หนนี้เรามีโอกาสได้เปิดบทสนทนากับ ศิราพร แก้วสมบัติ หรือ ‘พี่แอน’ สมาชิกชาวไทยคนแรกของมูลนิธิ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ควบด้วยเลขาธิการ พี่แอนเล่าให้ฟังว่าชาวเมียนมาจำนวนมากข้ามพรมแดนมาทำงานที่ประเทศไทย ซึ่งส่วนมากประสบปัญหาเรื่องการเล่าเรียนของบุตรหลาน
“ต้องเล่าก่อนว่าเด็กที่เข้าโรงเรียนรัฐบาล พ่อแม่มักจะทำงานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายรับที่แน่นอน แรงงานกลุ่มนี้ส่วนมากจะเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย จึงต้องการส่งลูกไปเรียนในระบบ แต่บางครั้งก็ยังติดปัญหาเพราะรายรับที่ได้มาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย
ขณะที่ อีกกลุ่มหนึ่งทำงานในภาคการเกษตรซึ่งเป็นการจ้างงานแบบรายวัน ต้องย้ายสถานที่ในการทำงานอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เหมาะกับการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ที่มูลนิธิสนับสนุนอยู่ ข้อดีของที่นี่เพราะไม่จำเป็นต้องเรียนเพียงที่เดียว สามารถย้ายที่เรียนได้ ส่วนข้อเสียคือไม่มีใบรับรองการจบการศึกษาเหมือนโรงเรียนทั่วไป มีเพียงประกาศนียบัตรที่ออกโดยศูนย์การเรียนรู้ฯ ที่สามารถนำไปเป็นหลักฐานสำหรับศึกษาต่อได้ในศูนย์การเรียนรู้ฯ ลักษณะเดียวกันเท่านั้น ” พี่แอนเล่าถึงการทำงานของมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน
ปัญหาของเด็กเหล่านี้ไม่ได้มีเพียงด้านการศึกษาเท่านั้น เพราะยังมีปัญหาอื่นที่เข้ามาทำให้การศึกษาของเด็กมีอันต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมายของผู้ปกครอง หรือการค้ามนุษย์ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศไทย
“มูลนิธิมีโครงการเรื่องสุขภาพและการคุ้มครอง เราไม่ต้องการให้เด็กเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียวจึงให้เด็กเข้ามารับการฝึกฝนด้านอื่น นอกเหนือจากแบบเรียน เช่น ประเด็นทางสังคมอย่างการค้ามนุษย์ เพื่อให้พวกเขาส่งสารเหล่านี้ต่อเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือคนอื่นที่อยู่ในสังคม
นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ข้ามไปทำที่ประเทศเมียนมา เพื่อไม่ให้การดำเนินงานที่ไทยเป็นการแก้ปัญหาปลายทางเพียงอย่างเดียว ความฝันของชาวเมียนมาบางส่วนคือการเข้ามาทำงานที่ประเทศไทย เราก็อยากให้เขารู้ว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างที่รออยู่ สำหรับผู้ส่งสารนี้ออกไปก็เป็นเด็กชาวเมียนมาที่มาจากการอบรมในไทยก่อนหน้านี้” ผู้อำนวยการของมูลนิธิช่วยไร้พรมแดนชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
กิจกรรมต่างๆ ที่มูลนิธิช่วยไร้พรมแดนจัดขึ้น พยายามที่จะลดความรู้สึกทางลบที่มีต่อแรงงานต่างด้าว พี่แอนบอกว่าที่จริงแล้วคนเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวเลย อยากให้ช่วยดูแลกันในฐานะมนุษย์ และพยายามให้การระดมทุนเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช่การของรับบริจาคเพียงอย่างเดียว
"ยกตัวอย่างคือ Concert for Education ที่เป็นการแสดงคอนเสิร์ตของนักดนตรีชาวเมียนมา แนวคิดคืออยากให้ชาวเมียนมารู้ว่าเยาวชนของพวกเขาในประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องโอกาสเข้าถึงการศึกษา สำคัญคือคนไทยจะเห็นว่าเราไม่ได้ขอให้พวกเขาช่วยชาวเมียนมาฝ่ายเดียว ผู้คนจากเมียนมาก็พร้อมจะสนับสนุนเหมือนกัน และเป็นโอกาสให้น้องๆ จากโครงการเยาวชนดนตรีให้มีส่วนร่วมทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบงาน ค้นหานักดนตรี รวมถึงการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจถึงกระบวนการหารายได้เข้ามูลนิธิมากกว่าเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว
ในช่วงท้ายของงานเราก็มีไอเดียของการบริจาคตั๋วออกมา เพราะผู้ปกครองจำนวนมากไม่มีกำลังจ่าย ประกอบกับมีคนขอซื้อตั๋วมาบริจาค ผลปรากฎว่ามีผู้สนับสนุนให้เด็กได้มาดูคอนเสิร์ตถึง 215 คน มูลนิธิจึงทำรายงานประกอบกับวิดีโอขอบคุณผู้บริจาค เพื่อให้เขารับรู้ว่าเงินที่ให้มาไปถึงมือผู้รับจริงๆ" พี่แอนอธิบายถึงการระดมทุน
ในวันที่ 9 ธันวาคม ที่กำลังจะมาถึงมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน กำลังจะจัดกิจกรรม พี่ได้วิ่ง น้องได้เรียน Run For Educations Without Frontiers เพื่อให้เด็กชาวเมียนมาทุกคนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน
“ที่จริงแล้วงานวิ่งครั้งนี้แฝงไว้ด้วยอะไรมากมาย เราไม่ได้วิ่งเพียงอย่าวเดียว อันดับแรกมูลนิธิให้เด็กร่วมมือกับชาวแม่ปะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ฯ ในการทำความสะอาดทางวิ่ง ส่วนในวันแข่งขันจริงซุ้มอาหารก็จะมาจากคนในชุมชนทั้งหมด เพื่อให้ชุมชนเห็นว่าชาวเมียนมาไม่ได้เข้ามาสร้างความเดือดร้อน แถมทำให้เกิดรายได้ขึ้นมาด้วย เราคิดว่าถ้าจะอยู่ร่วมกันพูดอย่างเดียวคงไม่ได้ผลต้องลงมือทำด้วย จากการสัมผัสก็เห็นว่าชุมชนเปิดใจมากขึ้น แต่ก็ต้องอาศัยเวลาและการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น เราก็มีบริจาคตั๋วเหมือนในงานคอนเสิร์ต สามารถบริจาคได้ที่เพจ Run Without Frontiers ตั๋ว 1 ใบจะราคา 200 บาท ก็จะเท่ากับเด็ก 1 คน พวกเราไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านนี้แต่บอกได้เลยว่าทุกบาททุกสตางค์ล้วนมีค่า และมีเด็กอีกมากที่ต้องการความช่วยเหลือ”
ก่อนบทสนทนาจะจบลงพี่แอนบอกว่าพวกเขาเป็นเพียงองค์กรเล็กๆ ที่มีอุดมการณ์ว่าเด็กทุกคนควรจะมีโอกาสได้เลือกรูปแบบการศึกษาที่เหมาะกับพวกเขา
“เราจะไม่ผลักเด็กเข้าไปในระบบ หรือดึงใครออกมาจากระบบ การสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิจะช่วยให้เราช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง พวกเราพยายามหลายอย่างทั้งการระดมทุน หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติของสังคมอยากให้มองว่าทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกัน เด็กก็คือเด็กพวกเขาเลือกเกิดไม่ได้ หากใครอยากจะช่วยเราก็มั่นใจได้เลยว่าเงินทุกบาทไปถึงมือเด็กแน่นอน” พี่แอนทิ้งท้ายพร้อมบอกว่าเด็กคืออนาคตของมนุษยชาติ ไม่ว่าในอนาคตเขาจะอาศัยอยู่ประเทศไหนก็ตาม
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมูลนิธิช่วยไร้พรมแดนได้ที่ Help Without Frontiers