ไม่พบผลการค้นหา
ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่จัดการกับวาทกรรมสร้างความเกลียดชังชาวโรฮิงญา จนทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากไม่เห็นใจหรือแม้แต่สะใจกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แม้เฟซบุ๊กจะแบนบัญชีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพเมียนมาไปแล้ว แต่การปลุกปั่นความเกลียดชังยังเกิดขึ้นทุกวันโดยฝีมือของนักรบไซเบอร์ของกองทัพ

สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า กองทัพเมียนมามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา แหล่งข่าวในเมียนมาที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อเพื่อความปลอดภัยของตนเองระบุว่ากองทัพเมียนมาจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้กับปฏิบัติการสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา บนเฟซบุ๊กตั้งแต่ 5 ปีก่อน หลังจากที่เฟซบุ๊กขึ้นมาเป็นโซเชียลมีเดียที่เป็นที่นิยมของชาวเมียนมากว่า 18 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ จนบางคนเข้าใจผิดคิดว่าเฟซบุ๊กคือระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหมด

อดีตเจ้าหน้าที่ทหาร นักวิจัย และพนักงานรัฐของเมียนมาระบุว่า เจ้าหน้าที่ทหารเมียนมาได้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ด้วยการแสร้งเป็นแฟนคลับดาราดังและวีรบุรุษ/วีรสตรีของเมียนมา และโพสต์ข้อความเกลียดชังในทำนองว่าศาสนาฮิสลามเป็นภัยคุกคามศาสนาพุทธ เผยแพร่ข่าวปลอมว่าชาวมุสลิมข่มขืนและสังหารหญิงชาวพุทธ ยุยงให้สังหารและข่มขืน รวมถึงขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากประเทศ เป็นต้น

ไม่นานหลังคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงของสหประชาชาติออกรายงานว่า เฟซบุ๊กแบนบัญชีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพเมียนมาในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่กระบวนการยุยงปลุกปั่นที่สำคัญมากเกิดขึ้นจากบัญชีปลอมทั้งหลายมากกว่า โดยแคมเปญสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญานี้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ทหารกว่า 700 นายมาสร้างและดูแลบัญชีปลอม เพจข่าว หรือเพจดารา แล้วถล่มคอมเมนท์สร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา หรือโพสต์ถึงความเลวร้ายของชาวโรฮิงญาในช่วงเวลาที่จะมีคนเห็นมากที่สุด

เจ้าหน้าที่เหล่านี้ที่สลับเวรกันเข้าทำงาน นอกจากจะสร้างความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญาแล้ว ยังมีหน้าที่สอดส่องและเก็บข้อมูลบัญชีผู้ใช้ที่มีเพื่อนหรือคนติดตามเยอะ รวมถึงโพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์กองทัพด้วย ขณะเดียวกันก็สร้างข่าวปลอมเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลพลเรือนด้วย เช่น การนำภาพจริงที่นางอองซาน ซูจี มุขมนตรีแห่งรัฐของเมียนมานั่งวีลแชร์มาบิดเบือนว่าเธอเดินทางไปฉีดโบท็อกซ์ที่เกาหลีใต้

นายเธตส่วนวิน ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “ซิเนอร์จี” ที่ทำงานเพื่อสร้างความสามัคคีทางสังคมในเมียนมาแสดงความเห็นว่า กองทัพเมียนมาได้รับประโยชน์มหาศาลจากเฟซบุ๊ก แม้เขาจะไม่อาจพูดได้ว่าเฟซบุ๊ฏมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา แต่เฟซบุ๊กก็ควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการหามาตรการป้องกันการยุยงให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

หลังจากที่องค์กรต่างๆ ออกรายงานระบุว่ากองทัพเมียนมาทำแคมเปญต่อต้านชาวโรฮิงญาบนเฟซบุ๊ก เพื่อให้ประชาชนในประเทศมองว่าการปราบปรามชาวโรฮิงญาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เฟซบุ๊กได้ออกมายอมรับว่าเฟซบุ๊กรับมือกับการสร้างความเกลียดชังในเมียนมาช้าเกินไป ซึ่งชาวโรฮิงญาได้ลี้ภัยไปยังบังกลาเทศจากความรุนแรงรอบล่าสุดไปมากกว่า 700,000 คนแล้ว

ด้านเนเธเนียล เกลเชอร์ หัวหน้านโยบายความมั่นคงไซเบอร์ของเฟซบุ๊กกล่าวว่า เฟซบุ๊กพบ “ความพยายามอย่างเห็นได้ชัดในการโฆษณาชวนเชื่อ” ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกองทัพเมียนมา และเพจที่ดูเหมือนจะเป็นเพจบันเทิง ความงาม และข่าวสารต่างๆ กลับมีความเกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา เฟซบุ๊กจึงหามาตรการป้องกันให้การเผยแพร่เฮทสปีชยากขึ้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพิ่งแบนหลายบัญชีและหลายเพจที่โพสต์เรื่องเกี่ยวกับคนดังหรือบันเทิง แต่แทรกด้วยการโพสต์ต่อต้านชาวโรฮิงญา และมีความเกี่ยวข้องกับเมียนมา โดยเฟซบุ๊กเปิดเผยว่า บัญชีเหล่านี้มีคนติดตามมากถึง 1.3 ล้านคน เช่น เฟซบุ๊กแบนแฟนเพจของนายโอนหม่อง มือสไนเปอร์ของกองทัพเมียนมาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของประเทศ หรือบล็อกส่วนตัวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพอย่าง Opposite Eyes

เพจที่เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการเผยแพร่ข่าวปลอมใส่ร้ายชาวโรฮิงญา เช่นการนำภาพสมัยสงครามที่บังกลาเทศต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากปากีสถานในปี 1970 มาบิดเบือนว่าเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าชาวโรฮิงญาก่อความรุนแรงในรัฐยะไข่ช่วงปี 1940 และเมื่อตรวจสอบกลับไปจะพบว่า เนื้อหาสร้างความเกลียดชังบนเพจเหล่านี้มาจากพื้นที่ใกล้กรุงเนปิดอว์ ใกล้กับฐานทัพ


ที่มา : New York Times


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :