ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ กลุ่มนโยบายทรัพยากรมนุษย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ให้มุมมองเชิงมหภาคของภาคการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยระบุว่า สำหรับภาคบริการ ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดที่มีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) 6.03 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 58.5 มีแรงงานที่อยู่ในภาคบริการมากกว่าภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยข้อมูลต้นปี 2561 มีแรงงานจำนวนประมาณ 17 ล้านคนหรือมากกว่าร้อยละ 45.5 อาจจะกล่าวได้ว่าสาขาบริการสามารถดูดซับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีและแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาจากสาขาเกษตรไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน
แรงงานในสาขาบริการมีระดับการศึกษาตรงข้ามกับสาขาเกษตรคือมีผู้จบระดับสูงกว่าระดับประถมศึกษาประมาณ 12 ล้านคนหรือร้อยละ 70 และเป็นแหล่งรองรับผู้จบปริญญาตรีและปริญญาโทสูงที่สุดเทียบกับทุกสาขาบริการ จำนวน 4.7 ล้านคนหรือร้อยละ 28 โดยสาขาย่อยที่เป็นองค์ประกอบใหญ่ๆคือ สาขาขายส่งขายปลีกและซ่อมบำรุงมีแรงงานมากกว่า 6 ล้านคนและสาขาโรงแรม ท่องเที่ยวและภัตตาคารมีแรงงานเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มีภูมิหลังการศึกษาค่อนข้างดี การมีภูมิหลังการศึกษาค่อนข้างดีนี้จึงน่าจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงการพัฒนาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 และ บริการ 4.0 ได้ดีในภาพรวม
โดยสาขาที่ต้องพึ่งพาสมรรถนะความเป็นไทย (Thainess) บางสาขาบริการที่มีการแข่งขันสูงและมีข้อจำกัดในการสร้างรายได้ต้องหันมาลดต้นทุนเป็นสำคัญ เช่น สาขาที่เกี่ยวข้องกับการเป็นตัวกลางทางการเงินมีคนทำงานมากกว่า 4 แสนคน การรุกเข้ามาของโลกดิจิทัล เช่น Fintech ทำให้เกิดบริการออนไลน์ขึ้นมาอย่างรวดเร็วทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมีสาขาบริการจำนวนมากใกล้ผู้รับบริการไม่จำเป็นและไม่คุ้มทุนอีกต่อไปทำให้ต้องปิดสาขา ถ้าพนักงานไม่สามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องลาออกไป
อีกสาขาที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และมีคนทำงานเพิ่มขึ้นปีละหมื่นคนต่อเนื่องมานับ 10 ปี มีคนทำงานในปัจจุบันมากกว่า 1.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรครูและอาจารย์จำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอน 2 เรื่อง คือ ไม่มีความรู้ที่ทันสมัยเพียงพอที่จะสอนเด็กนักเรียนและนักศึกษาให้ทันยุคทันสมัย (ในศตวรรษที่ 21) อาจจะมีบางส่วนต้องลาออกไป
อีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเผชิญก็คือถึงแม้ครูอาจารย์จะปรับตัวได้ดีแต่ไม่มีเด็กนักเรียนนักศึกษาให้สอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กเข้าเรียนลดลงจากที่เคยเข้าเรียนชั้นป.1 ไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านคนปัจจุบันเหลือเพียง 0.7 ล้านคนเศษเท่านั้น ผลต่อเนื่องก็คือจำนวนเด็กต่อชั้นเรียนในระดับ สพฐ หรือนักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยบางสาขาวิชามีเด็กลดลงและ/หรือไม่จำเป็นต้องเข้ามาเรียนแบบเดิมๆแต่ปรับเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์(ในอนาคต) ผลคือปริมาณค่าเล่าเรียนและเงินอุดหนุนมีไม่พอจ่ายเงินเดือนครูอาจารย์และค่าดูแลอาคารสถานที่ในภาวะการแข่งขันสูง ในที่สุดก็ต้องปิดสาขาวิชาและ/หรือต้องปิดสถานศึกษา ต้องยกเลิกการจ้างครูอาจารย์ ซึ่งส่วนนี้น่าจะเกิดก่อนกับการศึกษาเอกชนที่ปรับตัวเองไม่ได้ในทุกระดับการศึกษา