ไม่พบผลการค้นหา
สื่อกัมพูชาเผยว่าตัวแทนรัฐบาลไทยพบอธิบดีกรมราชทัณฑ์ของกัมพูชาเมื่อต้นสัปดาห์ เพื่อหารือการแลกเปลี่ยนนักโทษ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะรวมถึงนักโทษการเมืองที่ลี้ภัยในกัมพูชาด้วยหรือไม่

เฟซบุ๊กของสำนักงานผู้ช่วยทูตทหารไทย ประจำกรุงพนมเปญ เมืองหลวงกัมพูชา เปิดเผยว่า พ.อ. ศรายุทธ บุญจือ ผู้ช่วยทูตทหารบก รักษาการผู้ช่วยทูตทหาร กรุงพนมเปญ ให้การต้อนรับนายกฤช กระแสร์ทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งเดินทางไปยังกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 12 ก.พ. เพื่อเข้าร่วมประชุมกับนายชาน กิมเซิง อธิบดีกรมราชทัณฑ์กัมพูชา ณ กระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา 

ขณะที่ 'พนมเปญโพสต์' สื่อของกัมพูชา รายงานว่าตัวแทนของรัฐบาลทั้งสองประเทศได้หารือกันเพื่อพิจารณาความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนนักโทษ การผลักดันโครงการฟื้นฟูเยียวยานักโทษกลับคืนสู่สังคม และมาตรการป้องกันการก่ออาชญากรรมหรือการกลับเข้าสู่วังวนเรือนจำครั้งใหม่ของอดีตนักโทษ

นุท ซับนา โฆษกกรมราชทัณฑ์กัมพูชา ระบุว่าชาวกัมพูชาต้องโทษอยู่ในเรือนจำไทยมีจำนวนมากกว่า 2,000 คน ขณะที่ชาวไทยต้องโทษในเรือนจำกัมพูชามีอยู่เพียง 52 คนเท่านั้น การเจรจาแลกเปลี่ยนและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสองรัฐบาลจึงมีสัดส่วนที่แตกต่างกันอยู่มาก ทำให้สื่อกัมพูชาวิเคราะห์ว่าอาจจะมีการเสนอเงื่อนไขพิจารณาส่งตัวนักโทษการเมืองไทยในกัมพูชากลับประเทศ

พนมเปญโพสต์รายงานว่า การเคลื่อนไหวสำคัญเรื่องการส่งตัวนักโทษหรือผู้ต้องหาข้ามแดนระหว่างสองประเทศครั้งล่าสุด คือ กรณีที่รัฐบาลไทยส่งตัว แซม โสกา ผู้ต้องหาคดีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ในฐานะที่เป็นผู้บันทึกและเผยแพร่วิดีโอที่เธอขว้างรองเท้าใส่ภาพของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 

Sam Sokha_02.jpg

แม้ว่า แซม โสกา จะยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำประเทศไทยเอาไว้แล้ว แต่กลับถูกตำรวจไทยจับกุมในข้อหาอยู่เกินกำหนดวีซ่า และถูกส่งตัวกลับไปยังกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ทำให้สหรัฐฯ และองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ทั้ง 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' และ 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ประณามความร่วมมือของทั้งสองประเทศที่ส่งตัวแซม โสกา กลับไปยังกัมพูชา

ขณะที่แอนเดรีย จอร์เจตตา ผู้อำนวยการสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งเอเชีย เปิดเผยกับพนมเปญโพสต์ว่าการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา อาจนำไปสู่การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาลอำนาจนิยม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยชาวไทยที่ลี้ภัยอยู่ในกัมพูชา

แต่นายจักรภพ เพ็ญแข นักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง เปิดเผยกับพนมเปญโพสต์ผ่านทางอีเมลว่า กลุ่มคนเสื้อแดงไม่ได้อยู่ในกัมพูชาอย่างถาวร และพยายามใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหากับทางการกัมพูชา ขณะที่ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นอ่อนไหวของไทย

ส่วนเว็บไซต์เอเชียไทม์ สื่อภาษาอังกฤษประจำภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า ไม่มีประเทศไหนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยการเมือง เพราะกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนมีความร่วมมือกันทุกด้าน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับความมั่นคง

เอเชียไทม์ยกตัวอย่างกรณีรัฐบาลไทยเคยกดดันรัฐบาลลาวให้ส่งตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา มาตรา 112 กลับมายังประเทศไทย แต่ลาวไม่มีบทลงโทษความผิดในข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ จึงไม่มีการดำเนินเรื่องส่งตัวผู้ใดกลับไทย แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มชายถืออาวุธ ใช้กำลังบังคับตัวนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือ 'โกตี๋' แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไปจากที่พักในกรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และนายวุฒิพงษ์หายตัวไปจนถึงขณะนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: