องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน หรือ RSF ออกรายงานพิเศษชื่อว่า "สื่ออิสระกำลังถูกทำลายอย่างหนัก" ซึ่งระบุว่ารัฐบาลของนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ทำลายเสรีภาพสื่อในกัมพูชาอย่างเป็นระบบหลังการเลือกตั้งปี 2013 พร้อมทั้งโจมตีคู่แข่งทางการเมืองและองค์กรภาคประชาชน
RSF ระบุว่านายฮุน เซน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับพลังของสื่อมวลชนและองค์กรภาคประชาชนในช่วงการเลือก ตั้งปี 2013 จึงต้องการปิดปากคนที่เห็นต่างด้วยการข่มขู่ผู้สื่อข่าวและสั่งปิดสำนักข่าว ก่อนจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมปีนี้ โดยใช้ยุทธศาสตร์ที่ให้สื่อต้องเลือกว่าจะเข้าข้างรัฐบาลหรือจะต่อต้าน หากต่อต้านสื่ออิสระทั้งหมดจะถูกแบน ขัดขวาง หรือข่มขู่
การปิดสำนักข่าว Cambodia Daily เมื่อเดือนกันยายนปี 2017 เป็นการทำลายประชาธิปไตยกัมพูชาครั้งใหญ่ เพราะตลอด 24 ปีที่ผ่านมา สำนักข่าวดังกล่าวช่วยส่งเสริมกระบวนการทางประชาธิปไตยในกัมพูชาผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงการทำข่าวสอบสวน แต่กลับถูกปฏิเสธการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ โดยข่าวหน้าหนึ่งของ Cambodia Daily ฉบับสุดท้ายก็เป็นเรื่องการจับกุมนายเกิม เสิกขา หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านด้วยข้อหากบฏ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง
นอกจากนี้ กัมพูชายังสั่งปิดสถานีวิทยุท้องถิ่น 21 สถานี รวมถึงสถานี Radio Free Asia ส่วนผู้สื่อข่าวของ RFA ก็ถูกจำคุก 15 ปีหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับ และนับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 14 รายที่ถูกสังหารจากการทำหน้าที่รายงานข่าว ในจำนวนนี้คือนายเกิม เลย ผู้ที่มักวิจารณ์การเมืองกัมพูชา และถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อปี 2016 ไม่นานหลังจากออกมาเปิดโปงเกี่ยวกับดีลธุรกิจของครอบครัวนายฮุน เซน ส่งผลให้ครอบครัวของนายเกิมต้องลี้ภัยไปออสเตรเลีย
กฎหมายอาชญากรรมไซเบอร์ยังมักถูกนำมาใช้ควบคุมสื่อและลงโทษผู้เห็นต่างที่โพสต์ข้อความบนโลก ออนไลน์ เป็นกลยุทธ์ในการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวจนประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง
ขณะเดียวกัน สื่อที่เข้าข้างรัฐบาลทั้งหลายมักถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีฝ่ายต่อต้าน รัฐบาล ด้วยการชี้ให้เห็นข้อเสียของประเทศอื่น เพื่อดิสเครดิตคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงกัมพูชาให้ทักเทียมกับประเทศอื่น รวมถึงวิจารณ์สหรัฐฯ ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติสีเสื้อที่พยายามจะโค่นล้มรัฐบาลของนายฮุนเซน
นายสม รังสี อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านของกัมพูชาที่ลี้ภัยทางการเมือง ได้ไปร่วมงานของสมาคมสื่อออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ก่อน และเรียกร้องให้ออสเตรเลียช่วยฟื้นฟูประชาธิปไตยในกัมพูชา เพราะกัมพูชาเป็นประเทศเล็กและอ่อนแอเกินไป และการช่วยสร้างประชาธิปไตยในกัมพูชาอาจเป็นแรงผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน
ปัจจุบัน สถานการณ์เสรีภาพสื่อในอาเซียนตกต่ำอย่างมาก ล่าสุด นายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพิ่งสั่งห้ามไม่ให้ Rappler สื่อออนไลน์ชื่อดังเข้าไปทำข่าวในงานที่นายดูแตร์เตไปร่วม โดยให้เหตุผลว่า เขาเบื่อ "ข่าวปลอม" ของสำนักข่าวดังกล่าว คำสั่งแบนนี้มีขึ้นไม่นานหลังจากที่ทางการฟิลิปปินส์สั่งเพิกถอนใบอนุญาต ประกอบวิชาชีพของ Rappler เพราะมีต่างชาติลงทุนในบริษัท ขณะที่เมียนมาก็ยังคงคุมขังผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส 2 คนด้วยข้อหาเปิดเผยข้อมูลด้านความมั่นคง จากการเข้าไปรายงานข่าวการลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่