ไม่พบผลการค้นหา
ภาพเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยสวนสาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ปกคลุมเขียวชอุ่ม กำลังกลายเป็นฝันอันเลือนรางของคนกรุงเทพฯ เพราะทุกคนคงรู้ๆ กันอยู่แล้วว่า ท่ามกลางมหานครคอนกรีตที่ประชากรหนาแน่นกว่า 11 ล้านคน แต่ปริมาณพื้นที่สีเขียวของเรากลับเฉลี่ยเพียง 6 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ผิดไปจากมาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ 9 ตารางเมตรลิบลับ ซึ่งนั่นทำให้หลายฝ่ายพยายามชวนคิดชวนคุยหาวิธีรับมือกับฝันร้ายภายใต้บริบทของคำว่า ‘การฟื้นฟูเมือง’ เพื่อฉุดรั้งไม่ให้คุณภาพชีวิตของคนเมืองเละตุ้มเป๊ะเกินไป

อันที่จริง พื้นที่สาธารณะก็ไม่ได้มีฟังก์ชันแค่พักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น แต่ยังมีกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในหลายมิติ ทำให้หนึ่งไฮไลท์น่าจับตามองช่วงเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 (Bangkok Design Week 2018) เห็นจะเป็นต้นแบบ ‘สวนสาธารณะลอยน้ำ’ แห่งแรกในประเทศไทย บททดสอบครั้งใหม่ในการพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวของทีมนักออกแบบจากบริษัทฉมา (Shma) ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ดุดันของเรือบรรทุกทรายให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ผู้คน’ และ ‘แม่น้ำ’ ได้ลงตัวแบบที่เรียกว่า ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน

สำหรับผู้อยู่เบื้องหลังโครงการดังกล่าวคือ ‘ยศพล บุญสม’ ภูมิสถาปนิก ซึ่งกำลังมีบทบาทในการนำการออกแบบภูมิทัศน์มาช่วยปลุกคนเมืองให้ตื่นจากฝันร้าย โดยเขาฉายภาพโครงการพัฒนาสวนสาธารณะลอยน้ำให้ฟังว่า มันเริ่มต้นจากการพิจารณาว่า “เมืองเกิดปัญหาอะไร” แล้วตั้งคำถามต่อว่า “หากต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองด้วยวิธีใหม่ๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง” และจับสัญญาณความต้องการของผู้คนในสังคม ก่อนวิเคราะห์อุปสรรคที่กีดขวางการพัฒนา จนนำไปสู่สมมติฐานว่า “หากไม่ยึดติดกับการสร้างพื้นที่สีเขียวบนฝั่งจะเป็นไปได้ไหม” 

10.jpg3.jpg

ก่อนอื่นอยากให้ช่วยเล่าย้อนกลับไปตรงความเป็นมาของโครงการสวนสาธารณะลอยน้ำสักหน่อย

ยศพล – เริ่มจากทางทีซีดีซีเตรียมเปิดตัวดีไซน์วีคปี 2561 ซึ่งพื้นที่จัดเทศกาลมีความต่อเนื่องกับแม่น้ำอยู่หลายจุด ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายคนเริ่มหันมาสนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำกันมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะผนวกเรื่องที่สังคมสนใจ และสร้างสรรค์ผลงานที่ช่วยกระตุ้นให้สังคมเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวของเมือง หากเกิดขึ้นกับแม่น้ำเจ้าพระยาควรมีรูปแบบอย่างไร เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองแออัด การหาพื้นที่สีเขียวเป็นเรื่องยากมาก แต่หากลองใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบเข้ามาช่วย น่าจะหาโซลูชั่นแปลกใหม่ที่เป็นผลงานกึ่งทดลองได้ จึงกลายเป็นโครงการที่เอาเรือบรรทุกทรายมาปรับใช้เป็นสวนสาธาณะ และเคลื่อนตัวไปตามที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนที่เข้าร่วมเทศกาลได้ทดลองใช้จริง

แน่นอนว่า หลายๆ คนคงคุ้นชินกับการพัฒนาสวนแนวตั้ง หรือสวนดาดฟ้า แต่อะไรเป็นตัวจุดประกายไอเดียเรื่องสวนลอยน้ำขึ้นมา

ยศพล – เพราะเรือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถใช้สื่อสารได้ว่า แม่น้ำเป็นโอเพนสเปซขนาดใหญ่ที่จริงๆ แล้วทุกคนสามารถใช้ได้ เพียงแค่เอาตัวเองเข้าไปอยู่บนเรือ นอกจากนั้น เมื่อมันเป็นพื้นที่สีเขียวได้ เราก็ต้องคิดต่อด้วยว่า ควรมีอะไรแบบไหนที่ช่วยกระตุ้น หรือเชื้อเชิญให้คนเข้ามาใช้งาน ซึ่งเรามองว่าต้องเป็นต้นไม้ สนามเด็กเล่น และกิจกรรมร่วมสมัยที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย 

ฟังก์ชันของสวนสาธารณะลอยน้ำมีความหลากหลายแค่ไหน

ยศพล – สวนสาธารณะลอยน้ำเป็นการผนวกเอาความคิดเรื่องภูมิปัญญาของไทย เข้ากับกิจกรรมสมัยใหม่ จนเกิดเป็นนิทรรศการภาพภ่ายของศิลปิน ผลงานอินสตอลเลชันที่เซลฟีได้ ชวนกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ผสมผสานกิจกรรมของเด็กๆ และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องของเออเบิร์นฟาร์ม เพื่อสะท้อนเรื่องพื้นที่สีเขียว และการเป็นอยู่อย่างยั่งยืนในเมือง

5.jpg2.jpg

คำถามสำคัญคือ แล้วสวนสาธารณะลอยน้ำจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างไร

ยศพล – เหตุผลหนึ่งที่เลือกใช้เรือขนทรายคือ อยากให้คนได้สัมผัสกับทรายจริงๆ เพราะคนเมืองไม่ค่อยได้สัมผัสกับธรรมชาติ บางคนอาจลงไปเล่นเท้าเปล่าเลยก็ได้ นอกจากนั้น ทรายยังเป็นสิ่งที่พลิกแพลงได้ ผู้สูงอายุบางคนอาจมาเล่นเปตอง หรือถ้าเรือใหญ่หน่อยอาจมีแอโรบิก ออกกำลังกาย กลายเป็นพื้นที่สุขภาวะ ทั้งหมดสะท้อนให้เห็นว่า พื้นที่ที่ออกแบบได้เหมาะสมจากความต้องการจะช่วยกระตุ้นจินตนาการของผู้คน แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ ตอนทดลองมันคงไม่ได้ล่องไปไกลมากนัก แต่ถ้าในอนาคตมันถูกพัฒนาต่อ ทำให้คนได้เคลื่อนที่พร้อมๆ กับเล่นไปด้วย ดูงานศิลปะไปด้วย และชมวิวแม่น้ำไปด้วย มันน่าจะเป็นสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง และรื่นรมย์มากทีเดียว

หลังจากนั้นคุณอาจจะจินตนาการว่า คุณผ่านไปสักหนึ่งกิโลเมตรแล้วไปหยุดที่ท่าตลาดน้อย เพื่อขึ้นฝั่งไปดูวัฒนธรรม หาของอร่อยๆ กินแล้วกลับมาขึ้นเรือใหม่ หรือคุณอาจจะต่อรถไฟฟ้าเข้าไปในเมือง หรือคุณอาจจะรับอาม่าที่อยู่ตลาดน้อยขึ้นมาเล่นบนเรือ พาอาม่าไปเยี่ยมชมย่านกุฎีจีน ไปไหว้ศาลเจ้า มันก็จะรู้สึกว่าเมืองถูกใช้อย่างรื่นรมย์ แล้วผู้คนได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมายจากการเคลื่อนที่ รวมถึงประสบการณ์ที่ได้ปฏิสัมพันธ์จริงๆ เพราะถ้ามองในสวนสาธารณะ หรือพื้นที่ที่นิ่งในปัจจุบันก็จะได้แค่ประสบการณ์เดียวแล้วจบ แต่สวนสาธารณะลอยน้ำทำให้เกิดการผสมผสานประสบการณ์ที่หลากหลาย แล้วเกิดจินตนาการต่อยอดได้มากขึ้น จริงๆ ผมอยากจะให้มันอยู่ต่อไปตลอดด้วยซ้ำ 

มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ไม่สามารถอยู่ต่อไปตลอดได้

ยศพล – ผมก็หวังลึกๆ ว่าอยากให้เรืออยู่ต่อ แต่มันยากมากตอนเริ่มต้น เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่เห็นภาพ ทำให้มีความเสี่ยงหลายอย่าง และงบประมาณที่ใช้มันก็ก้อนใหญ่พอสมควร ผมได้ยินหลายเสียงเริ่มตั้งคำถามว่า หากเรือต้องอยู่ต่อ หรือพัฒนาเป็นโปรโตไทป์ แล้วผลิตจริงล่ะ มันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง ซึ่งผมมองว่าถ้าผลตอบรับมันเป็นไปในทิศทางที่ดี หลายสิ่งอาจเกิดขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงไปได้ เช่น กฎหมายของกรมเจ้าท่า คุณจะเปลี่ยนมาใช้เรือขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับผู้โดยสารจำนวนมาก มันต้องมาคิดคำนวณเรื่องข้อกฎหมายกัน เรื่องน้ำหนักต่างๆ เรื่อง กทม. จะเข้ามาดูแลและบำรุงรักษาไหม หากเกิดเรือสวนสาธารณะลอยน้ำขึ้นมา หรือใครจะเป็นคนจัดการว่าจะลากไปที่ไหน ทีซีดีซีจะรับในการเป็นเจ้าภาพต่อไหม มันจะมีนิทรรศการอะไรหมุนเวียนเข้ามา คือผมว่ามันมีความเป็นไปได้สูง เพราะว่าจริงๆ แล้วเรือมันไม่ได้ไปกีดขวางการจราจร เพราะเราเทียบท่าอยู่ริมฝั่ง และมันก็ต้องมีคนดูแลเรื่องความปลอดภัย

ความหินสุดๆ ของการพัฒนาโครงการคือ

ยศพล – ระยะเวลาทำงานสั้นมาก และทีมงานต้องออกไปตระเวนดูเรือ เพื่อเลือกลำที่เหมาะสม เพราะเรือเป็นสิ่งใหม่ที่เราต้องเข้าไปเรียนรู้เรื่องข้อจำกัด และขนาด ตั้งแต่การถมทราย การเว้นช่องว่าง เราต้องเข้าใจกระบวนการทำงานของเรือ ซึ่งหินสุดๆ แล้ว

1.jpg

สามารถรองรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ประมาณเท่าไหร่

ยศพล – ถ้าตอนจอดเทียบท่าประมาณ 30 คนต่อรอบ และมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยตลอด

ตั้งความหวังไว้ไหมว่า หลังจากโครงการเสร็จสมบูรณ์ ทัศนคติของคนกรุงเทพฯ ต่อพื้นที่สาธารณะจะเปลี่ยนไปอย่างไร

ยศพล – อย่างน้อยทุกคนคงเห็นว่า การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำมันไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลียบ และคนกรุงเทพฯ อาจจะอยากกลับมาใช้เรือ ใช้แม่น้ำ หรือใช้ชีวิตริมน้ำกันมากยิ่งขึ้น เพราะจริงๆ แล้วคนไม่ได้แค่อยากแค่เดินริมแม่น้ำ แต่อยากล่องไปด้วย ซึ่งมันคงทำให้พวกเขาได้หวนคิดถึงชุมชนริมน้ำที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนจากการล่องเรือว่า หนทางไหนช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นได้รับการฟื้นฟู และผมหวังว่ามันจะต่อยอดไปสู่การชวนคิดเรื่องการฟื้นฟูแม่น้ำ และฟื้นฟูเมืองในภาพใหญ่มากขึ้น

ในวันแถลงข่าวเปิดเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2561 เราได้ยินมาว่า ภาครัฐต้องการผลักดันให้กรุงเทพฯ ก้าวสู่การเป็นเมืองหลวงของการออกแบบของโลกในอีก 4 ปีข้างหน้า คุณมีความคิดเห็นอย่างไร 

ยศพล – ความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบพร้อม แต่ตัวกายภาพของเมือง หรือสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ช่วยส่งเสริมขนาดนั้น สมมติเราอยากไปมิวเซียมดีๆ โรงภาพยนต์ดีๆ โคเวิร์กกิ้งสเปซดีๆ หรือหาซิมโฟเซียมดีๆ มันยังไม่ค่อยมี คือกรุงเทพฯ ดูเป็นเมืองที่ใช้ยาก ผมไม่ได้หมายความว่าควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ดีให้นักออกแบบ แต่ผมรู้สึกว่าเมืองที่เอื้อต่อการปฏิสัมพันธ์มันเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการทำให้คนได้คุย และต่อยอด เพื่อให้เกิดบทสนทนาดีๆ แล้วมันนำไปสู่ความคิดดีๆ แล้วถ้าความคิดเหล่านั้นมันถูกพัฒนาต่อ มีหน่วยงานมารับช่วงต่อ มีการจัดแสดง หรือมีซิมโฟเซียมดีๆ เชิญแลกเปลี่ยนพูดคุย มันก็ต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ และผมรู้สึกว่าพอเมืองที่ดีมันจะทำให้ไม่ใช่แค่คนที่จบมาทางการออกแบบเท่านั้นที่จะได้มีความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มมูลค่าในสิ่งที่เขาคิด แต่มันทำให้ทุกคน พ่อค้า แม่ค้า นักเรียน นักศึกษา ก็สามารถทำอะไรที่สร้างสรรค์ได้ และมันก็มีมูลค่าได้ ผมคิดว่าสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นสิ่งสำคัญ และก็ตัวนโยบายเรื่องมาตรการทางภาษีอาจจะช่วยเอื้อต่อเอสเอ็มอีต่างๆ มากขึ้น

พูดถึงนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทำให้อยากทราบว่า ตัวนโยบายมีส่วนทำให้บรรดานักออกแบบตื่นตัวขึ้นบ้างไหม

ยศพล – จริงๆ ผมก็ทำงานในอุตสาหกรรมการออกแบบ แต่ผมกลับมองไม่เห็นว่า ตัวนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งผลกระทบอย่างไร หรือภาครัฐมีแผนระยาวอย่างไร เพื่อส่งเสริมให้บรรดานักออกแบบเข้าไปมีส่วนร่วมในกลไกดังกล่าว คือผมเข้าใจว่า ถ้านโยบายจะส่งผลจริงๆ ควรกำหนดเรื่องมาตรการทางภาษีที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และชวนสังคมมาคิดมาคุยเรื่องเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบมากกว่าเดิม เพราะจริงๆ พื้นฐานสังคมไทยเป็นสังคมแห่งความคิดสร้างสรรค์ในดีเอ็นเออยู่แล้ว

4.jpg8.jpg

การออกแบบที่ดีในสายตาของคุณเป็นอย่างไร

ยศพล – การออกแบบที่ดีมันไม่ใช่แค่กระทบต่อตัวนักออกแบบเท่านั้น แต่ต้องส่งผลกระทบต่อคนทุกๆ ระดับในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเมื่อป้ายรถเมล์ก็ต้องออกแบบ ทางเท้าก็ต้องออกแบบ สิ่งแวดล้อมก็ต้องออกแบบ สะพานลอยก็ต้องออกแบบ แต่เรากลับยังไม่เห็นตัวอย่างดีๆ ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ที่เป็นสัญญาณให้เห็นว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใส่ใจการออกแบบที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคน ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามอย่างเดียว ถ้าจริงๆ รัฐบาลเข้าใจว่า ระบบป้องกันน้ำท่วมก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบทั้งหมด

หากมองในมุมนักออกแบบภูมิทัศน์ ปัจจุบันสังคมไทยเข้าใจมากน้อยขนาดไหนในประเด็นที่ว่า จริงๆ แล้วเมืองออกแบบได้ พัฒนาได้ หรือช่วยกันทำให้ยั่งยืนได้

ยศพล – มันเปลี่ยนไปเยอะ คือทุกคนเริ่มขยับแล้ว ผมเริ่มเห็นความตื่นตัวของภาคประชาสังคม หรือความพยายามของกลุ่มก้อนต่างๆ เช่น บิ๊ก ทรีส์ (Big Trees) หรือ เฟรนด์ส ออฟ เดอะ ริเวอร์ (Friends of the River) ที่ช่วยสร้างบทสนทนาใหม่ๆ จากการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน ซึ่งมันทำให้เห็นจุดเล็กๆ หรือโครงการเล็กๆ ที่ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล เช่น การรักษาต้นไม้ การทำทางจักรยาน ฟื้นฟูย่าน หรือการดูแลชุมชน เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วม แต่สุดท้ายสิ่งสำคัญที่ทุกคนต่างต้องการคือ กลไกของภาครัฐ นโยบาย หรือตัวแพลตฟอร์มที่ช่วยสนับสนุนให้พลังสร้างสรรค์เติบโต