลัง จะมีผลกระทบทำให้การเลือกตั้งต้องเสียไปและเกิดความเสียหายแก่ประเทศได้"
นอกจากนี้ ประธาน กรธ.ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ว่าขัดหรือแย้งทั้งฉบับ กรธ.ต้องกลับมาจัดทำร่างใหม่ โดยแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้งแล้วส่งไปยัง สนช. พิจารณา หากแก้เพียง 1-2 มาตรา ก็พิจารณา 3 วาระรวดได้ จึงไม่กระทบโรดแมปเลือกตั้ง ใช้เวลาทั้งขั้นตอน สนช. 2 - 3 สัปดาห์น่าจะจบ ไม่น่าจะรื้อหรือทำอะไรใหม่
ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสาระสำคัญและมีผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวต้องตกไปทั้งฉบับ กระบวนการยกร่างจะต้องเกิดขึ้น แต่ระยะเวลาอาจเร่งรัดตามที่ประธาน กรธ.บอกไว้
ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เชื่อว่าการวินิจฉัยของศาลไม่น่ามีปัญหา เชื่อว่าจะผ่านไปโดยไร้อุปสรรค ไม่กระทบต่อโรดแมปเลือกตั้งในปี 2562
แต่ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
กระดานเลือกตั้งตามโรดแมปจะขยับจากเดิมไปเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในปี 2562
30 พ.ค. 2561 – ศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
กรณีกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัด รธน.
มิ.ย. - ส.ค. 2561 - กรอบเวลาใน 90 วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนายกฯนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ
ก.ย. - พ.ย. 2561 - กรอบเวลา 90 วันที่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
ธ.ค. 2561 - เม.ย. 2562 - เลือกตั้ง ส.ส. ครั้งแรกใน 150 วัน
พ.ค. - มิ.ย. 2562 - กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ช้ากว่า 60 วัน
(กรณีประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ได้ 95 %)
ก.ค. 2562 - เปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก เลือกประธานสภาฯ ลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรี
ส.ค. 2562 - รัฐบาลชุดใหม่เข้าบริหารราชการแผ่นดิน - คสช. พ้นตำแหน่ง
หากดูตามไทม์ไลน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกจะเกิดขึ้นอย่างช้าสุดคือในช่วงเดือน เม.ย. 2562
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง