ไม่พบผลการค้นหา
องค์การเภสัชกรรม รับมอบกัญชาของกลาง จำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ที่ได้ส่งมอบให้ทาง อย.เพื่อให้องค์การฯ นำไปศึกษาวิจัยทางการแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (25 ก.ย.) องค์การเภสัชกรรม ได้รับมอบกัญชาของกลาง จำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ที่ส่งมอบให้ทาง อย.เพื่อให้องค์การฯ นำไปศึกษาวิจัยทางการแพทย์ โดยการส่งมอบครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ส่งมอบนอกรอบเวลาปกติ ที่กัญชาของกลางจะถูกนำไปเผาทำลายปีละ 1 ครั้ง ในวันยาเสพติดโลก 26 มิ.ย.ของทุกปี  


1022887.jpg


กัญชาของกลางนี้องค์การฯ ได้ประสานงานขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดเรียบร้อยแล้ว โดยทีมวิจัยได้ไปทำการคัดเลือกคุณภาพของกลาง เป็นกัญชาที่มีการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศที่ค่อนข้างจะมีคุณภาพ และเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่จับกุมมาได้ไม่นานคาดว่ายังมีคุณภาพดี 

อย่างไรก็ตามกัญชาทั้งหมดจะมีการตรวจพิสูจน์สิ่งปนเปื้อนก่อนนำไปศึกษาวิจัย โดยองค์การฯจะทำการศึกษาวิจัยด้วยมาตรฐานเทคโนโลยีสารสกัดและพัฒนาสูตรตำรับ เพื่อให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ (Medical Cannabis Extraction Prototype) ในรูปแบบน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น (Sublingual drop) ที่พร้อมจะนำไปศึกษาในผู้ป่วยเมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดได้แก้ไขให้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้ต่อไป

ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า การที่องค์การฯ ได้รับกัญชาที่มีคุณภาพและคุณสมบัติที่แตกต่างกันจะทำให้ทราบถึงความแตกต่างของคุณสมบัติกัญชาแต่ละชนิด ว่าชนิดใดจะมีคุณภาพและลักษณะคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการนำมาวิจัยเพื่อใช้ทางการแพทย์ หรือต้องมีการพัฒนากระบวนการสกัดของกัญชาแต่ละชนิดอย่างไร

คาดว่าประมาณเดือน ธ.ค. 2561 จะทราบผลขั้นต้นว่าองค์การฯ จะมีแนวทางอย่างไรในการวิจัยพัฒนา รวมถึงวางระบบบริหารจัดการในการนำกัญชาของกลางมาสกัด เพื่อนำมาใช้ผลิตยาในปริมาณมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยทางด้านคลินิกหรือการทดสอบในคนต่อไปได้หรือไม่ โดยกัญชาของกลาง 100 กิโลกรัมนี้ คาดว่าจะได้สารสกัดกัญชาเข้มข้นประมาณ 10-15 ลิตร (น้ำมันหยดใต้ลิ้น 5 CC , 18,000 ขวด)


1022898.jpg


ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีความตั้งใจที่จะนำกัญชาซึ่งเป็นพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทย นำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับวิจัย พัฒนาเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาในรูปแบบต่างๆ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อลดการนำเข้าโดยทดแทนยาแผนปัจจุบันบางชนิดที่มีราคาแพง ส่งผลให้ประชาชนได้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชาได้อย่างกว้างขวาง

ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า สำหรับการยกระดับการวิจัยและพัฒนายาจากสารสกัดกัญชาไปสู่ระดับอุตสาหกรรมนั้นองค์การฯ จะมีการดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ การปลูกตามมาตรฐาน GAP จนถึงผลิตเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ สำหรับใช้รักษาโรคต่างๆ และได้จัดเตรียมสถานที่เพื่อขออนุญาต อย. ในการครอบครองกัญชาของกลางในปริมาณจำนวนหลายๆ ตันต่อปี เพื่อทยอยทำเป็นสารสกัดเข้าสู่ระบบการวิจัยทางคลินิกให้เพียงพอ โดยการศึกษาวิจัยกัญชาจากของกลางนี้จะดำเนินการควบคู่ไปกับการศึกษาวิจัย และพัฒนากัญชาอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ การปลูก จนได้ผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบในรายละเอียดของการปรับปรุงพื้นที่สำหรับปลูก และพื้นที่ห้องปฏิบัติการวิจัย

ทั้งนี้จะร่วมมือและต่อยอดผลงานวิจัยกับเครือข่ายงานวิจัยสาขาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทำการคัดเลือกสายพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาที่มีความแข็งแรง ทนทานต่อโรคพืช และให้ได้สารสำคัญที่ออกฤทธ์ในการรักษาโรคต่างๆ โดยต้องมีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญเป็นมาตรฐานตามความต้องการทางการแพทย์โดยนำเทคโนโลยีการสกัดที่ทันสมัยต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการสกัดสารสำคัญจากกัญชา เพื่อให้ได้กระบวนการสกัดที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการสกัด และยังคงคุณภาพสารสกัดที่มีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจนเป็นสารสกัดกัญชาต้นแบบทางการแพทย์ต่อไป


1022894.jpg


อีกทั้ง วิจัยและพัฒนาต่อยอดสูตรตำรับยาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ยาที่มีรูปแบบต่างๆ เหมาะสมกับการนำไปใช้รักษาโรคแต่ละชนิด ในรูปแบบต่างๆ เช่น sublingual drop (น้ำมันหยดใต้ลิ้น), transdermal patch (แผ่นแปะผิวหนัง), suppository (ยาเหน็บ), cream และ capsule เป็นต้น และจะขยายกำลังการผลิตจากระดับห้องปฏิบัติการ ไปสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐานการผลิต GMP PICs ด้านการศึกษาวิจัยด้าน preclinical และ clinical 

สำหรับโรคต่างๆ ซึ่งเป็นการทดสอบในคน เพื่อเป็นการพิสูจน์ถึงความปลอดภัย และประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ยาจากสารสกัดกัญชา และรวบรวมข้อมูลสำหรับขึ้นทะเบียนจาก อย. ก่อนที่จะนำไปผลิตออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างกว้างขวางต่อไป ทั้งนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเป้าหมายตามประกาศของคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์จากกัญชา จะสามารถเข้าถึงยาจากสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรมเพื่อรักษาโรค เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยทางด้านคลินิคเหล่านั้น

ส่วนการเตรียมการผลิตในระดับอุตสาหกรรมนั้น องค์การฯ มีแผนในเบื้องต้น โดยในระยะแรกนั้นจะดำเนินการผลิตวัตถุดิบสารสกัดกัญชาที่องค์การเภสัชกรรม พระราม 6 ไปก่อน หลังจากนั้นองค์การฯจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโดยใช้พื้นที่ขององค์การเภสัชกรรมเอง ที่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่โรงเรือนเพาะปลูก และก่อสร้างโรงงานผลิตสารสกัดสำหรับผลิตวัตถุดิบสารสกัดกัญชาอย่างครบวงจร และส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชานั้นจะผลิตที่องค์การเภสัชกรรม พระราม 6 กรุงเทพฯ ภายใต้มาตรฐาน GMP PICs ต่อไป