ไม่พบผลการค้นหา
ปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา "มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง" โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและอดีตผู้นำนักศึกษา 14 ตุลา ระบุ สังคมไทย 'รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน' หลังเลือกตั้งหากทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน มีโอกาสร่วมมือกันแก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ปาฐกถา 45 ปี 14 ตุลา ครั้งที่ 4 "มองประเทศไทยหลังการเลือกตั้ง ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง" โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการและอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เล่าถึง 3 ประเด็นใหญ่ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

ธีรยุทธ กล่าวว่า สังคมไทยเหมือนฟันเฟืองขนาดใหญ่ ตลอด 20 ปี ปัญหาที่ใหญ่กว่าวิกฤติการเมือง คือ ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นคนรวยเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ควบคุมกลไกผูกขาดความมั่งคั่ง จนมีลักษณะคล้ายกับอยู่เหนือรัฐบาล ส่วนการคอร์รัปชันก็ขยายวงกว้างไปทุกระดับชั้น หากมองในด้านสังคมวิทยามองว่าความจนไม่ใช่เพียงแค่วัตถุ แต่ต้องมองด้วยความสามารถของแต่ละบุคคล 

"กลุ่มทุนใหญ่สามารถขยายอิทธิพลผูกขาดทางเศรษฐกิจได้อย่างเด็ดขาด ยกตัวอย่างเช่น สะกดไม่ให้มีเสียงคัดค้านหรือไม่ให้มีกฎหมายออกมาจำกัดการผูกขาดสัมปทาน" ธีรยุทธ กล่าว

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจ 4.0 ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์นั้น เห็นว่าเราไม่พร้อมสำหรับอุตสาหกรรม 4.0 เพราะจำเป็นต้องมองในระบบคิด สังคมที่ไปต่อได้ต้องเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร คือการเปลี่ยนแปลงทุกมิติ สำหรับข้อดีของนโยบาย 4.0 คือการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจและคนในสังคมตื่นตัวต่อผลกระทบของ supply chain หรือเศรษฐกิจแบบรื้อสร้าง อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลไม่ได้เริ่มต้นด้วยการทำให้เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร นโยบาย Smart เกือบทั้งหมดไม่เห็นผลจริง เพราะตั้งเป้าหมายเกินจริง ล้าสมัย เสมือนผักชีโรยหน้า 


ธีรยุทธ มองไทยหลังการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกันการทุ่มสุดตัวให้ 4.0 ของรัฐบาล โดยที่ระดับเทคนิค บุคลากร พื้นฐานต้นทุนอุตสาหกรรมที่มี การศึกษาวิจัยที่ยังไม่พร้อมอาจไม่เป็นตามเป้า ส่วนโครงการ EEC หากมองในสายงานการผลิตจนถึงบุคลากร เราอาจไม่มีศักยภาพพอจะผลิต จึงสะท้อนถึงอุดมการณ์เศรษฐกิจ ที่แก่นของมันอาจจะเป็นการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อขายให้ต่างชาติ 

ดังนั้นควรจะเปลี่ยนจากเศรษฐกิจบริกรให้เป็นเศรษฐกิจบริการได้หรือไม่ เพื่อสร้างการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และอยากให้ระวังในเรื่องการแสดงออก ยกตัวอย่างเช่น เรื่องนักท่องเที่ยวจีน ควรระมัดระวังเพราะอาจเกิดความเสี่ยงได้ เพราะนักท่องเที่ยวเข้ามาเสพภาพลักษณ์ ซึ่งประเทศเรามีศักยภาพพอในการสร้างจุดขายนี้

รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน

เมื่อเข้าสู่ประเด็นสังคม 'ธีรยุทธ' กล่าวว่า ตลอด 20 ปีหลังวิกฤติทางเศรษฐกิจภาพที่ปรากฎชัดขึ้นในสังคมคือ ความต่างทางรายได้สูงขึ้นเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ดังปรากฎ 'คนรวยรวยล้นพ้น คนจนพอมีอยู่มีกินมากที่สุด' ส่วนหนึ่งอาจมีรายได้ดีขึ้นแต่ก็เป็นส่วนน้อยที่ก้าวไปเป็นชนชั้นกลางได้ ส่วนชนชั้นกลางที่คาดว่าจะเป็นขยายตัวมีรายได้สูงขึ้น จะนำพาประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ก็เป็นเพียงความฝันกลางวัน อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยคือสังคม 2 ชนชั้นครึ่ง ที่ชนชั้นกลางยุบตัวลงไปเป็นชนชั้นล่าง ทับซ้อนกับชนชั้นล่างที่ขยายตัวขึ้นบน และต้องเปลี่ยนคำขวัญเป็น 'รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน' ที่แปลว่าไม่โต แคระเกร็น

ธีรยุทธ มองไทยหลังการเลือกตั้ง

สำหรับปัญหาคอร์รัปชันก็ได้ขยายลงสู่รากหญ้า เช่น การทุจริตในแวดวงการศึกษา ในวงการสงฆ์ รวมถึงข้าราชการ อาจมีสาเหตุจากโรคระบาดทางคุณธรรม คือคนรวยโกงได้ คนชั้นกลาง คนชั้นล่างก็โกงได้ อีกสาเหตุคือแรงบีบคั้นความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มขึ้น ชาวบ้านระดับล่างจึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายประชานิยม ขณะที่ชนชั้นกลางก็ต้องเข้าหาการคอร์รัปชัน เกิดความนิยมสร้างเครือข่ายในแนวราบ อาทิเช่น ผ่านกลุ่มเพื่อนเดียวกัน กลุ่มโครงการอบรมพิเศษของ วปอ. หรือ ศาล เพื่อสร้างเครือข่ายเพิ่มอำนาจต่อรองกับชนชั้นสูง จนนำไปสู่การคอร์รัปชันแบบใหม่คือคอร์รัปชันคอนเนกชัน

ขณะเดียวกันปัจจุบันสะท้อนให้เห็นว่าคนจนไทยจนความหวัง เพราะไม่มีโอกาสเลื่อนชั้นทางสังคม อาจพอเพียงทางวัตถุแต่ไม่พอเพียงทางโอกาส ทำให้คนจนเป็นกลุ่มเดียวที่ต้องดินรนทำอาชีพหลากหลายมากที่สุด ดังนั้นจึงมีข้อเสนอรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลหน้าควรแบกะดินให้ครบทุกภาคส่วน เนื่องจากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ละเลยคนจน สนับสนุนกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหญ่อย่างเต็มที่จนไม่น่าเชื่อ อีกปัญหาคือปัญหาคุณภาพการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น รัฐบาลต้องระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี  

ประชาธิปไตยใต้อำนาจกลุ่มทุนใหญ่

ด้านวิกฤติ การเมืองไทย 'ธีรยุทธ' เห็นว่าวิกฤติ การเมืองเกิดจากความพยายามของกลุ่มทุนใหญ่ ก่อนเกิดวิกฤติการเมืองไทยมีเหตุการณ์ใหญ่คือการเรียกร้องปฏิรูปการเมืองปี 2540 และวิกฤติต้มยำกุ้ง ส่งผลให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา โดยทางออกคือการออกแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น ซึ่งพลังที่จะมีศักยภาพ ต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญคือ บุคคลที่มีบารมี กองทัพ และกลุ่มทุนใหญ่ ซึ่งความคิดนี้ถูกทดลองใช้ครั้งแรกผ่านกลุ่ม 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่อาศัยพลังเงินในการรวบรวม ส.ส.เข้าพรรค และ 'ประชานิยม' อย่างไรก็ตามกลุ่มทักษิณ รวมศูนย์อำนาจและคอร์รัปชันแบบสุดขั้ว คุกคามอำนาจทหาร ฝ่ายอนุรักษ์ และกลุ่มทุนใหญ่อื่นๆ จนเกิดการต่อต้านรุนแรง นำไปสู่การรัฐประหาร 2 ครั้ง


ธีรยุทธ มองไทยหลังการเลือกตั้ง


สำหรับประเด็นการสืบทองอำนาจของคสช.นั้น 'ธีรยุทธ' มองว่า คสช.ตั้งใจสืบทอดอำนาจมานานแล้ว ตั้งแต่ล้มรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์มาเป็นร่างฉบับมีชัย เปิดช่องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก ทั้งมีการดึงกลุ่มการเมือง กลุ่มยี้ กลุ่มมาร มารวมเป็นพลังประชารัฐ โดยไม่กังวลต่อเสียงวิจารณ์ จึงการันตีได้ว่ามีความเป็นได้สูงที่ 'พล.อ.ประยุทธ์' จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ความชอบธรรมจะต่ำ เพราะคสช.ได้ทำลายความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ปิดกั้นการตรวจสอบ พฤติกรรมเลือกตั้งก็ไม่ต่างจากระบอบทักษิณ คือการเอาเปรียบก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นการเลือกตั้งปี 2562 คือการประมูลสัมปทานคะแนนเสียงเป็นรัฐบาล คล้ายการเลือกตั้งปี 2542 ซึ่งพรรคทักษิณได้พัฒนาจากการซื้อเสียงธรรมดาเป็นการประมูลสัมปทานเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยใช้ประชานิยมจนได้รับการต่ออายุสัมปทานหลายรอบ 


"ขอเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ และกองทัพ อย่าปล่อยให้เกิดการโกงเลือกตั้งเพราะอาจทำให้สังคมกลับไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง" ธียุทธ กล่าว

ขณะเดียวกันปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในการเมืองใหม่คือ การแตกมิติ 4 อย่าง คือ โซเชียลมีเดีย คนรุ่นใหม่ พลังจิตอาสา และการแตกตัวของพรรคเพื่อไทย โดยการเกิดสังคมออนไลน์มีพลังทำให้หน่วยงานของรัฐตอบสนองในหลายกรณี จึงถือเป็นอีกความหวังในการปฏิรูปบางด้านและต่อต้านคอร์รัปชันได้ ส่วนปรากฎการณ์ของคนรุ่นใหม่ จนถึงขั้นตั้งพรรค เช่นพรรคอนาคตใหม่ ที่ออกมาสอดคล้องกับความต้องการของสังคมที่ต้องการสิ่งใหม่และปฏิเสธวัฒธรรมอำนาจทางการเมืองแบบรุ่นเก่า

ส่วนพลังจิตอาสาเป็นพลังของคนไทยที่มีความเป็นปัจเจกชน ที่อาจกลายเป็นพลังสำคัญหนึ่งของสังคมไทยที่จะปฏิรูปตนเองได้ ส่วนอีกหนึ่งกรณีที่น่าศึกษาคือการแตกตัวของพรรคเพื่อไทย ที่มีฐานเสียงที่กว้างขวางตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจส่งผลให้โครงสร้างการเมืองดีขึ้น เพราะกลุ่มการเมืองจะมีอิสระมากขึ้น การขึ้นอยู่กับตัวบุคคลและบางครอบครัวลดลง 

"ดังนั้นถ้าพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และทุกพรรค เห็นพ้องต้องกันและไม่สร้างวาทกรรมแบบเกลียดชังสุดขั้ว ก็จะทำให้การเลือกตั้งคราวหน้าเดินไปด้วยดี และมีโอกาสร่วมมือกันแก้กฎหมายให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น" ธีรยุทธ กล่าว