วันนี้ (13 พฤษภาคม 2562) นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการแผนและพัฒนาองค์กร การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นายศรัณย์พงศ์ อาชว์สุนทร รองผู้ว่าการวางแผนและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) และนายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมเป็นประธานในงานแถลงผลการดำเนินงานและการประชุมเชิงปฏิบัติการมาตรการ EERS โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมงาน ณ ห้องริชมอนด์บอลรูม โรงแรมริชมอนด์
นายวีรวัจน์ บัวทอง รองผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการนำร่องมาตรการ EERS มีเป้าหมายเพื่อนำร่องศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรค และศักยภาพของภาคการใช้ไฟฟ้าต่างๆ จากการลงพื้นที่จริง โดย ในปี 2562 กฟน. มีโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานทั้งหมด 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการ กฟน. ล้างแอร์ลดโลกร้อน เป็นโครงการที่ กฟน. ให้บริการล้างเครื่องปรับอาการศแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นประจำทุกปี ในอัตราค่าบริการพิเศษเพียง 300 บาท จำนวนจำกัดที่ 25,000 เครื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าตระหนักถึงการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องปรับอากาศ และประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการส่งเสริมการประหยัดไฟฟ้าด้วยหลอด LED ซึ่งนำร่องในกลุ่มอาคาร/โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็ก โดย กฟน. จะสนับสนุนผลประหยัดให้หน่วยละ 1 บาท รวมทั้งโครงการจำนวน 1 ล้านบาท เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน - 15 พฤษภาคม 2562 หรือจนกว่าเงินสนับสนุนจะหมด ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือดาวน์โหลดใบสมัครผ่านทางเว็บไซต์ กฟน. และโครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร (MEA Energy Saving Building) หรือโครงการประกวดอาคารประหยัดพลังงาน เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำด้านการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับอาคารที่ได้รับรางวัลจะได้รับเครื่องหมายแสดงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคารและเงินรางวัลโดยคาดว่าจะเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการได้ในปลายปี 2562
สำหรับมาตรการ EERS เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards : EERS) โดยกำหนดให้ 3 การไฟฟ้า ดำเนินโครงการนำร่องในช่วงปี 2561 – 2565 เพื่อศึกษาถึงผลการลดการใช้ไฟฟ้า ก่อนนำมากำหนดแนวทางเป็นการดำเนินงานมาตรการภาคบังคับในปี 2566 - 2579 อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โดยแบ่งมาตรการดำเนินงานที่เหมาะสม 3 ประเภท ประกอบด้วย มาตรการให้คำปรึกษา ดำเนินงานในลักษณะที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้าในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทุกภาคส่วน มาตรการใช้แรงจูงใจทางการเงิน สนับสนุนการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมาตรการลักษณะภาพรวม (Mass) ส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงโครงการนำร่องนี้ รวม 206 ล้านหน่วย