ความเคลื่อนไหวการผลักดันกฎหมายปลดล็อกกัญชา โดย ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรรมการพิจารณาการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ ขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา ทำบางสิ่งที่อาจส่งผลให้ประเทศเสียหาย เพราะที่ผ่านมากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับเรื่องจากบริษัทต่างชาติ ที่เข้ามาขอยื่นจดสิทธิบัตรสารจากกัญชา ทั้งๆ ที่ทำไม่ได้ เพราะสารที่บริษัทต่างชาติมาจดเป็นสารในธรรมชาติของกัญชา ตามกฎหมายสิทธิบัตรจดไม่ได้ แต่จะจดได้ก็ต่อเมื่อเป็นสารสังเคราะห์ ถือว่าผิดพลาดมาก
“เมื่อบริษัทนั้นมายื่นเรื่องขอสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับรับเรื่อง และตามขั้นตอนได้ประกาศในเว็บไซต์เพื่อให้มีคนมาคัดค้าน ซึ่งให้ระยะเวลาคัดค้าน คือ 90 วัน ปรากฏว่าผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังเหลือขั้นตอนคัดค้านได้อีก ปัญหาคือ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กรมทรัพย์สินฯ จะยืนฝั่งคนไทย เพราะการกระทำแบบนี้ถือว่าผิดพลาดมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า หากบริษัทต่างชาติได้สิทธิบัตร สิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ทั้งการเดินหน้าปลดล็อกกฎหมายเพื่อผู้ป่วย ทั้งการเดินหน้าขององค์การเภสัชกรรม ทั้งโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม และการพัฒนาสายพันธุ์ การสกัดสารใช้งบ 120 ล้านจะทำได้อยู่หรือไม่ ถือเป็นสิ่งที่น่าห่วง
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” ระบุว่า เรื่องใหญ่ที่สุดเรื่องนี้ต้องแจ้งนายกรัฐมนตรีด่วนครับ เดี๋ยวจะเสียกัญชาให้ต่างประเทศไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ต้องสอบถามไปยังอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาอย่างรุนแรง ในเรื่องการปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาถือสิทธิพืชสมุนไพรกัญชา ทั้งๆ ที่มีการทักท้วงจากทางกระทรวงสาธารณสุขและองค์การเภสัชกรรมหลายครั้ง
ประเด็นคือ “ยังไม่ได้สิทธิบัตร”แต่อยู่ในกระบวนการ และได้รับการคุ้มครองแล้ว!!!!! ร้ายกว่าเรื่องที่เราพยายามจะเอามาใช้ในคนไทยด้วยซ้ำ
เรื่องสำคัญที่สุดคือการที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้ต่างชาติได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรกัญชา แม้ทางกรมจะบอกว่ายังไม่ออกเลขสิทธิบัตรให้ แต่แง่ของกฏหมายถือว่าได้รับการคุ้มครองแล้ว ประเด็นคือ คำขอคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่นคำขอแล้ว ไม่สามารถใช้ความเข้มข้นตามอัตราส่วนดังกล่าว หรือการรักษาโรคดังกล่าวได้
แม้ยังไม่ได้เลขสิทธิบัตรก็ตาม ทั้งที่ขัด พรบ.สิทธิบัตร ม. 9(1), 9(4) , 17(4) ดังนั้นกรมทรัพย์สินต้องไม่ควรปล่อยให้มันคาราคาซัง สรุปแล้วหนทางที่ดีที่สุดกับทุกฝ่ายคือ กรมฯ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.โดนถอนคำขอมิชอบออกไปให้หมด
(ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ภาพจากเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha” )
ทั้งนี้ล่าสุดรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และรองอธิบดีฯ พร้อมชี้แจงประเด็นดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลและคาดว่าจะแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ย.)
ขณะที่ ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ก็ออกมาเเสดงความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวผ่าน มติชนออนไลน์ โดยยืนยันว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พ.ส.2522 มาตรา 9 (1) ระบุว่า จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ สัตว์พืช หรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช เป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพ.ร.บ. หรือ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้
ซึ่งกัญชาเป็นพืชไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ประเทศไทยไปทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือที่เรียกว่า PCT (Patent Cooperation Treaty) (พีซีดี) โดยกำหนดว่าการยื่นขอสิทธิบัตรระหว่างประเทศที่ยื่นไว้ที่ประเทศสมาชิกหนึ่งจะมีผลให้ความคุ้มครองในประเทศสมาชิกที่เหลือทั้งหมด ซึ่งถ้าประเทศสมาชิกใดประเทศหนึ่งจะขอจดสิทธิบัตร จะยื่นมาถามประเทศสมาชิกว่ายอมรับหรือไม่ หากยื่นมาสอบถามไทยและไม่ขัดข้อง ระบบจะอนุมัติมาขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรไทย โดยไม่ต้องประเมินอีก ปัจจุบันสิทธิบัตรกัญชาก็มีการจดในหลายประเทศแล้ว โดยจะยื่นจดเป็นสารกัดจากพืชกัญชา เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ขณะนี้พบมีการยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาผ่านระบบพีซีดี 6 รายการ ซึ่งไม่ทราบว่าเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และกรมทรัพย์สินฯ ควรจะโต้แย้งไปตั้งแต่ครั้งแรกว่าผิดกฎหมาย ไม่ใช่ปล่อยให้มีประกาศเเละกลายเป็นปัญหา ทั้งนี้ปลายเดือน พ.ย. เครือข่ายนักวิชาการและเภสัชกรรมจะรวมตัวกันยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว