ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ เผยรายงานค้ามนุษย์ TIP Report ปี 2561 ระบุ ไทยพ้นจากกลุ่มประเทศ 'เทียร์ 2' เฝ้าระวัง ซึ่งถือว่าอันดับดีขึ้น แต่ยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกมาก ขณะที่ กสม. เตรียมชงข้อเสนอแนะในเชิงระบบให้ 'รัฐบาล-สนช.' แก้ปัญหาด้วย

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเผยรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ หรือ TIP Report ที่กรุงวอชิงตันดีซี เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) ซึ่งประเทศไทยได้เลื่อนอันดับจากปีก่อน ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่ 2 ประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ Tier 2 Watchlist ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 หรือ Tier 2 ปกติ ซึ่งหมายถึงประเทศที่ยังพบปัญหาการค้ามนุษย์ แต่รัฐบาลมีความมุ่งมั่นพยายาม และให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้วยการบังคับใช้กฎหมาย การคุ้มครองเหยื่อ และการป้องกันการค้ามนุษย์เป็นอย่างดี จึงถือว่ามีท้ังเรื่องที่ดีขึ้นและเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป

บทสรุปเกี่ยวกับประเทศไทย ในรายงานการค้ามนุษย์ของ กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ระบุว่า แม้ไทยจะยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขสถานการณ์ด้านการค้ามนุษย์ให้ตรงตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และมาตรฐานสากลได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ถือว่ารัฐบาลไทยมีความพยายามเพิ่มขึ้นทุกด้าน มีการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การค้าประเวณีเด็ก การล่วงละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงงานบังคับ โดยเฉพาะการไต่สวนและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐ 11 นาย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาเมื่อปี 2559

นอกจากนี้ การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ก็ถือว่ามีความคืบหน้าขึ้นมาก มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเหยื่อหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในคดีค้ามนุษย์ถือว่าลดลงจากปีก่อน เพราะมีหลายกรณีที่เหยื่อคดีค้ามนุษย์ถูกส่งตัวกลับประเทศ แทนที่จะได้รับการคุ้มครองจากทางการไทย เพื่อไต่สวนข้อมูลเพิ่มเติม กลายเป็นอุปสรรคในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์

รายงานของสหรัฐฯ ยังระบุด้วยว่าเจ้าหน้าที่ของไทยหลายรายมีความลังเลและไม่เริ่มต้นกระบวนการไต่สวนข้อมูลเพิ่มเติมในกรณีบริษัทหรือธุรกิจในท้องถิ่นต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง เพราะเกรงว่าจะถูกบริษัทเหล่านั้นฟ้องร้องในคดีหมิ่นประมาท

ประมง

แนะไทยเข้มงวดการบังคับใช้ ก.ม.-เสนอตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว

ส่วนข้าราชการที่ถูกไต่สวนความผิดเรื่องทุจริตและติดสินบนในคดีค้ามนุษย์ถูกลงโทษทางวินัยและถูกย้ายไปประจำตำแหน่งอื่น แต่ปีที่ผ่านมา มีการไต่สวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่เกี่ยวข้องในคดีค้ามนุษย์ทั้งหมด 20 ราย มีการตั้งข้อหาแล้ว 8 ราย ถือว่ามีความคืบหน้าจากเดิม 

ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ ได้แก่ การยึดทรัพย์รวมกว่า 31 ล้านบาท จากผู้ที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิเด็กในขบวนการขอทาน และมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือชาวไทยที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในต่างประเทศ รวมถึงเหยื่อค้ามนุษย์ในประเทศไทย เนื่องจากไทยยังคงเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางของขบวนการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี

ขณะเดียวกัน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีบทบาทในการฟื้นฟูเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบจากการค้ามนุษย์ โดยผู้ที่อยู่ในความดูแลของ พม.มีจำนวน 450 ราย ซึ่ง 287 รายเข้าร่วมโครงการจ้างงานขณะอยู่ในความดูแลของ พม.ในระหว่างที่รอความชัดเจนในการสอบสวนดำเนินคดี ซึ่งถือเป็นโครงการที่ดี และผู้ที่ร่วมทำงานกับ พม. จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำประมาณ 300 บาท

แต่จากการตรวจสอบข้อมูลช่วงสิ้นปี 2560 ผู้จัดทำ TIP Report พบว่ามีเพียง 24 รายที่ได้รับเงินช่วยเหลือ จึงจำเป็นต้องมีการผลักดันให้การดำเนินการประสิทธิผลและครอบคลุมผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ร่วมโครงการทุกคน

ส่วนประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่ กต.สหรัฐฯ ระบุไว้ใน TIP Report คือ กฎหมายไทยมีช่องโหว่ ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวสามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นเหตุผลหนึ่งที่ยังทำให้มีการละเมิดสิทธิแรงงาน หรือเอารัดเอาเปรียบแรงงานต่างด้าว จึงสมควรที่จะพิจารณาทบทวนและดำเนินการแก้ไขกฎหมายแรงงานเพื่อให้คุ้มครองและรองรับสิทธิแรงงานต่างด้าวด้วยเช่นกัน

หญิงอุซเบกิสถานหนีรอดจากการค้ามนุษย์ในไทย

กสม.ไทยพร้อมชงข้อเสนอแนะเชิงระบบถึงรัฐบาล-สนช.

ด้านนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงเพิ่มเติมกรณีไทยได้รับการปรับอันดับ TIP Report นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เป็นผลมาจากการร่วมมือกันทำงานเพื่อป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในประเทศไทยอย่างจริงจังในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จากจุดที่ต่ำสุดคือปี 2557-2558 ไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่เทียร์ 3 อยู่ 2 ปีซ้อน ซึ่งระหว่างนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 โดยเฉพาะฉบับที่ 3 ที่มีผลบังคับใช้ต้นปี 2560 มีการแก้ไขสาระสำคัญในนิยามของ 'การค้ามนุษย์' ซึ่ง กสม.ได้เข้าไปมีส่วนให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะให้คำนิยามของแรงงานบังคับ

นางประกายรัตน์ กล่าวว่า กสม. ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลมาโดยตลอด และในฐานะที่รับผิดชอบด้านสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ขอเรียนว่า ในปลายปี 2558-2559 กสม. ได้มีการตรวจสอบการค้ามนุษย์ในเรื่องสำคัญ คือ การใช้แรงงานไม่เป็นธรรมของแรงงานชาวเมียนมาในฟาร์มไก่ในจังหวัดลพบุรี ซึ่งกรณีดังกล่าว กสม. ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการค้ามนุษย์ ในเรื่องการยึดบัตรประจำตัวของแรงงานต่างชาติว่า เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่ง สนช. ได้มีการแก้ไขให้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการ 'แสวงประโยชน์โดยมิชอบ' ซึ่งถือเป็นการ 'ค้ามนุษย์' ตาม ก.ม.นี้

นอกจากนั้น ยังได้มีการแก้ไขให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในเรื่องของ 'แรงงานขัดหนี้' และการมีเด็กอยู่ในสถานที่ที่มีการค้ามนุษย์ เจ้าของสถานประกอบการก็จะมีความผิดด้วยแม้ว่าเด็กเหล่านั้นจะไม่ได้ถูกค้ามนุษย์ก็ตาม เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กในเรื่องสิทธิการมีชีวิตที่ดีและมีการพัฒนาที่เหมาะสมตามวัย

อย่างไรก็ตาม TIP Report ปี 2561 นี้ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ไทยยังต้องทุ่มเทความพยายามเรื่องนี้ต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่ากลไกระดับชาติที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อบูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว มีเขตอำนาจที่แข็งแรงและเพียงพอที่จะดำเนินการเอาผิดกับขบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติได้อย่างดี ซึ่งตรงนี้ กสม. จะได้ทำการศึกษาเจาะลึกและนำเสนอต่อรัฐบาลถึงมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: