ไม่พบผลการค้นหา
ส.ส.นครศรีธรรมราช เผย กระทรวงพลังงาน ตอบกลับผลการตรวจสอบก้อนน้ำมันในอ่าวไทย พื้นที่ชายหาดอ.ปากพนัง-หัวไทร ชี้ไม่ได้เกิดจากแหล่งปิโตรเลียม ปตท.

สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2 จ.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีข้อหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.63 กรณีปัญหาการเกิดคราบน้ำมันในพื้นที่ อ.ปากพนัง และอ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2563 โดยขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้แจงถึงแหล่งที่มาของคราบน้ำมันดังกล่าวในประชาชนได้รับทราบนั้น

ล่าสุด สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีหนังสือตอบกลับประธานสภาผู้แทนราษฎร ต่อเรื่องดังกล่าว โดยระบุถึงสาเหตุการเกิดก้อนน้ำมันว่า กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมติดตามสถานการณ์และรวบรวมสถิติการเกิดก้อนน้ำมัน (Tarball) ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลาดังกล่าว เกิดเหตุการณ์ก้อนน้ำมันขึ้น 5 ครั้ง บริเวณชายหาด อ.หัวไทร 4 ครั้ง และ อ.ขนอม 1 ครั้ง โดยได้ขอให้ บ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ตัวอย่าง เปรียบเทียบเอกลักษณ์ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ซึ่งพบว่ามีความแตกต่างกับเอกลักษณ์ของน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน จะดำเนินการนำตัวอย่างน้ำมันดิบจากต่างประเทศ น้ำมันที่ใช้ในเรือเดินสมุทร ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันหล่อลื่น มาวิเคราะห์และทำการเปรียบเทียบเพื่อหาแหล่งที่มาต่อไป เบื้องต้นจากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล ของคณะอนุกรรมการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์ทางทะเล (อจชล.) ได้ระบุถึงสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันที่พบมากที่สุด จนนำไปสู่การเกิดก้อนน้ำมัน ในกรณีที่ไม่มีกิจกรรมการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม คือ 1.อุปกรณ์ของเรือที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บน้ำมันชำรุด 2.การสูบถ่ายน้ำมันกลางทะเลระหว่างเรือขนาดใหญ่ หรือระหว่างเรือกับท่าเทียบเรือ 3.การลักลอบทิ้ง หรือปล่อยน้ำมันชนิดเดิมก่อนบรรทุกน้ำมันชนิดใหม่ หรือลักลอบถ่ายน้ำอับเฉา 4.เรืออับปางจากเรือชนกัน ชนหินโสโครก หรือเกิดไฟไหม้

อย่างไรก็ตามสำหรับความคืบหน้าถึงสาเหตุการเกิดคราบน้ำมัน หรือก้อนน้ำมันในทะเลพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชนั้น ตนจะติดตามการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง มีผลต่อการสร้างรายได้ จากอาชีพหลักคือประมง และภาคการท่องเที่ยว ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่