ไม่พบผลการค้นหา
นิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.76 'ไม่เชื่อมั่น' มีการเลือกตั้งภายใน ก.พ. ปี 2562 เหตุเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง ด้าน 'กรุงเทพโพลล์' เปิดผลสำรวจพบประชาชนร้อยละ 37.66 มองการเรียกร้องของ 'คนอยากเลือกตั้ง' ให้จัดเลือกตั้งในปี 2561 'เป็นไปไม่ได้' เพราะยังมีการแก้ไขกฎหมาย

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' หรือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 2)" จากการสำรวจความเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกภูมิภาค ระดับการศึกษาและอาชีพทั่วประเทศ รวมท้ังสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.52 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ เพราะอยากเห็นคนใหม่ๆ รวมถึงนโยบายใหม่และแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ บางส่วนระบุว่าเบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองเก่า ร้อยละ 37.36 ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะมีประสบการณ์ ทำงานอย่างมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน มีความคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี เข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่ และร้อยละ 5.12 ระบุว่า ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านบุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า 

  • อันดับ 1 ร้อยละ 32.24 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 
  • อันดับ 2 ร้อยละ 17.44 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) 
  • อันดับ 3 ร้อยละ 14.24 ระบุว่าเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)
  • อันดับ 4 ร้อยละ 10.08 ระบุว่าเป็น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (พรรคอนาคตใหม่) 
  • อันดับ 5 ร้อยละ 7.92 ระบุว่าเป็น พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย) 
  • อันดับ 6 ร้อยละ 6.24 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) 

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือน ก.พ. 2562 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.76 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่น เพราะยังไม่มีความพร้อม สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น

รองลงมา ร้อยละ 31.68 ระบุว่า เชื่อมั่น เพราะ บ้านเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะ ปกติแล้ว เชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และจะได้เป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลได้วางไว้ และร้อยละ 10.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

คนอยากเลือกตั้ง พค

'สวนดุสิตโพล' พบปชช.คาดเลือกตั้งในปี 61 ไม่เกิดตามข้อเรียกร้อง 'คนอยากเลือกตั้ง'

ด้านมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,163 คน จากกรณีการประท้วงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้งภายในปีนี้ (ปี 2561) และจะมีการจัดชุมนุมใหญ่ขึ้นอีกครั้งในวันที่ 22 พ.ค. นี้

เมื่อถามถึงประชาชนคิดอย่างไร? กรณีการประท้วงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อันดับ 1 ร้อยละ 49.43 ระบุการประท้วงเป็นสิทธิสามารถทำได้ ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม อันดับ 2 ร้อยละ 24.33 เรียกร้องอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว อันดับ 3 ร้อยละ 22.43 ต้องไม่สร้างความวุ่นวาย ความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น อันดับ 4 ร้อยละ 16.35 ต้องการประท้วงรัฐบาลที่ต้องการสืบทอดอำนาจ อันดับ 5 ร้อยละ 12.55 มีออกมาให้เห็นเป็นระยะ ขอให้ทุกคนใจเย็น มีสติ ไม่วู่วาม

ส่วนข้อเรียกร้องที่อยากให้มีการเลือกตั้งในปีนี้ (ปี 2561) ประชาชนคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่? อันดับ 1 ร้อยละ 37.66 เป็นไปไม่ได้ เพราะ นายกฯ ประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ยังมีการแก้ไขกฎหมายอยู่ ยังไม่ได้ปลดล็อคพรรคการเมือง อาจเตรียมการเลือกตั้งไม่ทัน ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 33.71 ไม่แน่ใจ เพราะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ต้องรอดูผลการเจรจา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ฯลฯ

อันดับ 3 ร้อยละ 28.63 เป็นไปได้ เพราะมีการประท้วงเป็นระยะ สร้างความกดดันต่อรัฐบาล ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว นายกฯ เคยประกาศว่าจะมีเลือกตั้งในปี 2561 ฯลฯ

นอกจากนี้ ประชาชนเห็นด้วยกับการประท้วงครั้งนี้หรือไม่? อันดับ 1 ร้อยละ 52.01 ไม่เห็นด้วย เพราะ ควรใช้วิธีการที่สันติ แสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อาจได้ไม่คุ้มเสีย รัฐบาลต้องดำเนินการตามโรดแมป กระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศชาติ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 47.99 เห็นด้วย เพราะ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ประชาชนได้ออกเสียง ใช้สิทธิของตนเอง ฯลฯ

'ซูเปอร์โพล' เผยส่วนใหญ่ยังไม่อยากให้เร่งเลือกตั้ง

ด้านสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง โพลเลือกตั้ง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,105 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 74.1 ระบุการเลือกตั้งจะมีผลดี เพราะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ต่างชาติเข้ามาลงทุน ประชาธิปไตยมีการพัฒนาให้ดีขึ้น เป็นผลดีต่อประชาชน คืนสิทธิให้ประชาชน และให้คนอื่นเข้ามาบริหาร คนรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ

ขณะที่ ร้อยละ 25.9 ระบุมีผลเสีย ในเรื่อง อาจะมีเหตุการณ์วุ่นวาย เกิดการโกงการเลือกตั้ง เสียงบประมาณแผ่นดิน เกิดความขัดแย้ง ถ้าได้คนไม่ดีประเทศก็เสียหาย นโยบายไม่ต่อเนื่อง ประชาชนไม่พร้อม อาจเกิดการคอร์รัปชั่นอีก เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงควรเร่งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว หรือ เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน บริหารจัดการให้ดีก่อนเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.9 ระบุ เป็นเรื่องที่ต้องวางแผน บริหารจัดการให้ดีก่อนเลือกตั้ง และ ร้อยละ 28.1 ระบุ ควรเร่งจัดการเลือกตั้งให้เร็ว   

นอกจากนี้ เมื่อถามว่า การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ทำให้คุณได้เรียนรู้เรื่องอะไรในสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ พบว่า คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 23.0 ระบุ การซื้อสิทธิขายเสียง ร้อยละ 17.7 ระบุ ความวุ่นวาย ขัดแย้งรุนแรงบานปลาย ร้อยละ 17.1 ระบุ คนไทยรักประชาธิปไตย ร้อยละ 14.6 ระบุ ความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง ร้อยละ 13.3 ระบุ การโกงการเลือกตั้ง ร้อยละ 11.0 ระบุ อำนาจของภาคประชาชน และมีเพียงร้อยละ 2.1 ระบุ หักปากกาเซียน พลิกความคาดหมาย ผู้ชนะการเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ประชาชนสวนใหญ่ หรือร้อยละ 61.6 ระบุไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ในขณะที่ ร้อยละ 38.4 ระบุ เชื่อมั่น

ข่าวเกี่ยวข้อง :