ว่ากันว่า เหตุที่ทำให้ ชัชชาติ มุ่งหน้าลงในนาม 'อิสระ' มากกว่าที่จะปรากฏกายโดยมีสีเสื้อคลุมอยู่ ก็เพราะภายใต้บริบทการเมืองในปัจจุบัน การชิงชัยในนามเพื่อไทยไม่อาจพาตัวชัชชาติไปสู่เป้าหมายที่ปรารถนาได้
อีกหนึ่งวาระที่ซ่อนไว้คือการชิงชัยในนามเพื่อไทย ไม่อาจทำให้ตัวชัชชาติสามารถโอบรับ 'นักการเมือง-เทคโนแครต-นักวิชาการ-มือทำงาน-นักคิด-นักเขียน-นักโฆษณา' จากต่างขั้วทางการเมือง ที่ตัวเขาได้ตระเวนเดินสายพบปะมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
“ยืนยันไม่มีความขัดแย้ง หรือคิดทรยศพรรคเพื่อไทย และยังคงให้เกียรติพรรคเสมอ เพราะตนเกิดมาจากพรรคเพื่อไทย แต่การทำงานของกรุงเทพฯ ต้องเป็นการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ซึ่งการทำงานในนามอิสระ จะช่วยหาแนวร่วมมาทำงานได้ง่ายขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ เบื่อการเมือง ไม่ใช่เฉพาะพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง”
ทันทีที่ ชัชชาติ ประกาศลงในนามอิสระ หนึ่งเสียงที่มอบให้ทันที มาจากอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย 'ภูมิธรรม เวชชยชัย' ซึ่งปัจจุบันนั่งตำแหน่ง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย-ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน การประกาศหนุนเต็มสูบของภูมิธรรม จึงเกี่ยวโยงกับแนวโน้ม-ทิศทางที่ 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' ผู้เป็นหัวหน้าพรรค-ผู้นำฝ่ายค้าน อาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลียงไม่ได้
แม้ว่าจะมีข่าวที่ปรากฏออกมา จะอ้างถึงการประชุมของภาค กทม. ซึ่งมี 'วิชาญ มีนชัยนันท์' รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานภาค กทม. นั่งหัวโต๊ะ โดยไม่ปรากฏชื่อ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยในข่าว ทว่า ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า เสียงของวิชาญก็ดี เสียงของสุรชาติ เทียนทอง เลขาฯ ภาค กทม.ก็ดี ย่อมสัมพันธ์กับเสียงของประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ไม่มากก็น้อย และย่อมสัมพันธ์กับเสียงของเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนปัจจุบันไม่มากก็น้อย
เสียงของสุรชาติ ประกาศไว้ชัดเจนว่า “พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ทำงานรับใช้ประชาชนมายาวนาน มีตัวแทนคนทำงานทั้งระดับ ส.ส. ส.ก. และ ส.ข. ในทุกเขตทำงานใกล้ชิดประชาชน จึงเห็นความสำคัญที่จะต้องมีตัวแทนของพรรคในการนำทัพลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ ควบคู่ไปกับผู้สมัคร ส.ก. เพื่อที่จะสามารถนำเสนอนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปากท้องของคนกรุงเทพฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นทางภาค กทม. จึงมีมติขอให้พรรคพิจารณาคัดสรรบุคคลที่จะมาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คนใหม่ในนามของพรรค โดยเราจะส่งมตินี้ไปตามขั้นตอนของพรรคต่อไป”
ฉับพลันที่คำแถลงของสุรชาติปรากฏเป็นข่าว ก็ปรากฏคำแถลงของ 'สมพงษ์' หัวหน้าพรรคตามออกมาทันที “การที่มี ส.ส.กทม.บางคนได้ให้ข่าวเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เรื่องการจะส่งผู้ว่า กทม. ตามที่เป็นข่าว ขอเรียนชี้แจงว่าพรรคยังไม่เคยมีมติในเรื่องการจะส่งผู้สมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. และข่าวที่ออกมาไม่มีมูลความจริง มีแต่สร้างความสับสนให้เกิดขึ้นจึงขอเรียนชี้แจงมาในชั้นต้น จนกว่าจะมีการประชุมหารือของพรรคเสียก่อน จึงแถลงมาให้ทราบโดยทั่วกัน”
นาทีนี้สนามเลือกตั้ง กทม. นำไปสู่การปรากฏขั้วความเห็นที่หลากหลายในเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการตัดสินใจที่ทั้งวางอยู่บนยุทธศาสตร์ทางการเมือง และศักดิ์ศรีทางการเมือง เพราะไม่ว่าจะตัดสินใจไปในทางใด ย่อมแบกต้นทุนทางการเมืองไปด้วยมากทีเดียว
ในขณะที่พรรคเพื่อไทยอยู่ระหว่างตัดสินใจ จะร่วมชิงชัยในสนามเลือกตั้ง กทม. หรือไม่ หรือจะเปิดทางให้ 'ชัชชาติ' ด้าน พรรคอนาคตใหม่ ประกาศชัดว่า จะมีตัวแทนของพรรคลงชิงชัยอย่างแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่า อนาคตใหม่ คือพรรคการเมืองที่คว้าชัยในสนามเลือกตั้ง กทม. ด้วยคะแนนเสียงรวมมากที่สุด
อนาคตใหม่เปรยออกมาว่า ขณะนี้มีผู้ประสงค์จะลงสมัครอยู่หลายคน, เป็นชื่อเสียงเรียงนามที่คนในสังคมรู้จักอย่างแน่นอน, แคนดิเดตจะต้องมาจากการประชันวิสัยทัศน์ ชื่อที่สะพัดมามีทั้ง 'นักวิเคราะห์ข่าวทางโทรทัศน์-อธิการบดีมหาวิทยาลัย' ไปจนถึง 'ตัวหัวหน้าพรรคเอง'
อนาคตใหม่ถูกเรียกร้องตลอดมาให้ 'เลือกตั้งในเชิงยุทธศาสตร์' ทว่าจุดยืนที่ชัดเจนของพรรคการเมืองนี้ตลอดมาเช่นกันคือ 'เลือกเพื่อเปลี่ยน' เหมือนที่ 'ปิยบุตร' ประกาศชัดในเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้ายของพรรคก่อนวันเลือกตั้งว่า สำหรับอนาคตใหม่ มีแต่ Vote เพื่อเปลี่ยน ไม่มี Vote เชิงยุทธศาสตร์ และตัวเลขผลการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ ก็สะท้อนความต้องการที่อยากจะ 'เปลี่ยน' ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ปฏิบัติการโยนหินถามทางจากพรรคสีฟ้าที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งย่อยยับในสนาม กทม. ในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว โยนชื่อ 'กรณ์ จาติกวณิช' ออกมาถามกระแสสังคม
'เทพไท' เสนอว่า “ส่วนตัวมองว่านายชัชชาติ ถือเป็นตัวเต็ง ถ้าถามว่าพรรคจะส่งใครสู้เพื่อให้เทียบเคียงกับนายชัชชาติได้บ้างนั้น มองว่าคนที่จะสมัครผู้ว่า กทม. ได้รับชัยชนะมีเพียงคนเดียว คือ นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมว.คลัง เพราะมีคุณสมบัติเหมาะหลายประการ”
“สิ่งที่นายกรณ์ เหนือกว่านายชัชชาติ คือ นายกรณ์ สัมผัสประชาชน ในฐานะเคยเป็น ส.ส.กทม.มาเเล้ว โดยยังไต่เต้าจาก ส.ส.จนได้เป็น รมว.คลัง ขณะที่นายชัชชาติไต่เต้าเป็น รมว.คมนาคม จากการไปหยิบฉวยมา หรือเชิญมา หรือการเป็นนอมินีให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ดังนั้น หนทางเข้าสู่ตำแหน่งบริหารในฐานะเจ้ากระทรวงจึงเเตกต่างกัน”
ทว่า คำตอบคงกลับคืนสู่ เทพไทและกรณ์แล้วว่า กระแสที่โยนหินถามทางมา เงียบเชียบเพียงใด!!
ระยะเฉพาะหน้า ทิศทางของสนามเลือกตั้ง กทม. มีแนวโน้ม 'เสียงแตก' จากการที่หลายพรรคประกาศจะเดินสู่สนามการเลือกตั้ง
ทว่าแนวโน้มระยะไกล เป็นไปได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ จะเข้าข่ายการเลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ของสองขั้วการเมืองใหญ่ในที่สุด