ไม่พบผลการค้นหา
พม. POLL จับมือ 'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจความคิดเห็นทางสังคม 'หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0' พบสังคมส่วนใหญ่ยอมรับหากผู้หญิงจะเป็นผู้บริหารระดับสูงหรือนักการเมือง ร้อยละ 77.31 ไม่เห็นด้วยว่างานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น

นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 2 (สสว.2) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในประเด็น "หญิงไทย ยุคใหม่ สไตล์ 4.0” ภายใต้โครงการบูรณาการโครงการด้านสังคมในระดับพื้นที่ กิจกรรมวัดอุณหภูมิทางสังคม ‘พม. POLL’ ครั้งที่ 2/2561

 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ตระหนักถึงพลังของสตรีไทยซึ่งมีส่วนสำคัญในการธำรงรักษาความมั่นคงของครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อยกย่องเชิดชูสตรีไทยและส่งเสริม สนับสนุนให้สตรีไทยมีความรู้ ความสามารถ เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป จึงได้มีการจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็น "หญิงไทยยุคใหม่ สไตล์ 4.0” โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ (สสว.) 1 – 12 ในนาม ‘พม. POLL’ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม และศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ ภายใต้โครงการบูรณาการโครงการด้านสังคมในระดับพื้นที่ กิจกรรมวัดอุณหภูมิทางสังคม (พม. POLL) ครั้งที่ 2/2561 เพื่อดำเนินการศึกษาความคิดเห็นต่อบทบาทและการทำงานของผู้หญิงทั้งงานในบ้านและนอกบ้าน การนิยามความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 และความเท่าเทียมของสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงเมื่อเทียบกับผู้ชาย โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปอายุระหว่าง 18 - 72 ปี จำนวน 4,800 ตัวอย่าง จาก 24 จังหวัดทั่วประเทศ จากนั้น มีการนำผลสำรวจส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) เพื่อกำหนดนโยบายและแนวทางการดำเนินงานต่อไป

สำหรับ ผลการสำรวจความคิดเห็นทางสังคม ‘พม. POLL’ ครั้งนี้ มีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้ 

1) ประเด็น "สังคมปัจจุบันมีความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย” พบว่า ร้อยละ 80.21 เห็นว่า สถานภาพทางสังคมระหว่างหญิงและชาย ในปัจจุบันเท่าเทียมกัน และร้อยละ 79.52 เห็นว่า สังคมให้โอกาสกับผู้หญิงเท่าเทียมกับผู้ชาย 

2) ประเด็น "สังคมยอมรับความสามารถของผู้หญิง ทั้งในการเป็นนักบริหารระดับสูง รวมถึงการเป็นนักการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ” พบว่า ร้อยละ 94.46 เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ได้ และร้อยละ 94.90 เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเป็นนักการเมืองได้ 

3) ประเด็น "ความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงปัจจุบัน” พบว่า ร้อยละ 33.71 เห็นว่า ผู้หญิงปัจจุบันมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน 

4) ประเด็น "ผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 ควรจะเป็นมากที่สุด” พบว่า ร้อยละ 42.08 เห็นว่า ผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 ต้องทำงานได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ในขณะที่ร้อยละ 51.20 เห็นว่า หากผู้หญิงทุ่มเทหรือให้เวลากับการทำงานนอกบ้านมากกว่าในบ้าน จะทำให้เกิดปัญหาครอบครัว นอกจากนี้ ร้อยละ 77.31 ไม่เห็นด้วยกับเรื่องการทำงานบ้านเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเท่านั้น 

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่ร้อยละ 76.83 เห็นว่า ผู้หญิงในยุคไทยแลนด์ 4.0 จำเป็นต้องมีบุตรเมื่อแต่งงานแล้ว เพื่อมีคนไว้ดูแลอาศัยกัน และสังคมยุคไทยแลนด์ 4.0 ในปัจจุบัน เทรนด์สุขภาพกำลังมาแรง พบว่า ร้อยละ 23.95 เห็นว่า ผู้หญิงควรทำอาชีพเกี่ยวกับการรักษาสุขภาพ และรองลงมาร้อยละ 15.42 ผู้หญิงควรทำอาชีพเกี่ยวกับการใช้ภาษาต่างประเทศ