โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคประจำถิ่นที่พบในประเทศไทยมายาวนาน โดยมักจะระบาดหนักในช่วงฤดูร้อน ในปี 2561 กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ด้านสาธารณสุข ประเทศไทยมีสัตว์จรจัดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะเป็นจำนวนมาก ประกอบกับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อได้ง่ายเพียงสัมผัสกับน้ำลาย เลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะ เมื่อโรคพิษสุนัขบ้าระบาด จึงทำให้มีโอกาสติดต่อเข้าสู่สัตว์ชนิดอื่นรวมถึงมนุษย์สูง และเมื่อติดโรคแล้วหากไม่ได้รับวัคซีนอย่างทันท่วงที โอกาสเสียชีวิตก็แทบจะมากถึง 100%
พระราชบัญญัติโรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงมีหน้าที่ต้องนำสัตว์เลี้ยงของตนไปฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ประกอบกับพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 ได้กำหนดให้กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันโรคระบาดสัตว์ทั่วราชอาณาจักร แต่สัตว์จรจัดนั้นไม่มีเจ้าของดูแลรับผิดชอบ ทำให้เมื่อเกิดการระบาด มักจะพบจากสัตว์จรจัดก่อนเป็นสำคัญ
ภายหลังจากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นใน พ.ศ. 2543 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีงบประมาณและบุคลากรสามารถบริหารงานอย่างเป็นอิสระในระดับหนึ่ง กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมอบหน้าที่การจัดซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า และการจัดหาสัตวแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนทั้งกับสัตว์เลี้ยงตามบ้านและสัตว์จรจัดให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เราพบการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ตามเทศบาล อบต. ต่างๆ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ส่งผลให้ภาวะการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยทุเลาลงในระดับหนึ่ง
แต่ภายหลังจาก พ.ศ. 2557 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้เข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณปี 2556 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ และได้ทำหนังสือเสนอแนะเรื่องการใช้เงินซื้อวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าของเทศบาลตำบลสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา ว่าไม่เป็นไปตาม พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า ที่กำหนดให้กรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาวัคซีน อีกทั้งได้มีการเรียกเงินคืนและสอบวินัยเจ้าหน้าที่เทศบาลที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว กลายเป็นข่าวใหญ่ในหมู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนอปท. ยกเลิกโครงการซื้อวัคซีนออกบริการฉีดให้แก่สัตว์เลี้ยงและสัตว์จรจัดทั้งประเทศ
ในปี 2559 สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้กรมปศุสัตว์ได้ยื่นตีความต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ชี้ขาดข้อพิพาทว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดซื้อวัคซีนหรือไม่ และกฤษฎีกาได้ตีความแย้งความเห็นของ สตง. ว่า อปท.สามารถจัดซื้อได้แล้วก็ตาม แต่ สตง. ยังคงตามตรวจสอบประเด็นวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาว่าวัคซีนที่จัดซื้อไม่ได้คุณภาพ จัดซื้อราคาแพงเกินไป จนองค์การอาหารและยาเข้ามาแทรกแซงเรื่องการนำเข้าวัคซีน ทำให้วัคซีนพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยขาดสต็อคไประยะหนึ่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่กล้าตั้งงบประมาณจัดซื้ออีกด้วยเกรง สตง. จะเรียกเงินคืนและฟ้องร้องเป็นเรื่องยาว
ทำให้ในปีนี้ โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนักเพิ่มจากปีก่อนๆ ถึงสองเท่าตัว จนถึงต้นเดือนมีนาคม มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้ว 3 คน กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศพื้นที่การระบาดครอบคลุมพื้นที่ 55 จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่ระบาดรุนแรง 13 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง 42 จังหวัด รวมถึงอีก 7 เขตในกรุงเทพมหานคร
ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้านี้ ไม่ใช่แค่เรื่องโรคระบาดสัตว์ แต่ยังสะท้อนถึงความหวาดระแวงการกระจายอำนาจไปยังหน่วยงานท้องถิ่น มองการเมืองท้องถิ่นว่าเป็นแหล่งคดโกงคอรัปชัน ต้องยึดอำนาจคืนเข้าสู่ส่วนกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2557
เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและนักการเมืองท้องถิ่นส่วนหนึ่ง ใช้การเมืองท้องถิ่นเป็นแหล่งแสงหาผลประโยชน์ ใช้เงินผิดประเภท เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงจริง
แต่การย้อนยุครวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ไม่ควรเป็นทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เนื่องจากนโยบายส่วนกลางไม่สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ในแต่ละท้องถิ่นได้ทันท่วงที และการแก้ไขปัญหาจะเป็นไปอย่างล่าช้า จนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนขึ้นมาก่อน และยังรับประกันไม่ได้ว่าการทุจริตคอรัปชันจะลดลง เนื่องจากราชการส่วนกลางซึ่งก็มีประวัติการทุจริตรุนแรงไม่ต่างกันมาก่อนในอดีต
การกระจายอำนาจให้เกิดผลดี จึงควรมาพร้อมกับการตรวจสอบที่ดี โดยไม่ตั้งอคติไว้ล่วงหน้าว่าทุกสิ่งที่ท้องถิ่นทำนั้นมีการโกง ระเบียบปฏิบัติสามารถยืดหยุ่นแก้ไขได้ตามสภาพการณ์ที่เหมาะสมโดยใช้วิธีตั้งข้อเสนอแนะมากกว่าจะลงโทษเอาผิด โดยเน้นที่ความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนตัวของผุ้บริหาร พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ
แต่ในปีนี้ เราก็คงต้องรักษาเนื้อรักษาตัว หากมีสัตว์เลี้ยงรีบพาไปฉีดวัคซีน เห็นสุนัขหรือแมวจรจัดอย่าเข้าไปเล่นหัว รีบหลบกันไปก่อนก็แล้วกัน