ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 กล่าวถึงพรรคการเมืองฝ่ายค้านไม่แก้ไขถ้อยคำในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลที่มีข้อความพาดพิงถึงสถาบันว่า เมื่อวานนี้ได้เชิญทั้งรัฐบาลและมีฝ่ายค้านได้มาหารือกัน และชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวให้ข้อคิด
ทั้งนี้ ได้ยืนยันว่าญัตติของพรรคการเมืองฝ่ายค้านมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้ พร้อมกับยอมรับว่าตัวเองและประธานสภาผู้แทนราษฎรกังวลกับถ้อยคำในญัตติที่พาดพิงถึงสถาบัน จึงได้วิเคราะห์ว่าหากมีการตั้งข้อกล่าวหาหลายประเด็นที่พัวพันกับสถาบัน จะส่งผลให้การอภิปรายขัดต่อข้อบังคับหรือไม่
ในข้อบังคับการประชุมกำหนดว่าห้ามกล่าวถึงบุคคลภายนอกหรือพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น และแม้จะไม่ได้เป็นการกล่าวหาสถาบันแต่ในญัตติเขียนเชื่อมโยงไปถึงสถาบัน อันไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะอภิปรายถึงสถาบันได้ จึงเป็นเรื่องที่ลำบากใจของประธานที่ประชุม และอาจจะมีการประท้วงในที่ประชุม ทำให้การประชุมไม่ราบรื่น
ซึ่งอ้างอิงว่าประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ต้องการให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาล ที่เป็นการสาดน้ำ หรือน้ำมันเข้ากองไฟ ไม่เป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกันในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาห่วงใยไม่ต้องการให้ใครตกเป็นจำเลยของสังคมในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้
ศุภชัย ยืนยันที่จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ส่วนกรอบวันเวลาต้องประสานกับคณะรัฐมนตรีในห้วงเวลาที่พร้อมจะชี้แจง ส่วนจะนำไปสู่ปัญหาในการอภิปรายหรือไม่ ย้ำว่าสมาชิกแต่ละท่านก็จะต้องรับผิดชอบเอง และในฐานะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมก็จะยึดปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยส่วนตัวเห็นว่าหากต่างคนต่างมุมมองต่างคนต่างคิดก็จะหาจุดลงตัวได้ลำบาก อย่างที่ผ่านมา หลีกไม่พ้นที่จะถูกใจฝ่ายหนึ่งแต่อาจจะขัดใจอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องไปแก้ไขในสถานการณ์เฉพาะหน้าต่อไป
รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 16 -19 ก.พ.นี้ ฝ่ายค้านยืนยันการอภิปรายไม่ผิดข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มองว่าการออกมาให้ข่าวของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในลักษณะโจมตีญัตติการอภิปราย ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ผิดข้อบังคับการประชุม หรือการจาบจ้วงสถาบันฯ เป็นสิ่งที่พูดเกินจริง ขอให้ ส.ส.รัฐบาลรอฟังเนื้อหาการอภิปรายก่อน ฝ่ายค้านถาม รัฐบาลตอบ ประชาชนตัดสิน
เมื่อถามว่ามีโอกาสจะได้อภิปรายหรือไม่ เพราะ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐเตรียมประท้วงหากมีการพูดถึงสถาบันฯ รังสิมันต์ ระบุว่า เป็นสิทธิ์ที่จะประท้วงได้แต่ฝ่ายค้านก็จะชี้แจงตามหลักการ อธิบายเหตุผลที่ต้องพูดถึงการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าบริหารงานล้มเหลวและทำลายสถาบันฯอย่างไร
ส่วนกรณีที่ สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ เตรียมดำเนินคดี ม.112 กับ ผู้นำฝ่ายค้าน ผู้ลงชื่อในญัตติ และ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นั้น รังสิมันต์ ระบุว่า สิระก็ไม่มีความแม่นยำในเรื่องของกฎหมายหรือเรื่องรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ควรเอาตัวเองให้รอดก่อนดีกว่า ไม่อยากให้ราคา ถ้าหากพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบสิระ ก็ไม่ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ และเมื่อมาเป็นประธานกรรมาธิการก็ด่าพรรคก้าวไกลตลอดว่าใช้กรรมาธิการไปทำเรื่องการเมือง ทั้งที่เรื่องจริงๆทำเพื่อประชาชน
สิระ เจนจาคะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เตรียมให้ฝ่ายกฎหมายเอาผิดกับสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านที่ลงชื่อในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และบุคคลที่ลงชื่อในญัตติ ตามประมวลกฎหมายมาตรา 112 รวมถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรที่บรรจุญัตติด้วย
และชี้ว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของรัฐสภา เปิดโอกาสให้ ส.ส.อภิปรายจาบจ้วงสถาบันฯ ถือเป็นการดึงฟ้าต่ำลงมาเล่นการเมือง ถามหาเจตนาในการยื่นญัตติครั้งนี้ และเห็นว่าญัตติขัดต่อข้อบังคับเพราะไม่ควรที่จะนำสถาบันฯมาอภิปราย
สิระ ระบุว่าให้ฝ่ายกฎหมายศึกษาพิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่าญัตติขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยืนยันจะทำหน้าที่ประท้วงไม่ให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันฯ ก่อนย้อนถามฝ่ายค้านว่า "หมดมุขไม่มีประเด็นอภิปรายแล้วหรือ"
ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากดูญัตติจะเห็นว่าไม่ได้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาฯ และเมื่อวาน (28 ม.ค.) เราได้มีการหารือกับชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีดำริว่าจะบรรจุญัตตินี้เข้าสู่วาระการประชุม อย่างไรก็ตามหากพิจารณารายละเอียดของญัตติในประเด็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรี จะเห็นได้ชัดว่าข้อกล่าวหาเป็นการกล่าวหาตัวนายกฯ และเมื่อถึงเวลาวันอภิปรายที่คาดว่าจะเป็นวันที่ 16 ก.พ. การอภิปรายมีข้อบังคับว่าด้วยเรื่องการประชุมอยู่แล้ว ในข้อที่ 69 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่าการอภิปรายไม่ให้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น
ฉะนั้นตนเชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติตามข้อบังคับเป็นอย่างดี นอกจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันแล้วว่าจะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อให้บรรยากาศการอภิปรายเป็นไปด้วยดี เมื่อถามว่า สิระ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ยืนยันว่าญัตตินี้เป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งได้มีการศึกษาข้อบังคับก่อนยื่นญัตติแล้ว ยืนยันว่ามีความสมบูรณ์ ไม่ได้เกี่ยวข้องว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามขอย้ำว่าญัตตินี้เป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรี และเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องแก้ไขข้อกล่าวหาให้ประชาชนเข้าใจ พร้อมย้ำว่าจะไม่มีการแก้ไขญัตติ และขอให้คอยฟังไม่ต้องการให้มีการตีตนไปก่อน ทั้งนี้หลังจากที่ได้คุยกับพรรคร่วมก็ได้มีการกำชับให้อภิปรายอยู่ในกรอบข้อบังคับ หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรกล่าวถึงสถาบัน แต่สามารถพูดถึงตัวนายกรัฐมนตรีได้
ประเสริฐ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เราขอให้ประธานสภาใช้ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด ดังนั้นหากผู้ประท้วงต้องการประท้วงจะต้องมีการแสดงเหตุผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้ขออย่าวิตกกังวลเรื่องนี้มาก เนื่องจากประธานสภาทำหน้าที่อยู่แล้ว ต่อข้อถามว่าส.ส. รัฐบาลยกเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีการเสนอญัตติเช่นนี้ ประเสริฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำหลายเรื่องเป็นที่สงสัย และเป็นหน้าที่ฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบและทำให้กระจ่าง
อ่านเพิ่มเติม