ไม่พบผลการค้นหา
'วิโรจน์' อภิปรายหนุนเพิ่มมาตราอารักขาขบวนเสด็จฯ หวังรัฐบาล-ตำรวจ หาทางออกเป็นรูปธรรม ใช้กฎหมายนำสถาบันฯ ออกจากความขัดแย้ง-รุนแรง

วันที่ 14 ก.พ. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สองวาระการอภิปรายญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนมาตรการอารักขาถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกอภิปรายว่า ในการอารักขาการเสด็จพระราชดำเนินของกรมสมเด็จพระเทพฯ ในครั้งนี้ ก็เป็นกระบวนการตามปกติ 

ดังนั้น การรบกวนมาตรการการอารักขาที่เป็นมาตรฐานและเป็นปกติตนจึงต้องยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักอยู่ในใจตนเองเสมอก็คือการพยายามทำให้กระบวนการในการอารักขามีประสิทธิภาพสูงที่สุด ส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด เพราะประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าคนที่จะต้องไปทำงาน คนที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคนที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่างๆ เขาก็มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่อาจจะรู้ด้วยซ้ำไปว่าขบวนเสด็จอยู่ข้างหน้า

“คุณปิดปากประชาชนให้พูดไม่ได้ คุณบังคับให้ประชาชนไม่รู้สึกอะไรเลยไม่ได้ ดังนั้น การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนที่ดีที่สุด คนที่ต้องทำหน้าที่นั้นก็คือเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอารักขา ทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดก็คือการทบทวน พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย ปี 2560 โดยเฉพาะในมาตราที่ 5 โดยสภาแห่งนี้ควรจะเพิ่มเติมให้การปฎิบัติงานในการถวายความปลอดภัยให้คำนึงถึงประชาชนไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบมากเกินควร” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ เห็นว่า การรบกวนมาตรการการอารักขาบุคคลสำคัญที่เป็นกระบวนการมาตรฐานเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ตนก็จำเป็นต้องสะท้อนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่มีความเกลียดชังใดๆและตนยังเคารพวิจารณญาณและดุลยพินิจของผู้กระทำ คนที่ปรารถนาดีต่อกันต้องกล้าที่จะพูดในเหตุมีผล แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พูดเป็นสิ่งที่บางคนอาจจะไม่อยากฟังก็ตาม คนที่ปรารถนาดีไม่จำเป็นต้องเห็นตรงกันในทุกเรื่อง การกล้าที่จะแสดงความเห็นคือความปรารถนาดี

วิโรจน์ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่จะพูดไม่ได้ ก็คือการใช้ความรุนแรงในการทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำร้ายผู้อื่นเพราะจงรักภักดีนั้นเป็นพฤติกรรมที่อันตรายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่สุด หากปล่อยให้บุคคลที่นิยมความรุนแรงมีอำนาจบาตรใหญ่อ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ทำร้ายคนที่คิดต่างอย่างใดก็ได้ โดยที่กฎหมายไม่เคยเอาผิดได้ ในระยะยาวมีแต่จะทำให้สถาบันเสื่อมเสียพระเกียรติติยศ

"รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ไม่ให้มีพฤติกรรมกล้านำเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายผู้คนตามใจชอบอีกต่อไป ลองจินตนาการดูครับ ถ้าเราเชื่อว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เป็นคนดี ลองจินตนาการดูว่าหากมีคนคิดแบบนี้เพิ่มเป็น 1 ล้านคนจะเกิดอะไรขึ้นกับสถาบันพระมหากษัตริย์” วิโรจน์ กล่าว

วิโรจน์ จึงอภิปรายต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำให้เป็นรูปธรรมคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อไม่ใช่แค่ในสภา แต่หมายถึงเวทีสาธารณะทั่วไปด้วยอเพื่อให้การพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาสุจริตอย่างไร วุฒิภาวะเป็นเรื่องปกติไม่มีการมาจับผิด ซึ่งรัฐบาลจะปล่อยให้สภาวะแบบนี้เกิดขึ้นไม่ได้ 

วิโรจน์ ทิ้งท้ายว่า เชื่อว่าประชาชนหลายคนที่ฟังบางคนอาจไม่สบายใจและอาจจะนึกด่าทอต่อว่าตนอยู่ในใจตัวน้อมรับ แต่ถ้าฟังด้วยใจที่เป็นกลางและฟังแล้วคิดตามในสิ่งที่ตนพยายามจะสื่อสารก็จะทราบดีว่า ตนมีความปรารถนาดีต่อระบอบประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์และประสงค์ที่จะให้สถาบันทำหากษัตริย์ทรงสถิตสถาพรอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตราบนิรันดร์

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการอภิปราย ได้มี สส.ฝั่งรัฐบาล ได้ลุกขึ้นประท้วงว่า วิโรจน์ กำลังอภิปรายนอกประเด็น แต่ นายปดิพัทธ์ ประธานการประชุมขณะนั้น ได้วินิจฉัยว่ายังอยู่ในประเด็นของญัตติ จนมีการถกเถียงกันไประยะหนึ่ง