ไม่พบผลการค้นหา
'ดนุพร' ลั่น 'ประเทศไทยเจ๊งไม่ได้' ชี้ งบฯ'68 ดัน 142 นโยบาย ทำลาย 6 พันธนาการ 'เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส บริหารจัดการภาครัฐ' ดันไทยกลับมาเป็นเสือตัวที่ 5

ดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วาระที่ 1 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ วันนี้ (19 มิ.ย.2657) โดยได้สรุปถึงสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญเป็นพันธนาการ 6 ด้านและงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จะเข้ามาแก้ไข ได้แก่ 

ปลดพันธนาการที่ 1 : ทำตลาดไทยเท่าทันโลก เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ด้วยงบประมาณเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน 675,544.2 ล้านบาท พร้อมพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางอาหารโลก ไปพร้อมกับการเดินทางโรดโชว์ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุนในไทย เพื่อเพิ่มจีดีพี คว้าทุกโอกาสที่มีในไทย พร้อมไปกับนโยบายการทูตเชิงรุก ทำให้ไทยกลับมาสู่สายตาชาวโลกอีกครั้ง

ปลดพันธนาการที่ 2 : สร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) รัฐและประชาชนจับมือร่วมทางกันให้สามารถปรับตัวต่อการปรับทิศทางตลาด เมื่อล้มแล้วต้องมีรัฐโอบอุ้ม รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อป่วยยังสามารถไปรักษา ลูกหลานยังได้เรียนหนังสือ ด้วยการยกระดับการโอบอุ้มและรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งการพัฒนาระบบสาธารณสุข ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ 235,842 ล้านบาท ซึ่งนโยบายนี้ประชาชนมีความพึงพอใจในอันดับต้นๆจากการสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุด สุขภาพที่ดีจะทำให้พี่น้องประชาชนออกไปทำมาหากินได้ มีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ,แผนงานบูรณาการ ป้องกันและปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด 5,087 ล้านบาท , ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ,และส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน

ปลดพันธนาการที่ 3 : จัดทำกลไกการเพิ่มทักษะเดิม (Upskilling) เสริมทักษะใหม่ (Reskilling) ขนานใหญ่ ด้วยกลไกที่ตอบโจทย์ ผ่านองค์กรของรัฐบาลคือ THACCA ด้วยนโยบาย OFOS สร้างคนไทย 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัว สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง

ปลดพันธนาการที่ 4 : ทำลายกับดักความกลัวในอดีต เน้นประสิทธิภาพเหนือความมั่นคง ด้วยงบปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ 659,829 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาความหวาดกลัวในอดีต นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา รัฐบาลพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นสามารถฟื้นตัวจากพิษเศรษฐกิจได้สำเร็จ แต่ประชาชนและภาคธุรกิจยังกังวล แม้มีหน่วยงานที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลรวมถึงพรรคเพื่อไทย มองว่าการเปิดมุมมองใหม่ ๆ กล้าคิด กล้าทำ กล้าลงทุนจะเปิดโอกาสให้กับประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจ และกระตุ้นจีดีพีได้ 

ปลดพันธนาการที่ 5: การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่คำนึงถึงผลในระยะยาว เปลี่ยนมุมมองที่คับแคบ สนับสนุนนโยบายที่มีผลต่อโครงสร้าง เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต มาตรการอัดฉัดเงินในระยะสั้น กระตุ้นตลาดให้ขับเคลื่อนตัวเองให้มากขึ้น ผลลัพธ์และตัวคูณทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ละสำนัก แต่พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลเชื่อว่าดิจิทัลวอลเล็ตจะกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของประเทศไทย เมื่อพิจารณาผลพวงของนโยบายนี้จะเป็นการเร่งกระบวนการยกระดับทางการเงินและดิจิทัลให้กับประเทศ เพราะครั้งเดียวแล้วจบ แต่จะเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะกลางและระยะยาว เมื่อมีกำลังซื้อที่มากขึ้น การผลิตจะสูงขึ้น การจ้างงานจะเพิ่มมากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ 

ปลดพันธนาการที่ 6 : สร้างรัฐให้กระชับ มีประสิทธิภาพในการดูแลชีวิตประชาชน ตอบโจทย์ความต้องการ ลดคอขวดการตัดสินใจ มีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ด้วยงบประมาณการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชัวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 274,726 ล้านบาท งบความมั่นคง 409,393 ล้านบาท 

'ดนุพร' ระบุ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ไม่เติบโตตามศักยภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้งบประมาณประเทศเป็นส่วนผลักดันเศรษฐกิจและรายได้ของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงินงบประมาณที่มากขึ้น ด้วยเนื้อหาที่ไม่เหมือนเดิม จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง โครงสร้างงบประมาณปี 2568 จัดสรรอยู่บนข้อจำกัดและอุปสรรค ทั้งในด้านกฎหมาย งบประมาณผูกพัน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเพราะมีงบลงทุนเพียง 24% เท่านั้น จึงจำเป็นต้องหาทางออกด้วยการพิจารณาจากงบประมาณเดิม โดยใส่เป้าหมายใหม่ เพื่อให้งบประมาณมีประสิทธิภาพที่สุด ถูกทิศถูกทาง ดันเศรษฐกิจให้เติบโต ภายใต้แกนหลัก 4 ด้าน คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส บริหารจัดการภาครัฐ มุ่งเน้นสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ มุ่งจัดการปัญหาระยะกลาง และระยะยาว มากกว่าระยะสั้น เพราะสัดส่วน 2 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ให้ความสำคัญกับปัญหาระยะกลาง และระยะยาว มุ่งเป้าที่การขยายโอกาส 1.655 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้ลงครั้งเดียว 500,000 แสนล้านบาท แต่งบมาจาก 3 ส่วนคือ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 , งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 และงบทดรองจ่ายของสถาบันการเงินของรัฐ จึงอยากให้พี่น้องประชาชนได้สบายใจว่าการจัดงบประมาณครั้งนี้จะอยู่เกณฑ์การรักษาวินัยการเงินการคลัง 

การที่นายจุรินทร์ บอกว่าประเทศคือเป็ดง่อย แต่อย่างืมว่าเป็ดง่อยตัวนี้ เกิดและเติบโตในรัฐบาลที่แล้ว แต่วันนี้รัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะจัดงบปี 2568 เพื่อรักษาเป็ดง่อยตัวนี้ให้ลุกขึ้นยืนได้ และไม่ใช่เป็ดขี่เหร่อีกต่อไป  

กรณีที่พรรคก้าวไกลระบุว่า งบประมาณปี 2568 นั้น เจ๊งไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้ ไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเจ๊งไม่ได้ รัฐบาลอาจจะยุบสภา นายกฯ อาจจะลาออกแต่ยังต้องรักษาการ แต่ประเทศไทยเจ๊งไม่ได้ เพราะคำว่า เจ๊ง ตามความหมายในพจนานุกรมของราชบัณฑิตสถาน หมายถึงเลิกกิจการแบบหมดทุน แต่ประเทศไทยไม่มีหมดทุน ประเทศไทยเจ๊งไม่ได้ ประเทศไทยต้องเดินต่อไป และอีกความหมายหนึ่ง คำว่าเจ๊งหมายถึงสิ้นสุด 

“ผมขอให้ทุกท่านร่วมผลักดัน 142 นโยบาย ทำลาย 6 พันธนาการ สร้างรัฐบาลให้เป็นของพี่น้องประชาชน เรามาร่วมกันสร้างศักยภาพประเทศให้กลายเป็นประเทศชั้นนำ เช่นเดียวกับหลายประเทศของโลก มาร่วมกันสร้างประเทศไทยให้เป็นเสือตัวที่ 5 อย่างสง่างาม”