เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนซ์/วอชิงตันโพสต์ รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของธุรกิจผับบาร์ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. โดยส่วนใหญ่ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงยามกลางคืนได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องปิดร้านตามเวลาที่กำหนด ไม่มีการผ่อนผันเหมือนเดิม และเจ้าหน้าที่ทหารบุกตรวจค้นยาเสพติดและธุรกิจแฝงอื่นๆ บ่อยขึ้น
สื่อต่างประเทศระบุว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจกลางคืนในไทยมักใช้วิธีต่อรองกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เพื่อหาทางซิกแซกในด้านต่างๆ โดยมีการยกตัวอย่างอดีตรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งพยายามบังคับใช้มาตรการ 'จัดระเบียบสังคม' เช่นกัน แต่ไม่ได้ผลเข้มงวดเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการควบคุมสถานบันเทิงแล้ว ยังมีการบังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และคำสั่งห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามสื่อต่างๆ
โดยแซม หว่อง เจ้าของบาร์ Wong's Place ในกรุงเทพฯ เผยว่าเขาเคยเปิดให้บริการอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเช้า แต่ในปีนี้ร้านของเขาถูกสั่งปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ 02.00 น. ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ตั้งร้านขึ้นมา
ขณะที่แอนเดอร์ส สเวนสัน เจ้าของกิจการ 52 Hz ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการจักแสดงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่า "กรุงเทพฯ กำลังกลายเป็นเมืองที่น่าเบื่อ นักท่องเที่ยวหลายคนเลือกไปที่กัมพูชาหรือเวียดนามแทนแล้ว" พร้อมย้ำว่า คนในสังคมจะไม่มีวันเลิกปาร์ตี้ และกฎที่เข้มงวดจะทำให้คนแอบจัดงานกันมากขึ้นกว่าเดิม
แต่เจนจิรา ประเสริฐสิน เจ้าของบาร์ 'มาดริด' ในย่านพัฒน์พงศ์ 'เห็นด้วย' กับมาตรการกำกับดูแลและควบคุมกิจการสถานบันเทิงในเวลากลางคืนให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเธอระบุว่า หลังจากนี้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเพราะผู้ประกอบการต่างๆ กำลังพยายามปรับตัวกันอยู่
ด้าน พล.ท.วีรชน สุคนธปฎิภาค รองโฆษกรัฐบาล คสช. ยืนยันกับสื่อต่างประเทศว่ามาตรการควบคุมสถานบันเทิงที่เข้มงวดขึ้นส่งผลดีต่อคนรุ่นใหม่ ช่วยให้มีศีลธรรมและความประพฤติที่ดี จากแต่ก่อนนี้ที่คนรุ่นใหม่นิยมท่องราตรีจนดึกดื่นและประพฤติตนไม่เหมาะสม ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกกฎที่เข้มงวดมากำกับดูแล
อย่างไรก็ตาม เดวิด สเตร็กฟัส นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันที่ศึกษาเรื่องสังคมไทยและกฎหมายไทย ระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงกรณีทุจริตคอร์รัปชันที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ตั้งแต่โครงการสั่งซื้อเรือดำน้ำราคาแพงจากจีน หรือกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และการพุ่งเป้าไปยังสถานบันเทิงหรือธุรกิจสีเทาเหล่านี้เป็นเพียงการเบี่ยงเบนประเด็นไม่ให้คนสนใจเรื่องที่เป็นปัญหาจริงๆ ในสังคม
ขณะที่ รศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุด้วยว่า รัฐบาล คสช.อยู่ในช่วงขาลง และการรัฐประหารครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในประเทศไม่ได้ช่วยให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริง เช่นเดียวกับความสมานฉันท์ปรองดอง เพราะสังคมยังคงขัดแย้ง และการทุจริตต่างๆ ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างแท้จริง แม้แต่หน่วยงานในการกำกับดูแลของกองทัพก็ยังพบปัญหาทุจริตเช่นกัน
อ่านเพิ่มเติม: