ไม่พบผลการค้นหา
ตุลาการศาลปกครองสูงสุดแถลงคดี ชี้เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่หนองบัวฯ เหตุประชาชนไร้การมีส่วนร่วม ขณะที่นักปกป้องสิทธิฯชุมชนและสิ่งแวดล้อม บุก กทม.ร้อง รมว.อุตสาหกรรม เร่งสั่งปิดเหมืองแร่ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ พร้อมนำเห็ด หน่อไม้คลุกหินและฝุ่นมาฝาก

ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประมาณ 10 คน ฟังการแถลงคดี หมายเลขดำที่ อส. 34/2561 สืบเนื่องจากเมื่อปี 2555 ชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 3 ก.ย. 2563 และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูน ของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่หิน ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 24 ก.ย. 2563 นี้ ที่ศาลปกครองกลาง  

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสืออนุญาตดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามติของ อบต. ดงมะไฟ ซึ่งนำไปประกอบการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์เขตป่าสงวนแห่งชาติ มีกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย แต่ภายหลังคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดคดีจึงยังไม่ถึงที่สุด และทางบริษัทยังมีการทำเหมืองอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่

ตุลาการผู้แถลงคดี อ่านคำแถลงในสองประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นแรกการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู อนุญาตให้บริษัทฯ ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้าทำประโยชน์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ตุลาการได้พิจารณาว่า อบต. ได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนหรือไม่

ส่วนการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนดังกล่าวเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในการทำเหมือง เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นนี้ ตุลาการเห็นว่า จากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง การจัดประชุม อบต. เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีเอกสารการแจ้งวาระประชุมล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันก่อนหน้า แต่ไม่ได้มีความบกพร่องเนื่องจากมีการเข้าประชุมโดยสมาชิกเกือบครบถ้วน ซึ่งเห็นไม่พ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่พิจารณาว่า ข้อบกพร่องดังกล่าว เป็นความบกพร่องร้ายแรง สมควรให้การประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ ส่วนในประเด็นเรื่องการอนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวน ศาลพบว่า กระบวนการขออนุญาตดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบของกรมป่าไม้ และชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนในประเด็นที่สอง คือ เรื่องการอนุญาตต่อประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี ได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เห็นว่า ในการต่ออายุโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้าร่วมให้ความคิดเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ในการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) ที่บริษัทยื่นประกอบการขอต่ออายุประทานบัตร ไม่พบว่ามีการศึกษาผลกระทบดังกล่าวอย่างครบถ้วน และแม้ว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้เสนอให้จัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ กพร. ยังมิได้ทบทวนการขอต่ออายุประทานบัตรแต่อย่างใด กลับอนุมติให้มีการต่ออายุประทานบัตร ทั้งๆ ที่ยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมตามระเบียบข้อกฎหมาย ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าคำสั่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ต่อประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้คำแถลงเป็นของตุลาการนอกองค์คณะ เพื่อเป็นเพียงแนวทางประกอบคำพิพากษา ยังไม่ได้เป็นคำพิพากษาคดีแต่อย่างใด

สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความ เปิดเผยว่า หลังจากฟังคำแถลงสิ้นสุดแล้วเห็นว่า คดีนี้มีความคาดหวังว่า อยากให้เกิดบรรทัดฐานในประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในโครงการที่มีระยะยาวต่อเนื่อง 10-20 ปี หากมีการต่ออายุ ในสถานการณ์ที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ควรต้องจัดทำรายงาน EIA ใหม่ให้สอดคล้อง เพื่อศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้สุรชัย ย้ำถึงการสร้างบรรทัดฐาน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากกระบวนการการมีส่วนร่วมในกรณีนี้เป็นแค่แบบพิธิกรรม โดยมีเพียงมติเห็นชอบของ อบต. เท่านั้น หากแต่ไม่มีการประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และย้ำว่า รัฐจำเป็นต้องสร้างเรื่องนี้ให้เป็นบรรทัดฐานเพื่อเป็นหลักประกันว่า สิทธิของประชาชนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจะไม่ถูกเพิกเฉยโดยรัฐ “ขอให้เหมืองที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนจบในรุ่นเรา” สุรชัย กล่าว

หลังจากที่ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ฟังตุลาการแถลงคดีเสร็จ เดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในเวลาประมาณ 14.00 น. เพื่อขอให้ปิดเหมืองหินและโรงโม่ที่พิพาท โดยสกล จุลาภา รองอธิบดีกรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้รับมอบหมายอำนาจจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นตัวแทนมารับหนังสือกับชาวบ้าน

ด้าน เปี่ยม สุวรรณสนธ์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ในการยื่นหนังสือ ซึ่งมีใจความว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้พบความผิดปกติเกี่ยวกับการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรของ ธีรสิทธิ์ ตรีวัฒน์สุวรรณ อย่างเช่น เขตประทานบัตรอยู่นอกเขตประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม หลักหมายเขตประทานบัตร หลักที่ 8 ที่วางตำแหน่งอยู่บนถ้ำน้ำลอดที่เป็นแหล่งน้ำซับซึม และแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในพื้นที่ หลังจากมีการจับ GPS ที่หลักหมุดที่ 8 พบว่าไม่ตรงกับหมุดใดเลยตามพิกัดในเว็ปไซด์ของ กพร. และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการร้องเรียนถึงกระบวนการที่ไม่ถูกต้องมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตในครั้งแรก ครั้งปัจจุบัน และครั้งที่กำลังมีการต่ออายุในขณะนี้ แต่ไม่เคยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เลย แต่เลือกใช้กระบวนการฉ้อฉลเพื่อให้ได้ใบอนุญาต หรือแม้แต่เรื่องผลกระทบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจากฝุ่นหิน เสียงระเบิด การที่ก้อนหินกระเด็นตกใส่ไร่นาขณะทำนาอยู่ ปัญหาถนนพังเนื่องจากไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากรถบรรทุกหนักได้ การที่ในระยะหลังไม่มีการเปิดสัญญาณเตือนก่อนระเบิดหิน หรือแม้แต่ปัญหาบ้านเรือนแตกร้าว ที่ไม่เคยมีหน่วยงานใดลงมาตรวจสอบอย่างจริงจัง ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสะสมที่ไม่เคยถูกแก้ไขในตลอด 26 ปีที่ผ่านมา

ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ 3 ข้อ คือ (1) ปิดเหมืองหินและโรงโม่หินถาวร (2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ (3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงยนิเวศน์และโบราณคดี และขอให้มีคำสั่งระงับการทำเหมืองแร่ พร้อมทั้งลงมาตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านโดยเร่งด่วน ภายใน 7 วัน

ด้าน สกล ได้กล่าวหลังจากรับหนังสือกับชาวบ้านว่า ในส่วนของการพบหลักฐานว่ามีการทำเหมืองแร่นอกเขตประกาศแหล่งแร่นั้น ต้องมีการดำเนินตรวจสอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีหมุดเขตเหมืองคลาดเคลื่อน อาจจะเป็นไปได้ว่ามีการใช้แผนที่ชุดข้อมูลคนละรุ่น ซึ่งอาจมีผลให้หมุดเขตเหมืองคลาดเคลื่อน ในส่วนนี้ กพร. จะรับเรื่องไว้ว่าต้องลงพื้นที่เพื่อลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่ามีความคลาดเคลื่อนเพราะเหตุใด และระบุว่า หากใช้วิธีรังวัดตรวจสอบ ก็จะมีความชัดเจนและอ้างอิงได้ในศาล แต่ในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินการ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะลงไปตรวจสอบได้เมื่อไหร่ จำเป็นต้องประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับว่าจะจัดการให้เร็วที่สุด

ในส่วนของการกำลังจะต่ออายุประทานบัตร ทางกพร. ระบุว่าหากเรื่องนี้ ยังมีเหตุสงสัย จำเป็นจะต้องทำให้กระจ่างเสียก่อนที่จะสามารถอนุมัติได้ และกล่าวว่า หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริงก็สามารถระงับได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องรับฟังข้อมูลทุกด้านให้ครบถ้วนก่อน

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ทางกลุ่มต้องการความชัดเจนว่าทาง กพร. จะมีอำนาจสั่งปิดเหมืองเลยได้หรือไม่เนื่องจากพบว่ากระบวนการทำเหมืองแร่มีความผิดปกติ โดยก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มก็ได้ร้องเรียนไปยังทางจังหวัดเพื่อให้สั่งระงับการทำเหมืองเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ก็ได้คำตอบว่าไม่สามารถตัดสินใจได้ ต้องให้ กพร. ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเท่านั้น แต่พอเดินทางมาสอบถามที่ กพร. ก็ไม่ได้รับความชัดเจนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

ในตอนท้าย ชาวบ้านได้มอบเห็ดและหน่อไม้ที่เก็บมาจากชุมชน พร้อมกับหินและฝุ่น ให้กับตัวแทนสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมกับอธิบายว่า เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงแหล่งอาหารของชาวบ้าน ที่เคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่บัดนี้ กลับถูกทำลายด้วยเหมืองแร่หิน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของชาวบ้าน จึงเรียกร้องให้ทาง กพร. สั่งปิดเหมืองโดยเร็วที่สุด