นายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา รักษาการ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เปิดเผยถึงกรณีการจับกุมนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวก ว่า ก่อนหน้านี้นายเปรมชัย และพวก ยื่นเอกสารมาขออนุญาตเข้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ตะวันตก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง) แต่เอกสารยังไม่ครบ ทำให้ยังไม่ได้อนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ จึงถือว่าเป็นการเข้าไปแบบไม่ได้รับอนุญาต ทำให้ต้องดูว่าเส้นทางการเข้านั้นเข้าไปอย่างไร
นายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา รักษาการ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี
ส่วนการตรวจยึดซากสัตว์และอาวุธปืนในที่เกิดเหตุนั้น มีความผิดด้าน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และต้องดูว่ามีความผิดเรื่องใดบ้าง สำหรับการลอบนำอาวุธเข้าไปภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ นั้น นายธรรมรัตน์ กล่าวว่า ต้องไปดูอีกทีว่าผ่านเข้าไปได้อย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นคนละกระบวนการกับการจับกุม การจับกุมแยกไปอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนการนำเข้าหรือลักลอบเข้าถือให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า ตำรวจบังคับใช้กฎหมาย 100% กรณีการจับกุมนายเปรมชัย และพวก โดยย้ำว่า แม้ผู้ต้องหาจะมีธุรกิจใหญ่โต กฎหมายก็ไม่ละเว้น พร้อมกำชับพนักงานสอบสวนให้ทำคดีตามเนื้อผ้า ไม่ต้องหวั่นเกรง
น.ส. กาญจนา นิตยะ ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่มองในแง่ดี ว่าผู้ที่ขอเข้าไปในพื้นที่ป่า ไม่ได้มีประสงค์ร้าย เพราะเห็นว่ามีการขออนุญาตตามขั้นตอน และบอกว่าจะเข้าไปศึกษาธรรมชาติ จึงอนุญาตให้เข้าไป ส่วนเรื่องการตรวจสอบเครื่องมือล่าสัตว์ และอาวุธปืน แม้จะมีการสุ่มตรวจ(ด้วยตาเปล่า) แต่ก็ไม่พบ คาดว่ามีความชำนาญในการซุกซ่อน อีกทั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าฯ ก็ไม่ได้มีเครื่องมือตรวจสอบอาวุธ หรือ โลหะ จริงจัง พร้อมยืนยัน ในฐานะ 'นักอนุรักษ์อาชีพ' จริงจังในการทำหน้าที่ดูแลรักษาป่า และสัตว์ป่า เชื่อคนส่วนใหญ่ตระหนักเรื่องนี้ และเชื่อฟังเจ้าหน้าที่ จะมีเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เคารพกติกา
(ภาพจากเฟซบุ๊กกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช)
ด้าน เยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ประจำประเทศไทย กล่าวถึงกรณี นี้ว่า การล่าสัตว์ป่าในไทยโดยเฉพาะค่านิยมของนักธุรกิจ อีกทั้งยังมีความผิดภายใต้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เช่น ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม ม. 36 และ 53 ความผิดร่วมกันล่าสัตว์ป้าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ม.16 และ 47 ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าหรือจับสัตว์หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ส่วนความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่้องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 นั้น ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องกล่าวโทษต่อไป
โดย ผอ. องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการจับกุมครั้งนี้ เป็นกรณีตัวอย่างในการดำเนินการอย่างถึงที่สุดตามกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า และองค์กร-หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีกำลังใจ และได้รับการคุ้มครองและสนับสนุน มีความเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐ พร้อมหวังว่ากรณีนี้จะเป็นกรณีศึกษาที่ดีที่สุดที่เปิดเผยให้สังคมไทยได้เข้าใจว่าประเทศไทยมีการลักลอบล่าสัตว์ผิดกฎหมาย และไทยเรายังมีเสือดำ เสือดาว ที่แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่ควรเก็บรักษาไว้
อีกทั้ง อยากให้จัดการกับกรณีนี้อย่างโปร่งใสเข้มงวด และส่งผลให้เกิดการยุติการล่าและลักลอบค้าสัตว์ป่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง