ผศ.ดร. แคธธารีน สเตตัน (Asst. Prof. Catherine Staton) จาก Duke Global Health Institute ตัวแทนผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกด้านความปลอดภัย เปิดเผยภายในงานประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) จัดโดย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า การประชุมครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดความรุนแรงและการบาดเจ็บทุกรูปแบบ ตลอดจนการเกิดโรคไม่ติดต่อ ทั้งยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าไม่มีปริมาณที่ปลอดภัยในการบริโภคแอลกอฮอล์ ตลอดจนเป็นบ่อเกิดของโรคไม่ติดต่อ นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
"เราสามารถลดความสูญเสียเหล่านี้ได้ ผ่านการผลักดันนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยที่ประชุมตระหนักถึงบทบาทนำขององค์การอนามัยโลก ในฐานะผู้ปกป้องสุขภาพของประชาคมโลก และเป็นต้นแบบที่ดีทางสุขภาวะ ขอเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกพิจารณาเสนอนโยบายให้ “การจัดประชุมด้านสุขภาพหรือการประชุมที่องค์การอนามัยโลกร่วมจัด จะต้องไม่มีการเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้ทรัพยากรขององค์การอนามัยโลก” โดยเพิ่มเติมในคำแถลงการณ์กรุงเทพ (Bangkok Statement) เพราะนโยบายนี้จะช่วยปรับกระบวนทัศน์ของสังคมไปสู่การส่งเสริมสุขภาพทั้งยังเป็นบรรทัดฐานอันดีต่อประเทศสมาชิกขององค์การอนามัยโลกสืบต่อไป" ผศ.ดร. แคธธารีน สเตตัน กล่าว
ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้การจัดงานรื่นเริงประจำปีของทุกจังหวัดในประเทศไทยยุติการจำหน่ายแอลกอฮอล์ เนื่องจากพบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มาจากเมาแล้วขับ โดยเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาเริ่มรณรงค์ให้งดการจำหน่ายเครื่องดื่มในงานการแสดงช้างประจำปีของจังหวัดสุรินทร์ พบว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงทุกปี จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่าหากไม่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ
ขณะเดียวกัน เครือข่ายและเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา (Alcohol Watch) และตัวแทนประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย โดยเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลกในฐานะผู้นำทางด้านสุขภาพโลก เป็นแบบอย่างของผู้นำสุขภาพโลกในการจัดประชุมด้านสุขภาพที่ “ปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท” ในทุกการประชุม รวมทั้งการประชุมต่อไปในอนาคต องค์การอนามัยโลกจะสร้างบรรทัดฐาน การจัดประชุมด้านสุขภาพโดยปราศจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อไป ตลอดจนหวังว่าองค์การอนามัยโลกจะให้ความสำคัญ กับปัญหาผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลักดันให้มีมาตรการทางนโยบายระดับโลกในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดปัญหาและปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สังคม อันเกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฉกเช่นเดี่ยวกับความขันแข็งในมาตรการควบคุมผลกระทบจากการสูบบุหรี่
ทั้งนี้ ดร.แดเนียล เคอร์เตซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณเครือข่ายและเห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่ม Alcohol Watch และเครือข่ายเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากสุรา องค์การอนามัยโลกไม่เคยนิ่งนอนใจเรื่องปัญหาจากการบริโภคแอลกอฮอล์ และที่ผ่านมาได้สนับสนุนการทำงานเพื่อลดปัญหาจากแอลกอฮอล์ และการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์อย่างเต็มที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง